วงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ

เหตุผลสำคัญที่โหราศาสตร์อยู่รอดและสืบทอดถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะการทำนายอนาคต แต่เพราะ “ความกลัว”

ของมนุษย์ต่อเภทภัยธรรมชาติทั้งหลายต่างหาก

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ จึงมีอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน และรู้จักใช้สมองเพื่อดำรงชีวิตให้รอดปลอดภัยในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ความพยายามที่จะคาดการณ์ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ คือสิทธิ์อันชอบธรรมและคือจุดกำเนิดของโหราศาสตร์

โหราศาสตร์ยุคเริ่มต้นจึงเป็นโหราศาสตร์บ้านเมือง จน 500 ปีก่อนคริสต์กาล โหราศาสตร์บุคคลค่อยถือกำเนิดและพัฒนาเรื่อยมา ดวงชะตาบุคคลที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในยุคแรกๆ ของโลก (ที่มีหลักฐานปรากฏ) ถูกบันทึกเป็นภาษากรีก โดยผูกดวงเมื่อ 28 ตุลาคม ค.ศ. 497 เวลา (ท้องถิ่น) 12:35 น.ที่เมืองอเล็กซานเดรีย อาณาจักรอียิปต์

ธรรมชาติยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก ธรรมชาติทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างง่ายดาย แทบไม่มีวิธีใดต่อต้าน โหราศาสตร์จึงเกิดขึ้นเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต ถ้ามันเป็นทางร้าย มนุษย์จะได้เตรียมตัวหลบหลีกได้ทัน

ในยุคปัจจุบันที่วิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น มนุษย์เข้าใจและควบคุมธรรมชาติได้มากขึ้น โหราศาสตร์ลดทอนความสำคัญลงไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ศาสตร์นี้จะถดถอยตกต่ำ โหราศาสตร์ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อใช้ประกอบกับวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ โหราศาสตร์ยิ่งเพิ่มพูนระดับความถูกต้องในการทำนายอนาคต

องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างเป็นประโยชน์มหาศาลแก่โหราศาสตร์ มันเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์วิจัยระดับลึก วงแหวนแห่งไฟคือตัวอย่างที่ดีมาก

วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) คือพื้นที่ตามแนวมหาสมุทรแปซิฟิกที่มักเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง เป็นรูปเกือกม้าที่ยาวถึง 40,000 กม.วางตัวตามแนวร่องมหาสมุทร แนวภูเขาไฟ และขอบแผ่นเปลือกโลกมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในถึง 452 ลูก โดยเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นกว่า 75% ของทั้งโลก

วงแหวนแห่งไฟเกิดจากการเคลื่อนที่และปะทะกันของแผ่นเปลือกโลก แบ่งเป็นด้านตะวันออกในทวีปอเมริกากลางและใต้ ด้านแปซิฟิกในอเมริกาเหนือ ด้านเหนือและตะวันตกเลียบแปซิฟิก ผ่านหมู่เกาะอะลูเชียน คาบสมุทรคัมชัทกะในรัสเซีย ไปถึงตอนใต้ของญี่ปุ่น ด้านใต้เป็นแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กประชิดกันอยู่ ตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ฟิลิปปินส์ บูเกนวิลล์ตองกา และนิวซีแลนด์ (ยกเว้นออสเตรเลีย)

90% ของแผ่นดินไหวในโลกและ 81% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในโลก เกิดขึ้นตามแนววงแหวนแห่งไฟ ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ของโลก 22 จาก 25 ครั้งในช่วง 11,700 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นในแนววงแหวนนี้เช่นกัน วงแหวนแห่งไฟจึงมีความสำคัญมาก

ภูเขาไฟที่อยู่ในแนววงแหวน ได้แก่ เซนต์เฮเลนส์ในอเมริกาซึ่งระเบิดใหญ่ในปี 1980 ฟูจิในญี่ปุ่นซึ่งระเบิดครั้งสุดท้ายปี 1707 ปินาตูโบในฟิลิปปินส์ที่ระเบิดในปี 1991 ทาอัลในฟิลิปปินส์ที่ระเบิดปี 1911 แทมโบราในอินโดนีเซียที่ระเบิดในปี 1815

ส่วนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ คาสคาเดียในอเมริกาขนาด 9 ริกเตอร์ปี 1700 คันโตในญี่ปุ่นปี 1923 เซนไดในญี่ปุ่นขนาด 9 ริกเตอร์ปี 2011 มหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของเกาะสุมาตราในอินโดนีเซียปี 2004

จุดสำคัญมากจุดหนึ่งคืออินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแนววงแหวนแห่งไฟทางทิศเหนือและตะวันออกกับตะเข็บอัลไพด์ (Alpide Belt) ทางทิศใต้และตะวันตกของสุมาตรา ชวา บาหลี อินโดนีเซีย อยู่บนรอยต่อของเปลือกโลก 3 แผ่น คือ Eurasian, Pacific และ Indo-Australian Plate จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดภูเขาไฟระเบิดมากที่สุดของวงแหวน

ภูเขาไฟกรากะตั้ว (Krakatau) ที่ระเบิดในวันที่ 26-27 สิงหาคม 1883 คือการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก กรากะตั้วเป็นเกาะของถ่านภูเขาไฟ ตั้งอยู่ในช่องแคบซุนดราระหว่างเกาะชวากับสุมาตราของอินโดนีเซีย แรงระเบิดเทียบเท่า TNT ถึง 200 เมกกะตัน หรือ 13,000 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิม่า มันทำลายพื้นที่ไป 2 ใน 3 ของเกาะเสียงระเบิดได้ยินไปไกลถึง 4,800 กม.

ที่สำคัญ มันก่อให้เกิดสึนามิขนาดยักษ์ที่คร่าชีวิตผู้คน 36,417 คน (ตัวเลขของชาวดัชท์ที่เป็นเจ้าอาณานิคมขณะนั้น) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง 1.2 องศาเซลเซียส และไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติจนปี 1888 อีกทั้งสภาพอากาศก็แปรปรวนไปหลายปี

แผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกเกิดขึ้นใกล้ ๆ กัน วันที่ 26 ธันวาคม 2004 เวลา (ท้องถิ่น) 7:58 น. เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันที่ความลึก 30 กม. ห่างชายฝั่งตะวันตกของสุมาตราไป 160 กม. ด้วยขนาดที่แรงถึง 9.3 ริกเตอร์ มันก่อให้เกิดสึนามิสูง 10 เมตรถล่มชายฝั่งโดยรอบ (รวมไทย) มีผู้เสียชีวิตถึง 230,000 ราย ถือเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ถ้ารวมพลังงานของแผ่นดินไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี ตั้งแต่1906-2005 พลังงาน 1 ใน 8 ของทั้งหมดมาจากแผ่นดินไหวปี 2004 ที่สุมาตรา-อันดามันนี้เอง

พิกัดภูมิศาสตร์ของภูเขาไฟกรากะตั้วคือ ละติจูด 6:6:7 ใต้ ลองกิจูด 105:25:23 ตะวันออก ส่วนพิกัดของตำแหน่งแผ่นดินไหว 2004 คือ ละติจูด 3:18:58 เหนือ ลองกิจูด 95:51:14 ตะวันออกทั้งคู่อยู่ใกล้กันและใกล้เกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย

องค์ความรู้เรื่องวงแหวนแห่งไฟนี้เอง ทำให้เราทราบว่า สุมาตราคือจุดอ่อนไหวมากต่อการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด

ในโหราศาสตร์บ้านเมืองปัจจัยสำคัญที่ใช้ทำนายภัยพิบัติคือคราส หลังเกิดสุริยคราสจันทรคราส มักมีเหตุร้ายเภทภัยรุนแรงเสมอ เช่น ภายหลังคู่สรรพคราสปลายมีนาคม-ต้นเมษายน 2015 เกิดแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ที่เนปาลในวันที่ 25 เมษายน อันเป็นช่วง 1 เดือนหลังคราสที่อิทธิพลแรงสุด

การพยากรณ์ด้วยคราสไม่เพียงดูตำแหน่งในจักรราศี แต่รวมถึงตำแหน่งคราสบนโลกและเส้นทางของคราส (Eclipse Path) ด้วยวันที่ 9 มีนาคม 2016 เวลา 8:56 น.เกิดสุริยคราส (สรรพคราส) ที่ 24 องศา 51 ลิปดาราศีกุมภ์ คราสนี้เป็นคราสสำคัญ มันเห็นได้ในเอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย และแปซิฟิก โดยแนวคราสเต็มดวงอยู่ใต้ช่องแคบมะละกา-เหนือช่องแคบซุนดรา ผ่านสุมาตราทะเลชวา บอร์เนียว สุลาเวสี

เส้นทางคราสเต็มดวงเริ่มที่ละติจูด 2:20:14 ใต้ ลองกิจูด 88:14:32 ตะวันออก แล้วโค้งขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไปเป็นสรรพคราสเต็มที่ที่ละติจูด 10:7:18 เหนือ ลองกิจูด 148:47:36 ตะวันออก จากนั้น เคลื่อนต่อไปบนมหาสมุทรแปซิฟิก

คุณเห็นอะไรไหม? เส้นทางคราสเต็มดวงผ่านสุมาตราพอดี ! และเมื่อมันผ่านลองกิจูด 105 องศาตะวันออก จะได้ละติจูดที่ 3.3 องศาใต้ เกือบทับพิกัดที่ภูเขาไฟกรากะตั้วระเบิด!

สุริยคราส (เต็มดวง) คือปัจจัยที่ให้โทษรุนแรงที่สุด เมื่อมันเกิดตรงตำแหน่งอ่อนไหวที่สุด โอกาสเกิดภัยพิบัติธรรมชาติยิ่งเพิ่มสูง นี่คือสิ่งที่โหราศาสตร์กังวล ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้ามันเกิด มันจะเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงมาก (กรากะตั้วปะทุครั้งสุดท้ายพฤษภาคม 2009)

เพราะสุริยคราสมีอิทธิพล (อย่างน้อย) 1 ปี ในปี 2016 จึงเป็นปีแห่งการเฝ้าระวังภัยพิบัติอย่างแท้จริง