Happy Workplace: Leadership vs. Ourselves?

Happy Workplace: Leadership vs. Ourselves?

ทุกวันนี้คนทำงานทุกคน ต้องการแสวงหาองค์กรที่ดี ที่ทำงานด้วยแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่

 องค์กรขนาดเล็ก หรือธุรกิจ Start Up เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานให้กับองค์กร แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อก้าวเข้าสู่องค์กรนั้นๆ แล้ว ที่แห่งนั้นจะเป็นสถานที่ทำงานที่ทุกท่านจะทำงานได้อย่างมีความสุข

ตัวแปรสำคัญในการทำงานที่จะทำให้มีความสุขมากหรือมีความสุขน้อยนั้น อยู่ที่คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำของเรา ความห่วงใยจากหัวหน้าสำคัญที่สุด การที่เรามีคนคอยใส่ใจ ให้คำแนะนำ ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ ทำได้ง่าย แต่มักจะถูกมองข้าม จากการสำรวจของหลายองค์กร ถึงเหตุผลที่ทำให้พนักงานลาออกลำดับต้นๆ สาเหตุเพราะหัวหน้า ไม่มีใครอยากจะมีหัวหน้าที่แย่ เพราะเขาสามารถนำทีมไปสู่ความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว คำถามก็คือ แล้วผู้นำแบบไหนที่จะนำพาองค์กรหรือทีมงานไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน พร้อมกับทำให้ทีมงานมีความสุขไปกับการทำงานด้วย

ผมขอยกตัวอย่างคำสอนของท่าน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ในการมีภาวะผู้นำซึ่งมีหลักง่ายๆ กล่าวคือประการแรก ตัวเองต้องดี ต้องเป็นแบบอย่างได้ คือต้องทำดีเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น และมีความรู้ความสามารถที่จะมานำผู้อื่นได้ ประการที่สอง นอกจากผู้นำเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่นแล้ว ผู้นำก็ต้องมีกัลยาณมิตรด้วย คือ ต้องเลือก ต้องหาที่ปรึกษา และเพื่อนร่วมงานที่ดี มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่ว่าตัวผู้นำเองจะทำได้คนเดียว แต่จะต้องฟังเสียงผู้อื่น และแสวงหาปัญญาเพิ่มเติมอยู่เสมอ

ข้อนี้สำคัญมาก แม้แต่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ต้องมีหลักข้อนี้ คือ ต้องมีที่ปรึกษาที่ไต่ถาม จะได้แสวงปัญญาค้นคว้าหาความรู้ให้ทันต่อความเป็นไป และได้ความคิดที่จะมาใช้ในการดำเนินงาน ตัวเองเป็นกัลยาณมิตรให้แก่คนที่ร่วมไปด้วย แต่พร้อมกันนั้น ตัวเองก็ต้องมีกัลยาณมิตร โดยรู้จักแสวงหากัลยาณมิตรด้วย

ประการสุดท้าย การตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือมีสติ คอยตรวจตราสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงเป็นไป และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อองค์กร ต่อชุมชนต่อสังคม ไม่ควรพลาดสายตา และจับเอามาตรวจตราพิจารณาทั้งหมด ถ้ามีสิ่งใดอาจก่อให้เกิดผลในทางลบ ต้องรีบแก้ไข อะไรจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ก็ต้องใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์

อีกตัวอย่างหนึ่งจากบทความ เรื่อง The Work of Leadership ได้พูดถึงความสามารถของผู้นำ ข้อหนึ่งที่ว่า Leaders get on the Balcony ผู้นำที่ดีต้องสามารถมองสภาพการณ์ในภาพรวมให้ออกว่าเกิดอะไรขึ้น เปรียบกับการมองเกมทั้งสนามในการแข่งขันกีฬา ขณะที่ผู้นำกำลังนำธุรกิจอยู่นั้น ก็เหมือนกัปตันทีมบาสเกตบอล ที่เป็นทั้งผู้เล่นที่ลงไปร่วมเล่นกับเพื่อนร่วมทีมในสนาม แต่ในขณะเดียวกันก็สวมบทบาทของการเป็นโค้ชที่มองเกมอยู่ข้างสนาม สามารถเข้าใจเกมการแข่งขัน มองทะลุปรุโปร่งในภาวะความกดดันในเกม เมื่อไหร่ควรรุก เมื่อไหร่ควรรับ จะประสานทีมอย่างไร เหมือนธุรกิจที่จะต้องรู้ภาวะตลาด งานในปัจจุบัน ความรับผิดชอบในทีม รู้ว่าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติแล้วหรือยัง เมื่อเชื่อมโยงไปตามหลักพุทธศาสนา ความรับผิดชอบของผู้นำมี หน้าที่ลงแรงกายกับทีมงานอย่างเต็มที่ แต่ใจของผู้นำต้องดึงออกมาอยู่เหนือกาย และเหนือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น

แต่สำหรับคนทำงานทุกคน ไม่ว่าองค์กรที่เราร่วมงานด้วยจะเป็นอย่างไร มีผู้นำแบบไหน ผมเชื่อว่าการทำงานอย่างมีความสุขเกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากตัวเราครับ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน “อัตตาหิ อัตตโนนาโถ” เป็นพุทธวจนะที่มีคุณค่ายิ่ง โดยความหมายฟังดูเผินๆ ก็ดูธรรมดา แต่ถ้าพิจารณาและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจังแล้ว จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมะข้อนี้ มีคุณค่ามหาศาลทีเดียว ธรรมะคือ ธรรมชาติ คือการมองโลกตามที่มันเป็น ชีวิตไม่ควรยึดติดกับคนอื่น พึ่งตนเอง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามีเหตุผลของมันเสมอ อย่าเอาใจไปผูกติดกับสิ่งรอบตัว และท้ายที่สุด ปล่อยวางจากการยึดติดในตัวเอง แต่ต้องไม่ละวางจากความรับผิดชอบในงานของเรา

วิธีการที่ผมใช้ในการฝึกให้สามารถวางใจให้เหมาะสมนั้น มีพื้นฐานเริ่มต้นมาจากการตั้งมั่นในการรักษาศีล 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง และที่สำคัญคือ การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ด้วยลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ระลึกรู้ รับรู้อย่างที่มันเป็น เรียกสติกลับคืนมา เวลาทำแล้วจะรู้สึกตัว มีสติตลอดเวลาว่า เรากำลังทำอะไร ความอยากได้โน่น อยากได้นี่ ก็ไม่ต้องไปปิดกั้น ดูลมหายใจ เวลาโกรธ โมโห มีสติ รับรู้อย่างที่มันเป็น แล้วเราจะรู้ว่าผิดชอบชั่วดีคืออะไร ทำให้ทุกปัญหาสามารถคลี่คลายได้อย่างมหัศจรรย์ เป็นการฝึกที่ไม่ยาก เพราะทุกคนต้องหายใจอยู่แล้ว เมื่อฝึกได้เราจะสามารถรักษาใจได้อย่างสม่ำเสมอ ใจเราจะมีพลัง ในช่วงนั้นเราจะไม่รู้สึกถึงความวุ่นวายจากภายนอก ไม่มีความหวั่นไหวต่อกระแสความเป็นไป หรือความเปลี่ยนแปลงของภายนอกเลย แต่มีความรู้สึกใจสงบนิ่ง หนักแน่น มั่นคง ภาระหรือความรับผิดชอบใดๆ ก็จะไม่เป็นที่หนักใจอีกต่อไป

เมื่อฝึกเช่นนี้ จะทำให้เห็นคุณค่าของการรักษาใจเป็นอย่างยิ่งว่า มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากมาย เราต้องหมั่นประคองรักษาใจของเราให้ได้ตลอดเวลา ฝึกบ่อยๆ ให้ติดเป็นนิสัย ก็จะเกิดความคุ้นเคย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าฝึกทำได้อย่างนี้ ก็จะได้ชื่อว่าทำตัวตนของเราให้เป็นที่พึ่งแก่ตัวของเรา มีสติในการพิจารณาสิ่งรอบตัวได้ตรงตามเป็นจริง แล้วที่ทำงานของทุกท่านก็จะเป็นที่ทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข  ขอให้ทุกท่านทำงานได้อย่างมีความสุข สนุกกับการทำงานครับ

-------------------------

ภาวะผู้นำ : ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2546

The Work of Leadership โดย Ronald A. Heifetz และ Donald L.Laurie, Harvard Business Review, January -February, 1997