สีโคโนมิคส์ เปิดตัวเป็นทางการปี 2016

สีโคโนมิคส์ เปิดตัวเป็นทางการปี 2016

ในการประชุมนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือน พ.ย.โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ได้กล่าวย้ำว่าจะใช้แนวคิด“เศรษฐศาสตร์อุปทาน” (Supply-side economics) จัดการปัญหาเศรษฐกิจจีนให้อยู่หมัด ดังนั้นในช่วงนี้ถ้าใครได้อ่านบทความเศรษฐกิจและกฎหมาย ตามหน้าหนังสือพิมพ์จีน ก็จะเห็นแต่ศัพท์เทคนิคที่เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์อุปทาน” เต็มไปหมด

คำว่า เศรษฐศาสตร์อุปทานเป็นคำที่เคยใช้อธิบายนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน หรือ เรแกโนมิคส์” (Reganomics) ที่เน้นการลดภาษี และลดการแทรกแซงจากภาครัฐในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจในสหรัฐมีแรงจูงใจที่จะขยายกิจการ และสร้างความมั่งคั่ง แต่ ปธน.สี จิ้นผิง ย้ำว่า “เศรษฐศาสตร์อุปทาน” ที่เขาพูดถึงนั้นจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับประเทศจีน ทำให้นักวิเคราะห์ชาวฝรั่งเลยขอตั้งชื่อ แนวคิดเศรษฐศาสตร์อุปทานของ ปธน.สี จิ้นผิง (ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของจีน) เท่ๆ ว่า สีโคโนมิคส์ (Xiconomics)

สีโคโนมิคส์เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจในอดีตของจีนเอง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจในยุค ปธน.หู จิ่นเทา ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้าง อุปสงค์หรือที่เรียกกันว่าเศรษฐศาสตร์อุปสงค์ (Demand-side economics) ที่เคยให้ความสำคัญกับเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 อย่าง ได้แก่ การลงทุน การบริโภค และการส่งออก

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 นโยบายในสมัยนั้นของ ปธน.หู จิ่นเทา ก็คือทุ่มเงินลงทุนจากภาครัฐถึง 4 ล้านล้านหยวนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคทั่วประเทศ นอกจากนั้นธนาคารทั้งหมดในจีนในยุคปี 2009 ยังปล่อยกู้รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านหยวน พร้อมกับใช้มาตรการกระตุ้นอุปสงค์อื่นๆ เช่น การลดดอกเบี้ย เพื่อส่งเสริมให้คนเอาเงินออกไปลงทุนและจับจ่ายใช้สอย

แม้ว่าในช่วงเวลานั้น นโยบายชุดดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงรักษาการเติบโตในอัตราที่สูงดังเดิม แต่ภายหลังจากนั้นไม่นาน (ซึ่งก็คือเมื่อ ปธน.สี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งนั่นเอง) ผลข้างเคียงของยาแรงก็เริ่มปรากฏ ทั้งปัญหาการผลิตเกินตัว และหนี้บานเบอะ อีกทั้งในปัจจุบัน ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสของจีน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว (ทำให้การบริโภคสินค้าจากจีนลดลง) และค่าแรงในจีนเองที่สูงขึ้นมาก ล้วนทำให้รัฐบาลจีนไม่สามารถใช้ยาขนานเดิม เช่นการอัดฉีดอุปสงค์ด้วยเงินลงทุนจากภาครัฐได้อีกต่อไป

แนวทางการปฏิรูปด้านอุปทาน (supply-side) ที่ ปธน.สี จิ้นผิง พูดถึงอาจสรุปได้เป็น 3 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือการแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกินและอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจในอดีต เรื่องที่สองคือ การส่งเสริมให้ธุรกิจและผู้ประกอบการเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนการลงทุนด้วยรัฐบาลอย่างในสมัยก่อน และเรื่องที่สาม ก็คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นสินค้าจีนที่เน้นแต่ปริมาณแบบสมัยก่อน

ในเรื่องการแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกิน รัฐบาลจีนมีนโยบายควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ เช่นเอารัฐวิสาหกิจที่มีการผลิตส่วนเกิน กับรัฐวิสาหกิจที่ต้องการใช้สินค้านั้นมาควบรวมเข้าด้วยกัน หรืออย่างนโยบายการออกไปลงทุนและสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกินในประเทศ

เช่นเดียวกับนโยบายลูกสองคน ที่มาแทนที่นโยบายลูกคนเดียว ก็มีเหตุผลทางเศรษฐกิจคือต้องการสร้างผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้

ในเรื่องการจัดการอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกิน รัฐบาลจีนใช้มาตรการหลายอย่างประกอบกัน ตั้งแต่การที่รัฐบาลเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ส่วนเกินเอง และนำมาปล่อยเช่า หรือแปลงเป็นบ้านพักสวัสดิการ การควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อให้คนยังซื้อบ้านต่อไป และการปฏิรูประบบสำมะโนครัว เพื่อให้คนชนบทสามารถย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองได้ง่ายขึ้น

ส่วนการส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการ อาจนับได้ว่าเป็นหัวใจของสีโคโนมิคส์เลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่การที่รัฐบาลจีนปฏิรูปให้ธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนได้ง่ายขึ้น พร้อมประกาศนโยบายลดภาษีที่มีการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการลดภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs และบางสินค้าที่รัฐบาลส่งเสริม นอกจากนั้น ยังตั้งคณะทำงานเพื่อลดขั้นตอน และกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากของรัฐบาลที่มีต่อธุรกิจ พูดสั้นๆ ก็คือ รัฐบาลจีนพยายามทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำที่สุด เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเริ่มต้นได้ง่าย และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าธุรกิจและผู้ประกอบการจีนเจริญรุ่งเรือง ก็จะเกิดการสร้างความมั่งคั่งระลอกใหม่ ผลทางตรงก็คือช่วยยกระดับรายได้ของประชาชน เมื่อประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น ก็จะอุปโภคบริโภคมากขึ้น ดังนั้น แม้เริ่มที่การปลดปล่อยอุปสงค์ สุดท้ายก็กลับมาช่วยเพิ่มอุปทาน จนเกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และการยกระดับอุตสาหกรรม ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ของจีนชื่อ เติ้งไท่ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวทางสีโคโนมิคส์ อธิบายว่า “ดูอย่างไอโฟน ก่อนหน้านี้ไม่เห็นมีใครต้องการไอโฟนมาก่อน แต่เมื่อมีการคิดค้นและผลิตไอโฟน ก็สามารถสร้างรายได้และความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ให้กับบริษัทแอปเปิล ดังนั้นถ้าเริ่มที่อุปทานที่มีคุณภาพ อุปสงค์จะตามมาเอง”

ตอนนี้สินค้าที่ขายดีที่สุดในโลกออนไลน์ของจีน กลับไม่ใช่สินค้าจีน แต่เป็นสินค้าคุณภาพของต่างชาติ เพราะผู้บริโภคจีนไม่นิยมบริโภคสินค้าจีน เพราะสินค้าจีนยังขาดคุณภาพ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าภายในจีนไม่มีอุปสงค์ แต่ปัญหาคือไม่มีอุปทานที่ดี และสอดรับกับอุปสงค์ต่างหาก

เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม รัฐบาลจีนได้ทำการศึกษาเจาะทีละภาคอุตสาหกรรม ว่าในแต่ละภาคต้องมีเทคโนโลยีอะไรที่ควรนำเข้าหรือพัฒนา เพื่อใช้เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมการประสาน และจับคู่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีกับบริษัทผลิตสินค้า รวมทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการของภาคเอกชนที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า สีโคโนมิคส์สะท้อนวิธีคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเอกชน การสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ วัฒนธรรมสร้างสรรค์ และการให้ความสำคัญกับการยกระดับเทคโนโลยีและขีดความสามารถแข่งขันของสินค้า ทั้งหมดเป็นทิศทางที่รัฐบาลจีนของ ปธน.สี จิ้นผิง ย้ำเน้นมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และจะยิ่งชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจรอบ 5 ปีฉบับใหม่ ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2016 ที่กำลังจะมาถึง