AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? (2)

AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? (2)

บทความตอนที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า จะทำให้การพัฒนา

ประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงไปใน 2 ประเด็น คือ (1) การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการพัฒนา ภาคส่วนต่างๆ จึงควรปรับมุมมองในการดำเนินงานให้มีขอบเขตกว้างมากขึ้น จากมุมมองภายในขอบเขตประเทศสู่มุมมองระหว่างประเทศ และ (2) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการพึ่งพาต่างประเทศ จากการพึ่งพาตะวันตกสู่การพึ่งพาตะวันออกมากขึ้น (from West to East) และจากการพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว สู่การพึ่งพาเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น (from North to South)

AEC ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศในมิติอื่นนอกเหนือจาก 2 ประเด็นที่กล่าวแล้ว ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจาก AEC ในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การเปลี่ยนแปลงท่าทีของมหาอำนาจต่อกลุ่มประเทศอาเซียน

การรวมตัวเป็น AEC ทำให้ท่าทีของมหาอำนาจต่อกลุ่มประเทศอาเซียนเปลี่ยนแปลงไป จากการละเลยสู่การหันกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น ชาติมหาอำนาจต่างๆ ได้พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น

มหาอำนาจใหม่อย่างจีน ได้พยายามขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งอาเซียน ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ผ่านการทำการค้า การลงทุน การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นเดียวกับอินเดีย ที่มีนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) และร่วมมือกับประเทศในอาเซียน ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงอินเดียกับอาเซียน นอกจากนี้ รัสเซียยังให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนด้านเส้นทางคมนาคมกับประเทศอาเซียนอีกด้วย

ท่าทีของมหาอำนาจใหม่ ส่งผลทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มขยับตัว หันมาให้ความสำคัญกับประเทศอาเซียนมากขึ้น หลังจากที่มีท่าทีไม่ใส่ใจประเทศเหล่านี้มาเป็นเวลานาน สังเกตได้จากการเดินทางมาเยือนของบุคคลระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตัน การเข้าร่วมเวทีด้านความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน หรือการย้ายยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือมายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น

ผมมองว่า ประเทศมหาอำนาจอาจกำลังพยายามทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง หรือพยายามแทรกแซงความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะหากประเทศอาเซียนรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง ย่อมจะทำให้อำนาจต่อรองของอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นการดีต่อประเทศมหาอำนาจมากเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ ท่าทีของมหาอำนาจ จึงพยายามแบ่งแยกประเทศอาเซียนเพื่อการปกครองที่ง่ายขึ้น

การแบ่งแยกเพื่อปกครองของมหาอำนาจ สามารถสังเกตได้จากกรณีของจีนที่ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ในกรณีที่ขัดแย้งกับไทยเรื่องเขาพระวิหาร หรือการที่จีนช่วยเหลือกัมพูชาจนทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา ไม่มีข้อสรุปที่เป็นฉันทามติ (consensus) เกี่ยวกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้

อีกกรณีหนึ่งคือ การที่สหรัฐอเมริกาดึงประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) โดยมีเหตุผลหลักเพื่อกีดกันและปิดล้อมประเทศจีน แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อแยกประเทศอาเซียนออกจากกัน

ด้วยสถานการณ์การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับอาเซียนและไทย เพราะจะทำให้มหาอำนาจหันมาให้ความช่วยเหลือประเทศในอาเซียนมากขึ้น เช่น สิทธิพิเศษทางการค้า เงินลงทุน เงินช่วยเหลือ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น หากแต่เป็นความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ

ความซับซ้อนในการบริหารเศรษฐกิจจะยิ่งมีมากขึ้น การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ และการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะทำให้ไทยอาจต้องเผชิญปัญหาที่เรียกว่า Spaghetti bowl effect” เนื่องจากความซับซ้อนและความหลากหลายของกฎระเบียบ และมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยมหาอำนาจและกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างๆ ที่มีมาตรฐาน และกฎระเบียบที่แตกต่างกัน การพัฒนามาตรฐานของภาคการผลิต ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานที่แตกต่างกันของประเทศที่เป็นลูกค้า และการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ประกอบด้วยหลายสกุลเงินซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น

ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ผูกติดกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิมค่อนข้างมาก แม้ว่าสัดส่วนการค้ากับประเทศเหล่านี้ลดลง แต่ยังมีสัดส่วนที่สูง กล่าวคือ ประเทศไทยยังพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศที่มีศักยภาพเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตยังมีค่อนข้างน้อย แม้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนเพิ่มสูงขึ้น แต่การค้าและการลงทุนกับอินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ยังมีน้อยมาก เพราะความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ และการสนับสนุนจากภาครัฐในการบุกเบิกตลาดเหล่านี้ยังจำกัด

คำถามสำคัญในวันนี้คือ ประเทศไทยและอาเซียนจะดำเนินยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศอย่างไร? ภาครัฐจะกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอาเซียนอย่างไร? หรือจะรักษาดุลอำนาจของมหาอำนาจที่มีต่อไทยอย่างไร เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด?

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าท่าทีของประเทศมหาอำนาจที่หันมาให้ความสำคัญและสนใจกับประเทศอาเซียนมากขึ้น จะด้วยเหตุผลเพื่อแยกหรือรวมอาเซียนก็ตาม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยและอาเซียนต้องตระหนักคือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะความไว้วางใจจะนำไปสู่การรวมตัวที่เข้มแข็ง รวมถึงสามารถเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจาก AEC ในประเด็นอื่นๆ จะนำเสนอในบทความครั้งต่อๆ ไป