หนุนลงทุนผ่านวิธีเจรจา แทนเทกระจาด

หนุนลงทุนผ่านวิธีเจรจา แทนเทกระจาด

ในปี 2559 รัฐบาลจัดให้ไทย เป็นปีแห่งการลงทุนของประเทศ กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

พร้อมจัดแพกเกจมาตรการสนับสนุน โดยเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนจากระบบเดิมที่เป็นแบบ ”ระบบเทกระจาดเป็นระบบเจรจา” ตั้งเป้าหมายให้ 10 อุตสาหกรรม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

คณิศ แสงสุพรรณ หัวหน้าคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ให้เหตุผลสำคัญที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นเครื่องมือ ในการกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างว่า เพราะช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นมาก แต่ประเทศไทยปรับตัวช้า ทำให้การเติบโตเป็นไปในลักษณะถดถอย ขณะที่ ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้จาก 1.อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำสุดในอาเซียนใน 2 ปีติดต่อกัน (2556-2557) และกำลังแย่งอันดับต่ำสุดกับสิงคโปร์ในปีนี้ 2.มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวลดลงจาก 14% ต่อปี ในช่วงปี 2541-2550 เหลือเพียง 5% ต่อปีในช่วงปี 2551-2557 และ คาดว่า จะหดตัวเหลือประมาณ 5% ในปี 2558

ความถดถอยนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก ประเทศไทยขาดความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่องที่จะเร่งลงทุน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน กลายเป็นปัญหาหลักในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในสมัยก่อนประเทศไทยขยายการลงทุนประมาณ 9-10% ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ราว 5% หรือมากกว่า แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายการลงทุนเพียง 2% ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจว่า เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 2%ในช่วงเวลาดังกล่าว เอกชนไทยก็ขยายการลงทุนเพียง 3%  จากที่เคยขยายตัวได้ 14%

นอกจากนี้ การลงทุนของไทย ในระยะหลังมีลักษณะต่างคนต่างทำ กระจัดกระจายทั่วไป ไม่ได้เน้นให้เกิดพลังเหมือนสมัยทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ฉะนั้น เราต้องผลักดันการลงทุนให้เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี เหมือนในอดีต จึงจะเพียงพอที่จะขยายตัวเต็มศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจัยกำหนดประเภทอุตสาหกรรมอยู่บนพื้นฐานการประเมินว่า ในอนาคตเมืองขนาดใหญ่จะมีมากขึ้น ขณะที่ ความเป็นชนบทน้อยลง ความต้องการในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป ประกอบกับ อนาคตจะเป็นสังคมสูงอายุ ระบบต่างๆจะต้องรองรับ ทั้งการรักษาพยาบาล โครงสร้างสังคมที่รัฐบาลจะมีบทบาทน้อยลง การกระจายอำนาจจะต้องมากขึ้น และรวมถึง การกีดกันทางการค้าต่างๆ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นตัวตั้ง โดยได้ตั้งคำถามกับนักลงทุนและเจ้าของเทคโนโลยีรายสำคัญทั่วโลก 70 รายว่า อุตสาหกรรมไหนจะอยู่รอด และ อุตสาหกรรมใหม่ใดที่จะมาในเมืองไทย

ทั้งนี้ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ต้องต่อยอด คือ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ส่วน 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีผู้สนใจลงทุน คือ 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิตอล และ 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่มีอุตสาหกรรมดีๆมาลงทุนในเมืองไทย เพราะระบบสนับสนุนการลงทุนผ่านบีโอไอนั้น เป็นระบบเปิดที่เรียกว่า “เทกระจาด” ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน ขณะที่ ประเทศอื่น เช่น ประเทศสิงคโปร์ใช้วิธีเจรจา และ ให้สิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน เพื่อคัดเลือกนักลงทุน กรณีบริษัทดูปอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างการดึงนักลงทุนของประเทศสิงคโปร์

ฉะนั้น เมื่อระบบเทกระจาดในการดึงนักลงทุนไม่ได้ผล ระบบการเจรจาผ่านแรงจูงใจที่ให้มากกว่าระบบเดิม ได้เข้ามาแทนที่ รวมถึง ได้คัดเลือกอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตประเทศ วิธีนี้แม้จะช้ากว่าหลายประเทศที่นำมาใช้ แต่ก็ยังดีที่มีการริเริ่ม ผลจะเป็นอย่างไร ปีหน้าคงพอเห็นทิศทาง