ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ภาคเศรษฐกิจในประเทศ

ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ภาคเศรษฐกิจในประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจ

ในเดือนต.ค. 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นภาวะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัว และยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางอย่างไร แม้ว่าบรรดานักวิเคราะห์ และนักธุรกิจเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังทรงตัวอยู่ได้ และไม่แย่ลงมากไปกว่าในปัจจุบัน

มาตรการของรัฐบาลต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนสร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง โดยดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับรัฐบาลในการเดินหน้าโครงการต่างๆ หรือออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมในช่วงที่คนกำลังมีความหวังจากนโยบายรัฐ แต่ปัญหาสำคัญจากนี้ไปก็คือทำอย่างไรจะทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างต่อเนื่องและจะทำอย่างไรหากรัฐบาลหมดไม่มีมาตรการใหม่ออกมา

หากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของธปท. จะเห็นว่าตัวที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งปรากฏว่ายังติดลบเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยิ่งดูการนำเข้าของไทยที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องเพราะไม่เกิดการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ยอดนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อผลิตลดลงตามไปด้วยดังนั้นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลคือจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนอย่างไร ในขณะที่การลงทุนภาครัฐแทบไม่เป็นปัญหา นอกจากเรื่องความล่าช้าของการเบิกจ่าย

การลงทุนของภาคเอกชนที่มีปัญหา ไม่ได้มาจากปัญหาการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่มาจากภาคส่งออกเป็นหลัก ซึ่งติดลบมาอย่างต่อเนื่อง และจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวนี้เอง ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าขยายการลงทุนหรือผลิตสินค้าออกมาเพื่อจำหน่าย เพราะหากผลิตแล้วก็ไม่รู้จะไปจำหน่ายที่ใด ซึ่งอาจต้องรอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะทำให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุนหรือผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ตลาดในประเทศยังไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ

ผลกระทบจากตลาดโลกซบเซา ยังมีความหมายกับเศรษฐกิจยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกมามากจริงๆ ซึ่งไม่ว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อและออกมาตรการกระตุ้นเพียงไร แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยภาคส่งออกที่หดตัวได้ และอย่างดีที่สุดจากมาตรการของรัฐบาลคือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น และถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะในระยะยาวรัฐบาลก็ไม่อาจสนับสนุนได้ตลอดไปจากงบประมาณแผ่นดิน

แน่นอนว่าผู้กำหนดนโยบาย ต่างตั้งความหวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นมา และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามไปด้วย แต่ความหวังเป็นการคาดการณ์ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นและอาจมีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า อย่างกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เริ่มมีสัญญาณจะบานปลาย และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมแทบไม่ได้อยู่ในประมาณการเลยหรือมีน้ำหนักค่อนข้างน้อย

ดังนั้น ทางออกสำหรับการลดผลกระทบ ก็คือการสร้างความเข้มแข็งภายใน ดังที่รัฐบาลชูเป็นนโยบายสำหรับในการรับมือกับความผันผวนของภายนอก ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องรีบดำเนินการอย่างยิ่ง และขณะนี้ดูเหมือนว่าอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นเท่านั้น เราเห็นว่ารัฐบาลควรจะเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในอย่างรีบด่วน หาไม่แล้วในปีหน้าหากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกครั้งจากปัจจัยใดก็ตาม เราอาจมีเครื่องมือรับผลกระทบไม่เพียงพอ และปัญหาก็จะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ