“วินัย” กับสังคมการศึกษาไทย

“วินัย” กับสังคมการศึกษาไทย

ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกันครับ กับข่าวที่ประชุมของผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ได้พยายามตอบสนองความต้องการของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการสร้างเด็กให้มีวินัยรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการหยิบเอาโครงการเก่าในอดีต โดยเน้นให้นักเรียนเข้าแถวจากบ้านแล้วเดินไปโรงเรียนอย่างเป็นระเบียบ และจะ (บังคับ) มอบเป็นนโยบายให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนำไปปฏิบัติ

ผมมีหลายความรู้สึกมากเลยครับ มีทั้งตลก ตกใจและเศร้าใจ ที่ผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการนี้ มักจะตอบสนองผู้มีอำนาจโดยที่ไม่ยอมใช้เวลาในการไต่ตรองอะไรบ้างเลย

จำได้ไหมครับที่นายกรัฐมนตรีเอง ก็บ่นเรื่องกระทรวงศึกษาธิการบังคับให้นักเรียน “ท่องจำ” หลักค่านิยมสิบสองประการ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีปรารภว่าอยากให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ การออกนโบบายทันทีแบบนี้เรียกได้ว่า เป็นความ “มักง่าย” เพียงเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจ และนอกจากจะเป็นความ “มักง่าย” แล้วการออกนโยบาย “เดินแถวมาโรงเรียน” ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ควบคุมอนาคตของชาตินี้ ไม่มีความเข้าใจหรือพยายามจะเข้าใจอะไรบ้างเลย

เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนก็รู้ ก็คือสังคมไทยไม่ว่าเมืองหรือชนบท ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การจะบังคับให้เด็กเดินแถวมาโรงเรียนแบบเมื่อ 50 ปีก่อนกลับจะก่อปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคมที่คับคั่งมากขึ้น การเดินทางของนักเรียนก็ไกลมากกว่าเดิม เพราะโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้านยุบไปแล้ว ความนิยมเข้ามาเรียนในโรงเรียนเขตเมืองมากขึ้น แล้วจะให้นักเรียนเดินเท้าอย่างไร นี่เป็นความรู้ปรกติที่คนทั่วไปคิดได้นะครับท่าน

เรื่องที่น่าตกใจและเศร้าใจ ก็คือความเข้าใจในความหมายของคำ “วินัย” ของท่าน มองจากนโยบายนี้ “วินัย” ในความหมายที่ท่านเข้าใจก็เป็นเพียงรูปแบบของการทำอะไรพร้อมเพรียงกัน ซึ่งทำให้มองดูแล้วเป็นแถวเป็นแนว และที่สำคัญ “วินัย” เช่นนี้เป็นเพียงเปลือกนอกของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เพราะการใช้อำนาจบังคับเท่านั้น

คำว่า “วินัยเป็นระบบความรู้สึกของคนที่จะส่งผลให้เกิดการแสดงออก หรือสร้างปฏิบัติการในชีวิตของตนให้ดำเนินไปตามเป้าหมายที่ตนเองวาดหวังเอาไว้ และเป้าหมายที่วางเอาไว้ก็จะเป็นส่วนที่สัมพันธ์อยู่กับอุดมคติของสังคม

ตัวอย่างที่อยากจะเน้น ได้แก่ “วินัยของครู คือความพยายามใฝ่หาความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางและลึกซึ้ง เพื่อที่จะย่อยชุดความรู้นั้นๆ มาสู่การสอนให้นักเรียนฉลาดที่สุด “วินัย” เช่นนี้ก็จะผลักดันให้ครูต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้าทุกวัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตความเป็นครูอย่างที่สังคมคาดหวังให้เป็นผู้นำทางปัญญาของนักเรียน “วินัย” ของครู จึงไม่ใช่แค่การแต่งกายให้ถูกระเบียบการไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ หรืออะไรที่เป็นแค่เปลือกเท่านั้น

วินัยของผู้บริหารสถานศึกษาหรือองค์กรการศึกษา ก็จะต้องเป็นระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มุ่งความสำเร็จขององค์กรในภาระหน้าที่องค์กร (ไม่ใช่ตึกอาคารเท่านั้น) ไม่นำเอาสมบัติส่วนกลางมาใช้ในการสร้างบุญคุณเฉพาะตน (สองขั้นแก่คนที่ทำให้ขนหน้าแข้งตนเองเรียบ หรือไม่ก้าวสู่อำนาจด้วยการมอบสมบัติส่วนกลางให้แก่เจ้านาย เพื่อประกอบการการทำให้ขนหน้าแข้งเจ้านายเรียบ) ความสำเร็จของผู้บริหารจึงสัมพันธ์อยู่กับการสร้างเงื่อนไขทุกประการที่จะผลักดันให้คนได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตและอุดมคติของสังคม

วินัยของนักเรียน ก็คือความปรารถนาที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง เพื่อที่จะนำตนไปสู่เป้าหมายแต่ละขั้นของชีวิตที่สัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับความหมายที่ตนมีต่อสังคม

ระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทุกระดับที่จะตราออกมาต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผลักดันให้เกิด “วินัย” ในทุกกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่

“วินัย” จึงเป็นเรื่องของภายในมากกว่าภาพโชว์ภายนอกอย่างที่กำลังกระทำกัน (หากคิดจะมองภาพกองทัพว่า มีระเบียบวินัยดีเหลือเกินก็ต้องเข้าใจลึกลงไปด้วย ว่ากระบวนการสร้าง “วินัย” ในกองทัพ (ที่ดี) นั้น ต้องสลายสำนึกเชิงปัจเจกชนให้ลดลงมากที่สุด เพื่อที่จะได้เกิดบุคลิกภาพที่พร้อมอย่างยินยอมพร้อมใจในการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา​ ไม่ใช่ “มักง่าย” คิดแบบที่คิดกันนี้)

หากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอยากจะให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ก็คงต้องบอกบรรดาผู้บริหารครูและผู้เกี่ยวข้องว่าอย่าเพิ่งสร้างนโยบายตอบสนอง โดยยังไม่ทันทำความเข้าใจอะไร และคงต้องใช้มาตรา 44 บังคับให้คน “คิด” กันบ้างแล้วกระมัง (ฮา)