Iron Silk Road: กรณีศึกษา“รถไฟเฉิงตู-ยุโรป”

Iron Silk Road: กรณีศึกษา“รถไฟเฉิงตู-ยุโรป”

ในยุค One Belt, One Road ที่มีการปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหมขึ้นมาอีกครั้ง พญามังกรจีนมีความกระตือรือร้น

และพยายามอย่างมากที่จะเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ด้วยระบบราง จนมีคำเรียกว่า “Iron Silk Road” หรือม้าเหล็กรถไฟจีนบนเส้นทางสายไหม

หนึ่งในเส้นทางรถไฟที่จีนสามารถเชื่อมโยงข้ามพรมแดนตามแนวเส้นทางสายไหมได้สำเร็จอย่างน่าทึ่ง ก็คือ "รถไฟจีน-ยุโรป" วิ่งทะลุผ่าน 5 ประเทศ ระยะทางเกือบ 10,000 กิโลเมตร

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิฉันและคณะวิจัยจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนามสำรวจเส้นทาง“รถไฟจีน-ยุโรป” ที่สถานีต้นทางในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งสามารถวิ่งจริงใช้จริงไปยังประเทศโปแลนด์ในยุโรปได้สำเร็จ ด้วยระยะทางรวม 9,826 กิโลเมตร (เฉพาะในส่วนของจีน 3,511 กิโลเมตร) ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 วัน ผ่าน 5 ประเทศ คือ ต้นทางในประเทศจีน (จากนครเฉิงตู ไปจนถึงพรมแดนของซินเจียง) เข้าสู่คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์

คนจีนเรียกรถไฟข้ามประเทศสายนี้ว่า "หรง-โอว" ซึ่งคำว่า “หรง” คือชื่อเรียกในอดีตของเมืองเฉิงตู กับคำว่า "โอว" ย่อมาจาก "โอวโจว” คือคำเรียก ยุโรป ในภาษาจีนกลาง

ที่สำคัญ การขนส่งระบบรางข้าม 5 ประเทศเส้นนี้ มีค่าขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ประหยัดกว่าทางอากาศ (air cargo) ถึง 5 เท่า และใช้ระยะเวลาขนส่งทางรางได้รวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่นานถึง 45 วัน

ดิฉันและทีมงานได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมศูนย์ Chengdu International Railway Port ที่เขตชิงป่ายเจียงของเฉิงตู ซึ่งเป็นด่านสถานีรถไฟหลักของ“รถไฟจีน-ยุโรป” ในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยุโรป และเป็นสถานี ICD (Inland Container Depot) ที่ให้บริการครบวงจรแบบ one stop service มีทั้งระบบผ่านพิธีการทางศุลกากร การตรวจสอบกักกันสินค้า CIQ และลานพักสินค้าตู้คอนเทนเนอร์

ที่น่าสนใจ คือ จีนทำได้อย่างไร จีนแก้ปัญหาทางเทคนิคและปัญหาการบริหารจัดการระหว่างประเทศในการเดินรถไฟผ่านถึง 5 ประเทศ ระยะทางร่วม 10,000 กิโลเมตรนี้ได้อย่างไร

ดิฉันได้พูดคุยสัมภาษณ์ผู้จัดการของบริษัท Chengdu International Inland Port Operation (CIPO) ทำให้ทราบว่า CIPO เป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวที่รับผิดชอบจัดการดูแลและบริหารการขนส่งสินค้าจากจีนไปจนถึงปลายทางที่ยุโรป รวมไปถึงการดูแลเจรจาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ที่รถไฟสายนี้พาดผ่าน

คำถามตามมา คือ แล้วประเทศเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์บ้างหรือไม่ อย่างไร ? คุณ Chen Zhong Wei เลขาธิการพรรคฯและผอ.สำนักงาน Chengdu Municipal Port and Logistics Office ที่ดูแลเรื่องนี้ได้ให้คำตอบกับดิฉันว่า "ประเทศที่รถไฟสายนี้พาดผ่าน เช่น คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์ จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้ราง ยิ่งมีปริมาณขนส่งมากเท่าไร ประเทศเหล่านั้น ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย"

อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นทางเทคนิคและขนาดรางที่ไม่เท่ากัน ทำให้รถไฟจีน-ยุโรปสายนี้ ต้องมีการเปลี่ยนขบวนที่บริเวณชายแดน กล่าวคือ ในส่วนประเทศจีนใช้รางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (standard gauge) ในขณะที่ อีก 3 ประเทศ คือ คาซัคสถาน รัสเซีย และ เบลารุส ใช้รางรถไฟกว้างกว่าจีน ขนาด 1,520 เมตร (broad gauge) ส่วนโปแลนด์ใช้รางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ดังนั้น จำเป็นต้องมีการยกตู้สินค้าขึ้นลงที่บริเวณชายแดนจีน-คาซัคสถาน และอีกครั้งบริเวณชายแดนเบลารุส-โปแลนด์

สำหรับสถิติปริมาณการขนส่งผ่านรถไฟสายเฉิงตู-ยุโรปขบวน 81412 ตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกปลายเดือนเมษายน 2013 จนถึงขณะนี้ มีการเดินรถรวมทั้งหมด 179 ขบวน แบ่งเป็นในช่วงเริ่มต้นปี 2013-2014 มี 73 ขบวน และในปี 2015 เพิ่มเป็น 106 ขบวน (เพิ่มเป็น 2 เที่ยวต่อสัปดาห์) โดยตั้งเป้าหมายในปี 2016 จะเพิ่มเป็น 300 ขบวน และ ปี 2017 จะเพิ่มเป็น 1000 ขบวน

ในแง่ผลประกอบการ ผู้บริหารของจีนที่พูดคุยด้วยได้ยอมรับชัดเจนว่า "รถไฟเฉิงตู_ยุโรปสายนี้ เริ่มดำเนินการมา 2 ปีครึ่ง แต่ผลประกอบการในเชิงธุรกิจยังไม่มีกำไรและทางการจีนอาจต้องให้การอุดหนุน (subsidy) ต่อไปอีก 5-6 ปี อย่างไรก็ดี ภาครัฐของจีนมองว่า แม้จะมีผลตอบแทนทางการลงทุนที่ติดลบ แต่เป็นโครงการที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า ซึ่งหากให้ภาคเอกชนดำเนินการเอง ย่อมจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ"

แรงบันดาลใจเบื้องหลังที่รัฐบาลจีนทุ่มทุนพัฒนารถไฟสาย หรง-โอวจากเฉิงตูไปจนถึงยุโรป ก็คือ ความพยายามที่จะปลดล็อกดินแดนจีนตะวันตกที่ไม่มีทางออกทะเลนั่นเอง (unlock the land locked western China provinces)

มาถึงวันนี้ นับว่าทางการจีนประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนบทบาทเฉิงตูจาก เมืองชั้นในห่างไกลทะเลเกือบ 2,000 กิโลเมตรให้กลายเป็น เมืองหน้าด่านสากล กลายเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางรถไฟจากจีนตอนในไปจนถึงยุโรป

ไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งมณฑลชายฝั่งของจีนก็เริ่มหันมาใช้บริการขนส่งทางรางผ่านจีนตอนในเพื่อส่งสินค้าไปยุโรป เช่น มีสินค้าจากเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยนมาใช้บริการเชื่อมโยงกับรถไฟสาย “หรง-โอว” ที่เฉิงตูเพื่อส่งสินค้าออกไปยุโรป

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะแม้ว่าจะมีท่าเรือน้ำลึกในเซี่ยเหมินทางชายฝั่งทะเลอยู่แล้ว แต่รถไฟสาย “หรง-โอว” ยังสามารถดึงดูดสินค้าจากเซี่ยเหมิน เมืองชายฝั่งให้มาใช้บริการทางรถไฟ สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสของรถไฟ “หรง-โอว” ในการเป็นเส้นทางการขนส่ง “ทางเลือก” ระหว่างจีนกับยุโรปที่มีนัยสำคัญในอนาคต

 รายการสินค้าที่มีการขนส่งผ่าน รถไฟเฉิงตู-ยุโรปมีอะไรบ้าง สินค้าขาออกจากจีนไปยุโรปส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานการผลิตในเฉิงตู (ที่ผ่านมาเคยใช้ขนส่งทางอากาศไปยุโรป) การเปิดใช้รถไฟสายนี้ จึงเป็นการดึงใช้ประโยชน์และส่งเสริมศักยภาพของเฉิงตูที่เป็นฐานผลิตและส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์สำคัญของจีนไปยุโรป ให้หันมาขนส่งทางรถไฟแทนการขนส่งทางอากาศ เพื่อลดต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ ตัวอย่างลูกค้าในจีนที่ขนส่งสินค้าผ่าน “รถไฟเฉิงตู-ยุโรป” สายนี้ เช่น บริษัทเดลส์ ผู้ผลิตโน้ตบุ๊ค

ส่วนสินค้าขากลับที่มาจากยุโรป แม้จะมีไม่มากนัก แต่ในช่วงปี 2015 เริ่มมีสินค้ายุโรปมาใช้บริการเส้นทางรถไฟสายนี้ เช่น อะไหล่รถยนต์ BMW และเครื่องดื่มไวน์ รวมไปถึงเนื้อสัตว์จากยุโรปส่งมาจีน

นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพและบทบาทของเฉิงตูที่โดดเด่นขึ้นด้วยรถไฟสายนี้ ในปัจจุบัน มีผู้ผลิตทางมณฑลชายฝั่งภาคตะวันออกของจีนได้เริ่มย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานที่เฉิงตู รวมทั้งมีบริษัท IT ในยุโรปสนใจจะเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทในเฉิงตูเช่นกัน

โดยสรุป การผลักดัน เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปโดยการใช้ม้าเหล็กรถไฟ Iron Silk Road เป็นตัวขับเคลื่อนตามที่ท่านสีจิ้นผิง ผู้นำจีนหมายมั่นปั้นมือ มาถึงวันนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในการวิ่งรถไฟผ่าน 5 ประเทศระยะทางร่วม 10,000 กิโลเมตร ยังช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทและความยิ่งใหญ่ของพญามังกรจีนที่รอวันผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในปฐพีต่อไป