การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีคลองด่าน

การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีคลองด่าน

การทำสัญญาต่างๆ คู่สัญญาอาจกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญานั้น

หรือทำเป็นความตกลงไว้ต่างหากก็ได้ หากมีข้อกำหนดหรือความตกลงเช่นนี้ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาสามารถเสนอให้อนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยได้ กฎหมายไทยที่ใช้บังคับในเรื่องของอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

คดีที่เรียกันว่าคดีคลองด่าน คือคดีพิพาทกันระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ กับกิจการร่วมค้าผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการกำจัดน้ำเสีย ในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ มีการบอกเลิกสัญญาและมีข้อพิพาทเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ผลที่สุดนำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดลงวันที่ 12 มกราคม 2554 ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างให้กิจการร่วมค้า ที่ประกอบด้วยผู้รับเหมารวม 6 ราย เป็นเงินเกือบหมื่นล้านบาท

แม้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะมีผลผูกพันคู่พิพาท แต่จะมีผลบังคับต่อเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาด ตามที่บัญญัติในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยคู่พิพาทที่ประสงค์ให้ศาลพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาด สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้

สำหรับเขตอำนาจศาลนั้น ถ้าเป็นสัญญาทั่วๆ ไป ศาลในส่วนกลางที่มีเขตอำนาจคือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ถ้าเป็นสัญญาทางปกครองศาลที่มีเขตอำนาจ คือศาลปกครอง เนื่องจากสัญญาการจ้างก่อสร้างโครงการกำจัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นสัญญาทางปกครอง กิจการร่วมค้ากลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาด

ในการพิจารณาเพื่อพิพากษาตามคำชี้ขาด ของคณะอนุญาโตตุลาการ ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดได้ ต่อเมื่อผู้ที่จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุตามที่บัญญัติในมาตรา 43 กล่าวโดยสรุปคือ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในความสามารถ หรือสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หรือไม่มีการแจ้งให้ผู้ถูกคำบังคับทราบล่วงหน้า ถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ หรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือคำชี้ขาดไม่อยู่ในขอบเขต หรือเกินขอบเขตของข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ หรือองค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือกระบวนการพิจารณาไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำชี้ขาดถูกเพิกถอนหรือถูกระงับโดยศาลที่มีเขตอำนาจ

นอกจากนี้ ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับถ้าปรากฏต่อศาลว่า คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามที่บัญญัติในมาตรา 44

ถ้าไม่เป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 43 หรือ 44 ดังกล่าวข้างต้น ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น

ผลของคดีคลองด่าน ปรากฏว่า ผู้ที่จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดคือ กรมควบคุมมลพิษ ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่า มีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือมาตรา 44 ศาลปกครองชั้นต้นจึงต้องพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อมาผู้ที่จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาด หรือปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ จึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติงบประมาณให้จ่ายเงินให้ผู้ชนะตามคำชี้ขาดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านขอให้รัฐบาลชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน และขอให้กระทรวงทรัพยากรธรณีและสิ่งแวดล้อม ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอให้พิจารณาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยอ้างว่ายังมีข้อมูลหลักฐานใหม่ที่ไม่ปรากฏในการสู้คดีของกรมควบคุมมลพิษ

การจะขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดี หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในคดีคลองด่านใหม่ได้ ต้องปรากฏเหตุตามที่บัญญัติในมาตรา 75 โดยสรุปคือ ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ หรือคู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกไม่มีโอกาสเข้ามาในกระบวนการพิจารณา หรือถูกตัดโอกาส หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในการพิจารณาพิพากษา หรือข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของมาตรา 75 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แล้ว โอกาสที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีคลองด่านใหม่ ความเป็นไปได้อยู่ที่แสดงให้เห็นได้ว่า มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ

ถ้าหากศาลปกครองพิจารณาแล้วมีเหตุที่จะรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ความเป็นไปได้ที่ฝ่ายรัฐจะชนะคดี คือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามที่บัญญัติในมาตรา 44