ศาสตร์และศิลป์ของ “สีโคโนมิค”

ศาสตร์และศิลป์ของ “สีโคโนมิค”

สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนถามผมตลอดว่า เศรษฐกิจจีน (กำลัง) พังพินาศแล้วใช่หรือไม่? เมื่อหุ้นจีนตกระนาวชนิดดิ่งเหว

จนทางการจีนต้องระงับการซื้อขาย

คำตอบ ก็คือ แม้ตลาดหุ้นจีนจะฟองสบู่แตก (ดังโพละ) แต่ตลาดหุ้นจีนมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงของจีนค่อนข้างน้อย ตอนที่ตลาดหุ้นจีนพุ่งแรงมากกว่า 100% เมื่อปีที่แล้วนั้น จริงๆ เป็นช่วงเศรษฐกิจจีนขาลง สาเหตุที่ตัวดัชนีตลาดหุ้นจีนพุ่งสูงเป็นเพราะการปั่นและเก็งกำไรมากกว่า หุ้นตกจึงเป็นเพราะฟองสบู่ที่ปั่นและเก็งกำไรแตก ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจจีนพัง

นอกจากนั้น มีคนจีนเพียง 50 ล้านคน (จากประชากรจีน 1,400 ล้านคน) ที่เล่นหุ้น และมูลค่าหุ้นรวมทั้งหมดคิดเป็นเพียง 1.5% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในระบบธนาคาร และเพียง 5% ของสินทรัพย์ครัวเรือน ดังนั้น แม้ว่าหุ้นจะตกระนาวก็ไม่น่าส่งผลต่อเนื่องจนเศรษฐกิจจีนล้มครืนทั้งระบบได้

แต่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ทั่วโลกก็ยังคงกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนอยู่ตลอด กังวลกันว่าแม้เศรษฐกิจจีนจะยังไม่พังพินาศตอนนี้ แต่ก็ดูเหมือนมีระเบิดเวลาซ่อนอยู่หลายลูก ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังงุนงงกับนโยบายเศรษฐกิจของจีนว่ากลับไปกลับมา เอาแน่เอานอนไม่ได้

เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศใช้แนวคิด เศรษฐศาสตร์อุปทาน” (supply-side economics) โดยเน้นส่งเสริมภาคเอกชน ลดภาษีและต้นทุนการทำธุรกิจ รวมทั้งแก้ปัญหาการผลิตเกินตัวและอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกิน แต่ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ไปบรรยายอีกที่ คราวนี้กลับย้ำเน้นการนำโดยรัฐวิสาหกิจและการลงทุนโดยรัฐบาลว่า เป็นสาเหตุของความสำเร็จของเศรษฐกิจจีนในอดีต ก็แล้วตกลง สีโคโนมิคของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หน้าตาเป็นยังไงกันแน่?

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองนโยบาย 2 แนวทางว่า ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง เมื่อคิดอย่างเป็น “ศาสตร์” แล้ว จีนควรต้องเลือกเอาระหว่างแนวคิดแบบ Keynesian (ที่เน้นขับเคลื่อนด้วยการลงทุน) หรือแนวคิดกลไกตลาดเสรีทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ดูเหมือนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และทีมเศรษฐกิจจะมองการบริหารเศรษฐกิจเป็น “ศิลปะ” โดยพร้อมประยุกต์ใช้ทุกวิธีการมากกว่า

วิธีคิดเบื้องหลังเป็นอย่างนี้ครับ ภายหลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2007 เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จีนไม่สามารถใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป จึงต้องหันมาเน้นอุปสงค์ภายในประเทศ

อุปสงค์ภายในประเทศอาจแบ่งได้ 2 อย่าง คือ การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่า เป้าหมายระยะยาวคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ

แต่อยู่ๆ การบริโภคภายในประเทศไม่ได้ลอยมาจากฟ้าครับ กลไกในระยะยาวมีดังนี้ 1. การบริโภคจะเพิ่มขึ้นได้ ก่อนอื่นรายได้ของแรงงานต้องเพิ่มขึ้น 2. รายได้ของแรงงานจะเพิ่มขึ้นได้ ก่อนอื่นความสามารถในการผลิตของแรงงานต้องเพิ่มขึ้น 3. ความสามารถในการผลิตของแรงงานจะเพิ่มขึ้นได้ ต้องอาศัยการยกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง 4. ในกระบวนการทั้งหมด ต้องพยายามทำต้นทุนธุรกรรมให้ต่ำ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายด้านการคมนาคมช่วยลดต้นทุนธุรกรรมได้

คำแถลงนโยบายเศรษฐกิจสำหรับปี 2016 ของสี จิ้นผิง ใช้ถ้อยคำว่า เศรษฐกิจมหภาคต้องมีเสถียรภาพ นโยบายอุตสาหกรรมต้องตรงจุด ในขณะที่ขยายอุปสงค์อย่างเหมาะสม ก็ปฏิรูปด้านอุปทานควบคู่ไปด้วย โดยในส่วนการปฏิรูปด้านอุปทานนั้น เน้นภารกิจเร่งด่วน คือแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกินและอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกินรวมทั้งลดภาษีและต้นทุนธุรกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs

แต่สิ่งที่ควรเข้าใจก็คือ นโยบาย เศรษฐศาสตร์อุปทานของสี จิ้นผิง แตกต่างจากนโยบาย เศรษฐศาสตร์อุปทานในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐ ซึ่งเน้นลดภาษี ส่งเสริมภาคเอกชน โดยละทิ้งการลงทุนจากภาครัฐและนโยบายอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง ขณะที่ “สีโคโนมิค” แม้ว่าจะหันมาเน้นปฏิรูปด้านอุปทานมากขึ้น แต่ก็ยังคงใช้นโยบาย เพิ่มอุปสงค์อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนและการใช้นโยบายอุตสาหกรรม (เพื่อเป้าหมายนำไปสู่การเพิ่มการบริโภคในระยะยาว)

ในวงนโยบายนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนไม่น้อยยังสนับสนุนให้รัฐบาลอาศัยการลงทุนเป็นตัวสร้างอุปสงค์อย่างเหมาะสม โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของจีนอยู่ที่ 56% ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก เช่น ญี่ปุ่นอยู่ที่ 230% สหรัฐฯ อยู่ที่ 105% (ตัวเลขนี้ของไทยอยู่ที่ 46%) ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จึงมองว่า จีนยังสามารถขยายการลงทุนได้ เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่สูง (6-7%) ซึ่งจะรักษาเสถียรภาพในสังคม (และเป็นผลดีต่อการบริโภค) และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ก็จะสร้างความเป็นไปได้ที่รายได้แรงงานจะเพิ่มสูงขึ้น

แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการลงทุนที่ ตรงจุดเท่านั้น นั่นก็คือ 1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในชนบท (แทนที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเมืองเหมือนในอดีต) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนธุรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในชนบท 2. ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่จีนขาดแคลน เช่น ลงทุนเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าบางชนิด (แทนที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่จีนมีการผลิตเกินตัว เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง) 3. ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ภาคพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลต้องศึกษากลยุทธ์ และประกาศแผนส่งเสริมอุตสาหกรรม และ 4. ลงทุนในการยกระดับเทคโนโลยี โดยรัฐบาลต้องศึกษาช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างจีนและประเทศพัฒนาแล้ว ส่งเสริมการนำเข้าเทคโนโลยีรวมทั้งปรับปรุงเทคโนโลยีของจีนเองอย่างเหมาะสม

ส่วนกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนตลาดเสรี ก็ตั้งข้อสงสัยว่า ตรงจุดนั้น จะตรงจุดจริงหรือไม่? แทนที่จะเน้นการลงทุน พวกเขาเน้นให้ปฏิรูปกลไกตลาดให้มากขึ้นกว่าเดิม และย้ำว่า รัฐบาลต้องรีบจัดการกับระเบิดเวลาสองลูกใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการลงทุนที่ “ไม่ตรงจุด” ในอดีต

ระเบิดเวลาลูกแรก ก็คือ การผลิตเกินตัวในภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ซีเมนต์ อลูมิเนียม ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิตเกินตัวถึง 30% แล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก ถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ (รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง) ยังผลิตเกินตัวและขายสินค้าไม่ออก สะสมหนี้เพิ่มขึ้นจนล้มละลาย คราวนี้อาจพังครืนทั้งระบบได้ง่ายๆ

ส่วนระเบิดเวลาลูกที่สอง ก็คือ อสังหาริมทรัพย์ส่วนเกิน (ส่วนใหญ่ในเขตเมือง) ถ้าตึกใหม่ที่สร้างมาแล้ว ยังขายไม่ออก จนฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก (ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกอย่างรวดเร็ว) อันนี้ก็วิกฤติทั้งระบบเหมือนกัน เพราะรัฐบาลท้องถิ่น (ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากในจีน) รวมทั้งบริษัทมากมายอาศัยมูลค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้

สีโคโนมิค ผสมผสานแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 กลุ่มอย่างมีศิลปะเป้าหมายระยะยาวเน้นการเปลี่ยนผ่านและปฏิรูปสู่กลไกตลาดเสรีในระยะสั้น พยายามใช้กลไกตลาดเสรีและส่งเสริมภาคเอกชนให้มากขึ้น แต่ก็ยังใช้การลงทุนและนโยบายอุตสาหกรรมที่ตรงจุดควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน พร้อมๆ กับพยายามหยุดระเบิดเวลาทั้งสองลูกให้ทัน

หากทำได้ดี เราอาจเห็นจีนประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนมาเน้นการบริโภคภายใน ด้วยการยกระดับรายได้ของประชาชน (อันเป็นผลจากการยกระดับเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรม

แต่หากผิดพลาด ระเบิดที่ซุกซ่อนไว้แตกโพละเสียก่อน คราวนี้รุนแรงกว่าฟองสบู่ตลาดหุ้นแตกแน่ๆ ครับ