ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน

ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน

ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง (Uncertainty and Risk) คำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน

แต่ก็มีความสอดคล้องกันอยู่ กล่าวคือ สภาวะ “ความไม่แน่นอน” เป็นสภาวะของการไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอย่างไร เงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้ได้แก่ การที่ระบอบ/ระบบที่เคยดำรงอยู่ไม่สามารถที่จะดำเนินงานต่อไปได้ ซึ่งส่งผลทำให้สังคมเกิดความรู้สึกถึงความ “ไร้ระเบียบ” ที่ครั้งหนึ่งเคยกำกับให้ทุกอย่างเดินไปตามครรลองที่เคยเป็น “ความแน่นอน” ที่ครั้งหนึ่งเคยหมายรู้ได้ว่า หากทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะได้รับผลอย่างที่คาดหมายได้สูญสลายลงไป

สำหรับความหมายของ “ความเสี่ยง” สภาวะ “ความเสี่ยง” เป็นสภาวะที่เราพอจะรู้เงื่อนไขและระบอบที่ดำรงอยู่ แต่ไม่แน่ชัดว่าหากเราทำไปอย่างที่วางแผนเอาไว้แล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร การคาดการณ์ผลลัพธ์ของการกระทำหนึ่งๆ ว่าจะออกมาดีหรือร้ายนั้นพอจะประมาณและประเมินได้ เพราะ “ความเสี่ยง” ดำเนินอยู่ในระบบหรือระบอบที่แน่นอนระดับหนึ่ง

ดังนั้น แม้ว่าเราอาจจะเข้าใจและยินดีเดินแนวทางที่เลือก “ความเสี่ยง” แต่หากการเสี่ยงหนึ่งๆ อยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ก็ย่อมทำให้เราต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

หากพิจารณาจากสองมโนทัศน์นี้ เราก็จะเห็นได้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ “ย่ำแย่” อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน แน่นอนแม้ว่าโดยพื้นฐานของสังคมยังคงมีพลังที่จะฝ่าข้ามเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงพิเศษนี้ไปได้ แต่สภาวะของ “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง” ครอบคลุมสังคมไทยไปจนหมดสิ้น และที่ร้ายไปกว่านั้น สังคมไทยในวันนี้กำลังเริ่มเคลื่อนไปสู่สภาวะใหม่ของสังคมด้วยการเดินหน้าเข้าไปสู่ “ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน” (Risk under Uncertainty)

“ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน” เป็นสภาวะของการที่จำเป็น “ต้องตัดสินใจ” ในการจะทำอะไรลงไปโดยที่ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น และคาดเดาไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์จะเป็นไปได้กี่ทาง และจะเป็นไปในรูปแบบไหนบ้าง ความไม่แน่นอนที่ดำรงอยู่เข้มข้นและรอบล้อมการตัดสินใจในการ “เสี่ยง” จึงทำให้ความเสี่ยงสูงมากกว่าปรกติมากมายทีเดียว

หากสังคมใดรู้สึกถึง “ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน” สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสของการเกิดความรู้สึกตื่นตระหนก (Panic) ก็จะง่ายและเพิ่มมากขึ้นไปด้วย พร้อมๆ กันนั้น โอกาสที่จะเกิดความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ (Chaostic) ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

“ความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน” เริ่มปรากฏในวงการตลาดเงิน บรรดากลุ่มคนที่รู้ข้อมูลภายในแล้วแสวงหาผลประโยชน์จากการซื้อหุ้นยังคงลอยหน้าลอยตาอยู่ได้อย่างไม่รู้สึกผิดอันใด คนเล่นหุ้นทั้งหลายเริ่มตระหนักว่าการเก็งกำไรที่ควรจะคาดการณ์ของตนได้กำลังถูกทำให้คาดเดาและคาดหวังได้น้อยลงๆ ความผันผวนก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นง่ายมากขึ้น หากมีข่าวลืออะไรผิดหูนักลงทุน

ด้านเศรษฐกิจ ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก และความตกต่ำของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้การวางเป้าการผลิต และการจำหน่ายเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น หากจะ “เสี่ยง” โดยไม่มองไปให้ไกล ซึ่งในวันนี้ก็มองไม่เห็น ก็ย่อมที่จะเสียหายมากกว่าจะสงบนิ่งอยู่ แต่หากตัดสินใจสงบนิ่งก็จะกินทุนเก่าไปเรื่อยๆ “ความไม่แน่นอน” ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้นักธุรกิจต้องตัดสินใจ “เสี่ยง” อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

หากมองทางความสัมพันธ์ทางสังคม ก็จะพบเห็นถึงสภาวะบ้านเมือง “ไร้ขื่อแป” มากขึ้น การใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาปรากฏในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ การประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สินเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ทุกเวลา และไร้เหตุผลมากขึ้นๆ การฆ่าคนเพียงเพื่อเอาของราคาสองสามพันบาท กลายเป็นเรื่องปรกติ (ผมโกรธพวกโจรคนจนที่มีหน้าแต่จะรังแกคนจนด้วยกันเท่านั้น ทำไมคนพวกนี้ไม่ไปจัดการคนรวยแบบโรบินฮูดบ้างนะ แหม ไม่ยอมมีสำนึกของชนชั้นบ้างเลย ฮา..)

ทางด้านการเมือง รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็มักจะนำ “ความฝันและความหวังถึงความแน่นอน” มาขู่ให้พลเมืองรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ที่ชัดเจนก็คือ คำพูดทำนองว่าหากมีใครเคลื่อนไหว ก็อาจจะกระทบโรดแมพการเลือกตั้ง หรือการเน้นย้ำว่า จะปราบคนโกงแต่ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมรู้สึกว่า “ไม่แน่ใจว่าจะปราบจริง” รวมไปถึงการประกาศใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มองไม่ออกว่าจะใช้ไปในแนวทางไหนได้บ้าง เพราะสามารถบังคับใช้ได้ทุกอย่าง/ทุกแนวทางในรัฐไทย

เราจะทำอะไรกันได้บ้าง เพื่อทำให้สังคมไทยไม่ก้าวไปสู่สภาวะ “สังคมความเสี่ยงสูงภายใต้ความไม่แน่นอน” เพราะหากไปถึงจุดนั้นแล้ว ก็ยากที่จะหวนคืนกลับ

เราต้องช่วยกันคิดว่า อะไรเคยเป็น หรือควรเป็นบรรทัดฐานของสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย และช่วยกันนำเสนอ พูดคุยกันว่า หากจะดำรง/สร้างบรรทัดฐานที่ขบคิดร่วมกันนั้น ใครควรจะทำอะไรและอย่างไร ที่สำคัญรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่แจ่มชัดถึงการสร้าง/สถาปนา “ความแน่นอน” ขึ้นมาในสังคม

ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่แสนยากลำบากสำหรับสังคมไทย