‘ให้ผมไปขายข้าว ขายยาง ผมไม่ไปแล้ว...’

‘ให้ผมไปขายข้าว ขายยาง ผมไม่ไปแล้ว...’

รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกนักข่าวตอนไปเยือนญี่ปุ่น

และได้พบกับนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า

“...ไทยจะเน้นเพียงแต่ไปขายข้าว ไปขายยาง ผมไม่ไปแล้ว....”

ได้ยินอย่างนี้เห็นภาพเลยว่า ประเทศไทยเราจะคิดและทำอย่างที่ทำมาหลายสิบปีไม่ได้อีกต่อไป และนั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เรา ติดกับดักรายได้ปานกลาง มาตลอด ไม่อาจจะฝ่าข้ามความเป็นสังคมเกษตรแบบเก่าไปได้

ขณะที่โลกก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขายผลผลิตของมันสมองและบุกหนักด้านนวัตกรรม ไทยเรายังขายสินค้าเกษตรดั้งเดิมที่ราคาผันผวนและขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มเหมือนเดิม

คุณสมคิดเคยบอกผมว่า ในอดีตเมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ถูกผู้ใหญ่สั่งให้ไปต่างประเทศเพื่อให้ขอให้เขาซื้อข้าวหรือยางพาราสักแสนตันล้านตันเพราะเราขายในตลาดปกติไม่ได้ หรือแข่งราคากับประเทศอื่นไม่ได้

ทุกครั้งที่ผมต้องไปขอร้องให้ผู้นำประเทศอื่นช่วยซื้อข้าวซื้อยางพารา ผมจะอายมาก เพราะมองตาก็รู้ว่าเขาเห็นว่าเราหมดท่าแล้ว ต้องมาขอร้องให้ซื้อสินค้าเกษตรกันเรื่อยไป...

ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือญี่ปุ่นหรือสหรัฐหรือยุโรป ไทยเรายังหวังเพียงจะขายข้าวขายยางไม่ได้อีกแล้ว เพราะโลกกำลังพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมยุคดิจิทัลเพื่อทดแทนสินค้าพื้นฐาน และแม้สินค้าเกษตรที่เป็นแหล่งของอาหารสำหรับมนุษย์ทั่วโลก ก็จะต้องมีการปรับกระบวนการผลิตให้เพิ่มคุณค่าสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้ทันกาล

มองไปรอบบ้านเราจะเห็นการขยับตัวอย่างคึกคักของการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ เวียดนามเป็นตัวอย่างของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลไม่ว่าจะเป็นการศึกษา, เทคโนโลยี, โครงสร้างพื้นฐาน, การเชื่อมโยงการเกษตรกับการแปรรูป ที่เพิ่มคุณค่าและราคาให้กับการเกษตรดั้งเดิม

ยิ่งแนวโน้มเห็นชัดว่า การส่งออกของประเทศจะเริ่มหดตัวลง และอัตราโตก้าวกระโดดที่เป็นตัวเลขสองหลัก อย่างที่เคยเห็นมาจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะนี่คือสภาวะ New Normal หรือ ความปกติแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ไทยก็ยิ่งจะต้องยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

การวิจัยค้นคว้าเพื่อหาสูตรสำหรับอนาคตของไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ทันกับชาวโลกจึงเป็นหัวใจของการผลักดันประเทศชาติ

ไม่ว่าการเมืองจะล้มลุกคลุกคลานอย่างไร ไม่ว่าความคิดเห็นของคนในชาติจะขัดแย้งกันต่อไปหรือไม่อย่างไร ทุกคนจะต้องตระหนักตรงกันว่าถ้าไม่มองทางออกสำหรับเศรษฐกิจไทยในเวทีสากล สถานภาพของเราจะถดถอย และถึงวันนั้นใครจะทะเลาะหรือจะส่งเสียงโหวกเหวกให้สนใจประเทศไทย ก็คงจะไม่เกิดผลแต่อย่างไร

ผมยังยืนยันว่าศักยภาพของเอกชนไทยยังสูง ขณะที่คุณภาพของข้าราชการประจำ ที่เคยเข้มแข็งก็เริ่มจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เพราะถูกการเมืองที่เสื่อมทรุดแทรกแซง และแทรกซึมจนหมดความกระตือรือร้นที่จะก้าวให้ทันโลก

แต่เอกชนไทยที่คล่องแคล่ว และมีความสามารถไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้มีจำกัดเฉพาะกลุ่มเดียว ยังไม่สามารถช่วยกันดึงระดับกลางและเล็กให้สร้างความแข็งแกร่งในระดับชาติได้ ไม่ต้องพูดถึงความเก่งกาจที่จะไปเจาะตลาดอาเซียนแข่งกับคนอื่น

จึงเป็นภารกิจร่วมของทุกฝ่ายที่จะระดมสรรพกำลัง ในอันที่จะเสริมสร้างศักยภาพ ของการก้าวพ้นจากการวิ่งหาคนซื้อสินค้าเกษตรเท่านั้น แต่ต้องสร้างฐานสำหรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมและการบริการ ที่มีความเป็นเลิศในอนาคตอันใกล้นี้

ขอย้ำว่าไม่ว่าการเมืองจะพ้นจากภาวะน้ำเน่าหรือไม่ ภาคเอกชน และประชาสังคมของไทย จะต้องร่วมกันเสริมสร้างพลังของชาติให้เดินหน้าไปในแนวทางที่ทันกับทุก ๆ ความเปลี่ยนแปลง

แทนที่จะให้การเมืองกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ไฉนเราไม่สร้างเศรษฐกิจให้ล้ำหน้า เพื่อกำหนดให้การเมืองต้องเข้าร่องเข้ารอยประชาธิปไตย ที่เสริมสร้างพลังของประเทศเสียที?