ตัวอย่างการบังคับหลักประกันทางธุรกิจในประเทศอังกฤษ(4)

ตัวอย่างการบังคับหลักประกันทางธุรกิจในประเทศอังกฤษ(4)

ในบทความฉบับที่แล้ว เราได้เห็นว่าพัฒนาการของกฎหมายในประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องหลักประกันทางธุรกิจ

หรือที่เรียกกันในประเทศอังกฤษว่า floating charge นั้น เริ่มจากการให้สิทธิแก่ผู้รับหลักประกันอย่างกว้างขวางมาก โดยผู้รับหลักประกันได้รับสิทธิในการบังคับยึดครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งหมด ได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ จนแทบไม่เหลือทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ทั่วไปรายอื่นๆ เลย อีกทั้งหลักประกันทางธุรกิจประเภท floating charge ก็ไม่ต้องมีการจดทะเบียน ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ ตรวจสอบสถานะทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ จนกระทั่งต่อมากฎหมายได้จำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ รวมถึงลูกจ้าง หน่วยงานที่จัดเก็บภาษีของรัฐ และเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันด้วย

ในกรณีของประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษ จะเห็นได้ว่า กฎหมายไทยได้คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ ในระดับหนึ่ง โดยกำหนดให้หลักประกันทางธุรกิจจะต้องมีการจดทะเบียน เพื่อให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสามารถตรวจสอบได้ว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินใดที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจบ้าง จำนวนเท่าใด โดยกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดให้มีสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่รับจดทะเบียน แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการจดทะเบียน และดำเนินการอื่นๆ อันจำเป็น โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นเจ้าพนักงานทะเบียน โดยที่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนนั้น เป็นข้อมูลที่เปิดเผย ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

นอกจากนี้ ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานทะเบียนเมื่อรับจดทะเบียนแล้ว มีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังนายทะเบียนและเจ้าหนี้อื่น กรณีทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันเป็นทรัพย์มีทะเบียนด้วย

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ มีความสำคัญในการช่วยให้เจ้าหนี้สามารถประเมินฐานะทางการเงินของลูกหนี้ได้ และให้ความสะดวกและเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันทั้งหลายว่า กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งลดโอกาสของเจ้าหนี้รายอื่น ในการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ยิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เมื่อมีการจดทะเบียนหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ให้ถือว่าผู้รับหลักประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลาย

ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 บัญญัติว่า

เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น

ในกรณีดังกล่าวหมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีหลักประกันทางธุรกิจ สามารถบังคับชำระหนี้ของตนจากหลักประกันทางธุรกิจทั้งหลายได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจได้กำหนดไว้ โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งประเด็นนี้อาจถูกมองได้ว่า เป็นการทำให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันทางธุรกิจที่เป็นกิจการ และมีทรัพย์สินประเภทอื่นๆ จำนวนมากของลูกหนี้เป็นหลักประกันอีก ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ก็ต้องอย่าลืมว่าการทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ อาจถูกเพิกถอนได้ ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งบัญญัติว่า

“การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้”

ประเด็นนี้ กฎหมายบ้านเรามีความคล้ายคลึงกับกฎหมายของประเทศอังกฤษ และอีกหลายๆ ประเทศ ที่กฎหมายในเรื่องหลักประกัน ย่อมจะต้องมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับกฎหมายล้มละลาย ในการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายอื่นด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายบ้านเรายังคงขาดในเรื่องของการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อย่างเช่นกฎหมาย Enterprise Act 2002 ของประเทศอังกฤษ ที่กำหนดให้ทรัพย์สินบางส่วนที่ติดหลักประกันทางธุรกิจ จะต้องมีการกันไว้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured creditors) ในกระบวนการชำระบัญชี และกระบวนการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายด้วย

แม้ว่ากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะมีบทบัญญัติที่ผู้ร่างกฎหมายพยายามวางแนวทาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเอาไว้ โดยบัญญัติให้การดำเนินการต่างๆ เช่น การร่างข้อสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ การใช้สิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินของผู้รับหลักประกัน เป็นต้น จะต้องไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้รายอื่นๆ จะต้องฟ้องร้องต่อศาลซึ่งมีดุลยพินิจในการพิจารณา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังมิใช่หลักประกันที่คุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้รายอื่นๆ อย่างชัดเจนแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจยังมีประเด็นที่เรายังจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ใช้และปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เราคงจะได้ค่อยๆ เห็นพัฒนาการของกฎหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

 ------------------

วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

@allenovery.com