วิพากษ์ “อนันต์ อัศวโภคิน”

วิพากษ์ “อนันต์ อัศวโภคิน”

ในวันนี้ผมอยากเขียนเรื่อง "สิ่งดีๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน แต่รัฐไทยไม่ยอมทำ" เขียนจนเกือบเสร็จแล้ว

แต่เหลือบมาเห็นบทความเรื่อง "ผ่าคมคิด เจ้าพ่ออสังหาฯ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’ ของคุณสาวิตรี รินวงษ์ http://bit.ly/1Qf79HZ) ที่เพิ่งลงในเว็บกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันพุธที่ 20 ม.ค. 2559 นี้ ก็เลยเปลี่ยนใจขอ "วิพากษ์" คุณอนันต์ก่อน

ผมกับคุณอนันต์ก็รู้จักกันมา 25 ปี ล่าสุดเจอกัน ผมยังคุยให้ท่านฟังว่าไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในอาเซียนมาหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่านบอกอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเลยว่า “ผมไปมาหมดแล้ว เจ๊งกลับมาหมดแล้ว” ท่านเป็นคนโอ่อ่าเปิดเผยจริงๆ ครับ ผมจำได้ว่าท่านไป “เจ๊ง” ทั้งที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และท่านยังไปลงทุนในจีนเช่นเดียวกับหลายบริษัทในยุคนั้นอีกด้วย

แต่พวกเราแปลกใจไหม บริษัทพันธมิตรของท่านก็ยังอยู่ในวันนี้ คุณอนันต์เจ๊งกลับมาเอง อันนี้ท่านสรุปไว้ว่า อย่างในต่างประเทศที่เราไปลงทุนก็เป็นธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเราไม่มีประสบการณ์ บทเรียนที่ได้คือ ถ้าไม่รู้จริงอย่าไปทำ กฎหมายไม่ชัดเจนอย่าไปทำ” อันนี้อาจจะไม่ใช่ เพราะธุรกิจที่ท่านไปทำก็คือธุรกิจบ้านและที่ดินที่ถนัดในไทยอยู่แล้วนั่นแหละครับ

ที่ท่านและนักธุรกิจไทยอีกหลายท่านเจ๊งกลับมา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการหาพันธมิตร จะแต่งงานก็คงต้องเลือกหาคู่ให้ดีที่สุด จะได้อยู่กันยืด โดยที่ผมไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศบ่อยๆ ไปทำงานให้ธนาคารโลกในอินโดนีเซีย ทำงานให้องค์การสหประชาชาติในเวียดนาม และเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการคลังกัมพูชาและอีกหลายประเทศ ผมพบความจริงอย่างหนึ่งว่า เราต้องเข้าหาสมาคมที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ ไปร่วมประชุมรายเดือน รายไตรมาส คลุกคลีตีโมงเพื่อคัดเลือกหาคู่ หาพันธมิตร กระทั่ง Shopping หาผู้บริหารมือดีมาร่วมงานด้วย

นอกจากนี้ เหตุผลที่นักพัฒนาที่ดินไทย เจ๊งกลับมาก็คือ การไปทำโครงการแบบใหญ่เลย เราควรไปแบบเล็กก่อน ถึงจะ เจ๊งแต่ ขนหน้าแข้งก็ไม่ร่วงค่อยๆ ทำไปศึกษาไป แล้วจะเติบใหญ่ คบและพัฒนาโครงการกับนักพัฒนาที่ดินรายย่อยไปก่อน แทนที่จะมุ่งไปที่บริษัทมหาชนแบบเดียวกันในต่างแดน นอกจากนั้น เราควรศึกษาตลาดให้ดีด้วยตัวเราเอง

ข้อนี้สำคัญมาก แม้แต่นักพัฒนาที่ดินฮ่องกงก็ยัง เจ๊งในประเทศจีนมากมาย เหตุผลสำคัญก็คือ พวกนี้พกความมั่นใจจากฮ่องกงไปเต็มเปี่ยม ขาดการศึกษาตลาดเท่าที่ควร ผลการประกอบการจึงสู้บริษัทท้องถิ่นที่กุมสภาพตลาดไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น “ตำรา” ฮ่องกงที่มักจะลงทุนในทำเลสุดยอด (Prime Location) ก็ใช้ไม่ได้ในจีน เพราะในประเทศจีน เขาสามารถสร้างทำเลสุดยอดได้ตลอด สร้างเมืองใหม่ได้เลย ทำเลสุดยอดไม่ได้ยืนยงชั่วกัลปาวสานเช่นฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะกระจิดริด

คุณอนันต์ยังบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีธุรกิจใหม่ มีแค่วิธีคิดใหม่นี่เป็นคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีมาก น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ ที่คิดจะทำธุรกิจนั้น คงจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เราต้อง “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เช่นเราจะสร้างบ้านจัดสรรหรือห้องชุด เราก็ต้องศึกษาให้ดีว่าสินค้าประเภทไหน ทำแล้วขายดี มีคนใช้สอยมาก และเป็นผู้ซื้อใช้จริง เราก็ทำตามนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแหวกแนว เว้นแต่ว่า “ขนหน้าแข้งไม่ร่วง” ช่องทางตลาดใหม่ๆ (Market Niche) มีไว้สำหรับผู้นำและนักเสี่ยงโชคที่พร้อม “เจ๊ง” โดยไม่สะเทือนเป็นสำคัญ

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น ไปทำนอร์ธพาร์ค ที่กะว่าจะให้กลุ่มทุนใหญ่ๆ มาร่วมกันสร้างอาคารสำนักงานบนแปลงที่ดินจัดสรรรอบๆ สนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่ก็เจ๊งไม่เป็นท่า เพราะในความเป็นจริง เราไม่ทราบว่าอาคารสำนักงานนั้นต้องอยู่ใจกลางเมือง จะไปอยู่ไกลโพ้นแบบนั้นเมื่อ 20 ปีก่อน คงเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องทำวิจัยเพื่อรู้ “หั่งเช้ง” ในตลาดก่อน ข้อนี้ทำให้คุณอนันต์ประสบความสำเร็จจากผลการสำรวจวิจัยที่พบว่า ไม่จำเป็นต้องมีห้างในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 แต่ทำเป็นแบบพลาซาให้รายย่อยมาขายของนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณอนันต์คิดถูกแล้วก็คือ การไม่หวังผูกขาดตัดตอนรวยคนเดียว ไม่ใช่ว่าเป็นนักพัฒนาที่ดินแล้วหวังจะกินรวบทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเองด้วย หรือทำโรงแรมก็ไม่ใช่ว่าจะรับเหมาทำเองทุกอย่าง ต้องแบ่งๆ กันไป และจะยั่งยืนจริงก็ต้องดูแล Suppliers อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ไปขูดรีด ทรยศหักหลัง ขโมยความคิดคนอื่นไปทำให้ตนร่ำรวยแบบนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่หลายรายในประเทศไทย พวกนี้ทำธุรกิจรวยล้นฟ้าแล้วเสแสร้งบริจาคมหาศาล ก็ไม่มีใครนับถือจริง เพราะเป็น “ของปลอม”!

ในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างที่รวดเร็วทันใจอย่างที่พฤกษาทำ หรือที่แลนด์แอนด์เฮาส์และเจ้าอื่นทำนั้น ผมพาคณะผู้สนใจไปดูงานถึงโรงงานต้นแบบที่เยอรมนีและญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น โรงงานที่ผลิตที่อยู่อาศัยได้อย่างสุดรวดเร็วและยิ่งใหญ่ๆ จริงๆ อาจอยู่ที่ประเทศจีน เทคโนโลยีการก่อสร้างของบริษัทพัฒนาที่ดินในอาฟริกาใต้ ก็รวดเร็วทันใจกว่าของไทยเสียอีก นี่คือสิ่งที่เราควรไป “เปิดหูเปิดตา” จะจับเจ่าคิดว่านั่งนับเงินอยู่แต่ในประเทศไทยก็คงไม่ได้แล้ว

คุณอนันต์บอกว่า ล่าสุดไปซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อปรับเป็นอพาร์ทเมนต์ ท่านใช้วิธีระดมสมองในเรื่องเหล่านี้ผ่าน VDO call ใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมงแล้วเสร็จ ไม่ต้องบินไปไกลถึงสหรัฐ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำมากด้วย ข้อนี้ท่านพึงอธิบายเพิ่มเติมสักนิดว่าในสหรัฐ เอาอาคารสำนักงานไปเป็นอะพาร์ทเมนต์ได้อย่างไร ที่ผ่านมาคนทำธุรกิจใหญ่ๆ จะมี “อัตตา” สูง ไปลงทุนทีละเป็นหมื่นๆ ล้าน พอเจ๊งก็ซวดเซกลับมา และ “อัตตา” นี่แหละที่ฆ่าพวกนักธุรกิจใหญ่ๆ เอง เพราะทำให้เรา “เชิดหน้า” ไม่ศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนนับหมื่นๆ ล้าน กลายเป็นการสะดุดขาตัวเองหกล้มนั่นเอง

การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำไมคุณอนันต์ อัศวโภคิน จึงกลายเป็นเบอร์ 1 แทนคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ เหตุผลก็คือแลนด์แอนด์เฮาส์ทำธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง ทำหลายทำเล ทำโครงการเล็กๆ กว่าเมื่อเทียบกับเมืองทองธานี แล้วทำไมคุณทองมา จึงชิงเบอร์ 1 ไปจากคุณอนันต์ได้ เหตุผลสำคัญก็คือนอกจากพฤกษาจะทำหลายทำเลเช่นเดียวกับแลนด์แอนด์เฮาส์แล้ว ยังทำหลายระดับราคา ไม่ได้เจาะจงเฉพาะบ้านแพง (ภายหลังแลนด์แอนด์เฮาส์ ก็เริ่มทำบ้านราคาปานกลางบ้างแล้ว)

ตลาดในต่างประเทศเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการไปต่างประเทศคือการกระจายความเสี่ยง การแสวงหาโอกาสและการสร้างแบรนด์นั่นเอง ผมยังเคยบอกกับคุณทองมา แห่งพฤกษาว่า ถ้าพฤกษาไปอินโดนีเซียแบบ สุขุมจริงๆ ต่อไป ค่อยๆ โตแล้วล่ะก็ ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าพฤกษาแห่งอินโดนีเซีย อาจมีรายได้มากกว่าพฤกษาประเทศไทยก็ได้

การไปต่างประเทศนั้น ไม่ใช่พันธกิจเฉพาะของรายใหญ่ แต่ SMEs ก็สามารถไปต่างประเทศได้ (http://bit.ly/1JYTkXG) และอาจไปได้ดีกว่ารายใหญ่ที่เทอะทะอุ้ยอ้ายได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราควรเปลี่ยนทัศนคติเช่นกัน