ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง

ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง

“อดีต” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่มีใครในโลกนี้จะปฏิเสธว่าไม่มี “อดีต” แต่เราก็ไม่มีทางรู้ “อดีต” ได้จริงๆ

เพราะไม่มีใครสามารถนั่งยานข้ามเวลาเข้าไปสู่อดีตกาลเพื่อทำความเข้าใจ หรือแม้ว่ามียานข้ามไปสู่อดีตได้จริง ภาพที่จะเห็นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “อดีต” ทั้งหมด

แม้ว่าเราจะไม่มีทางที่จะเข้าถึง “อดีต ”จริงๆ ได้ แต่ “อดีต” กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมของมนุษย์ในปัจจุบันกาล มนุษย์จำเป็นและต้องการเข้าใจ “อดีต” เพราะ “อดีต” จะเป็นที่มาของทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน มนุษย์จึงได้สร้าง “อดีต” ขึ้นมา เพื่อที่จะทำความเข้าใจทุกสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในชีวิตของพวกเขา

การสร้าง อดีตจึงเป็นการสร้างชุดความรู้และเครื่องมือทางสังคมที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ สงครามและสันติภาพที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการสร้างชุดความรู้ชุดนี้นั่นเอง

ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลองระลึกถึง (Memory, History and Commemoration) เป็นรูปลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันของการสร้าง “อดีต” ที่ในด้านหนึ่งได้ทำให้สังคมมนุษย์ก้าวมาถึงวันนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การดำรงอยู่คู่ขนานกันของ “อดีต” 3 รูปลักษณะใหญ่ๆ กลับทำให้เกิดความขัดแย้งทวีมากขึ้น

ก่อนที่สังคมมนุษย์จะจัดตั้งด้วยลายลักษณ์อักษร มนุษย์ได้สร้าง อดีตของตนเองผ่านความทรงจำ กลุ่มทางสังคมทุกกลุ่มได้พยายามสร้างและสถาปนา ความทรงจำร่วม” (Collective Memory) ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นสายใยยึดโยงเอาพวกพ้องทั้งหมดร่วมกันในการต่อสู้กับทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด “ความทรงจำร่วม” จะถูกทำให้เชื่อมต่อกับทุกกิจกรรมของคนในกลุ่มทางสังคมนั้นๆ

ความทรงจำร่วม จะถูกยกระดับเพื่อให้ครอบคลุมทุกปรากฏการณ์ของสังคมผ่านพิธีกรรม ซึ่งจะมีทั้งกระทำกันเป็นระยะ รวมทั้งมีพิธีกรรมใหญ่ประจำปีของกลุ่มทางสังคมนั้นๆ

ความทรงจำร่วม ของกลุ่มทางสังคมจะกว้างขวางขนาดไหน ขึ้นอยู่กับศักยภาพความสามารถ และเงื่อนไขในการเชื่อมต่อชีวิตจริงของแต่ละกลุ่มว่า เชื่อมได้ยาวไกลเพียงใด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่นจึงถือกำเนิดขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจจะเกิด “ผีใหญ่” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถครอบเอาส่วนแตกต่างเล็กๆ เอาไว้

เมื่อเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ ความเป็นหนึ่งเดียวของพลเมืองในรัฐจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของรัฐได้ ทำให้การจัดตั้งสังคมด้วยลายลักษณ์อักษรเข้มข้นขึ้น การสร้าง อดีตจึงเปลี่ยนมาสู่การสร้าง ประวัติศาสตร์

ความทรงจำร่วม ของกลุ่มทางสังคมต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเหลวไหล และถูกเบียดขับออกไปจากการเป็นสายใยยึดโยงผู้คน เพราะ “ประวัติศาสตร์” ได้เข้ามาทำหน้าที่ทางสังคมแทน “ความทรงจำร่วม” ของแต่ละกลุ่มสังคมจึงเลือนหายไป และถูกทำให้หลงเหลืออยู่ในระดับของปัจเจกบุคคลไป

ประวัติศาสตร์ก็จะถูกยกระดับให้สูงสุด เพื่อครอบคลุมการดำรงอยู่ของสังคม หรือทำให้เป็นเพดานความคิด (Paradigm) ที่อธิบายทุกอย่าง ผ่านการสร้าง การเฉลิมฉลองระลึกถึงขึ้นมาซึ่งการเฉลิมฉลองนี้จะมีทั้งกระทำกันเป็นระยะ รวมทั้งจะสูงสุดผ่านการเฉลิมฉลองใหญ่ประจำปีของรัฐชาตินั้นๆ

ประวัติศาสตร์ถูกสร้างขึ้น เพื่อที่จะจรรโลงระบบอำนาจทางสังคมและวัฒนธรรมในรัฐชาติสมัยใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ ประวัติศาสตร์ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติต่างๆ จนนำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ของโลกถึงสองครั้ง แต่ขณะเดียวกัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ทำให้แต่ละรัฐชาติเริ่มตระหนักว่า จำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติ” มากขึ้น กระบวนการสร้าง “ประวัติศาสตร์” ในหลายพื้นที่ จะเริ่มเปิดให้แก่การมองหาแง่มุมอื่นๆ ที่ข้ามพ้นกรอบการอธิบายแบบเดิมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมข้ามพรมแดน ประวัติศาสตร์จากข้างล่าง

แต่โครงสร้างอำนาจในรัฐชาติสมัยใหม่ได้เลือก การเฉลิมฉลองระลึกถึงขึ้นมาใช้แทนการสร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่ การเฉลิมฉลองระลึกถึงถูกสร้างให้มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อที่จะลบความแหลมคมของความขัดแย้งระหว่างชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ซ้อน นัยยะของความขัดแย้งเอาไว้โดยควบคุมไม่ให้พวยพุ่งขึ้นมาก

“การเฉลิมฉลองระลึกถึง” จึงเป็นการตัดเอาเสี้ยวเดียวของประวัติศาสตร์ออกมาขยายเป็นส่วนหลักของการเฉลิมฉลองที่เน้นความสุขสนาน ตื่นตา ตื่นใจ (กับส่วนเสี้ยวที่ฉลองกัน) การสร้าง “การเฉลิมฉลองระลึกถึง” เช่นนี้จะทำให้ผู้คนหลงลืมสายโยงใยเหตุการณ์อื่นๆ ไปหมดสิ้น

“การเฉลิมฉลองระลึกถึง” ได้แพร่กระจายไปทุกพื้นที่บนโลก และได้มีความเข้มข้นทางความสนุกสนาน ตื่นตา ตื่นใจ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนยังคงอยู่ในบ่วงของ “ประวัติศาสตร์ ” แบบความขัดแย้งอยู่ หากแต่ถูกซ่อนเอาไว้ในก้นบึ้งของระบอบอารมณ์ความรู้สึก

การขยายตัวของประวัติศาสตร์แบบ “การเฉลิมฉลองระลึกถึง” จึงทำให้การสร้าง “ประวัติศาสตร์” แบบที่มุ่งหวังให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติอ่อนพลังลงไปแต่นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ก็ยังไม่เลิกลา จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้พยายามพิมพ์หนังสือเพื่อผลักดันให้สังคมได้ไตร่ตรองถึงวิธีการสร้าง “ประวัติศาสตร์” กันใหม่

ขณะเดียวกัน การบุกรุกเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในหลายพื้นที่ในโลก ก็ได้ทำให้เกิดกระบวนการ รื้อฟื้นความทรงจำร่วมขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นพลังในการต่อสู้ผู้รุกราน รวมไปถึงใช้เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” ในกรอบความคิดเดิมที่ถูกนำขึ้นมาปัดฝุ่น ดังจะเห็นได้แจ่มชัดในกรณีตะวันออกกลาง

การดำรงอยู่อย่างผสมปนเปกันระหว่าง “ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และการเฉลิมฉลอง” ในโลกปัจจุบัน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก นักประวัติศาสตร์ที่ชำนาญเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้เปรียบเทียบไว้ว่า สภาวะปั่นป่วนเช่นนี้คล้ายคลึงกับช่วงเกิดสงครามขนาดใหญ่ทั้งสองครั้ง

เราในสังคมไทยก็ต้องคิดกันเรื่องนี้ให้มากขึ้นนะครับ