TPP โจทย์ใหญ่เลี่ยงยาก......?

TPP โจทย์ใหญ่เลี่ยงยาก......?

แรงกดดันให้ไทยเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย - แปซิฟิก

 (TPP) พุ่งขึ้นสูงอย่างมากภายหลัง 12 ชาติบรรลุข้อตกลงไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นแกนนำ และมี 4 ชาติอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งมาเลเซีย เวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย 

แรงกดดันเกิดจากภาคธุรกิจภายในประเทศ ที่มองว่าจะเกิดความเสียเปรียบอย่างรุนแรง ในเชิงของการแข่งขันทั้งสินค้าและบริการ หากไทยตกรถไฟขบวนนี้ 

แรงกดดันยังมาจากภายนอกประเทศ ล่าสุดในการพบปะระหว่าง ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนายกฯญี่ปุ่นและนักลงทุนได้สอบถาม ท่าทีของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกTPP โดยญี่ปุ่นได้แสดงความตั้งใจที่จะให้การช่วยเหลือประเทศไทยเกี่ยวกับข้อมูล ข้อดีข้อเสีย และขั้นตอนเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก

ญี่ปุ่นกำลังกดดันให้ไทยเข้าร่วม เพื่อแลกกับการขยายการลงทุน โดยรับสิทธิ์ TPP ในการเชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชนให้กับญี่ปุ่น ถ้าไทยปฎิเสธหรือชักช้า เสมือนญี่ปุ่นส่งสัญญาณเตือนว่าจะมีการทบทวนแผนการลงทุนในไทย 

สอดรับกับท่าทีของ อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่ร่วมคณะสมคิดเยือนญี่ปุ่นด้วย “ให้ไทยเร่งสรุปความชัดเจนการเข้าร่วม ซึ่งเอกชนต้องการให้มีผลการศึกษาอย่างรวดเร็ว เพราะจะมีผลต่อการลงทุนของไทยของญี่ปุ่น”

ไม่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้นที่กดดันให้ไทยเข้าร่วมTPP หากแต่สถานการณ์ถูกบีบจากสมาชิกอาเซียนเองเช่นกัน 

การหารือระหว่างอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีพาณิชย์กับรัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซีย ช่วงระหว่างการประชุมอาเซียน ที่มีการเสนอให้อินโดนีเซียมาร่วมกันผลักดันเขตการค้าเสรีRCEP มีอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรืออาเซียนพลัสพลัสเดิมนั้น อินโดนีเซียกลับบอกว่าเขามุ่งที่จะเข้าร่วมTPP มากกว่า 

ขณะที่ฟิลิปปินส์เองที่มีเรื่องระหองระแหงกับจีน อันสืบเนื่องมากจากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทางทะเลจีนใต้มาโดยตลอดและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้านกับสหรัฐ มุ่งไปที่TPPอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน 

แม้ผู้นำอาเซียนจะยืนยันแข็งขันที่จะเจรจา RCEP ให้เสร็จภายใน 1ปี แต่ความมุ่งมั่นลดน้อยถอยลงทุกขณะ ขาดแรงผลักดันอย่างเข้มข้น เพราะหากจะสำเร็จได้อาเซียนต้องเป็นแกนกลางสำคัญ แต่แกนของอาเซียนดูเหมือนจะมีแต่ไทยเพียงลำพังเท่านั้น เมื่อทุกคนกระโดดร่วมรถไฟสายTPP ไปแล้ว 

โอกาสที่ข้อตกลงRCEP ที่หมายมั่นปั้นมือ จะออกมาให้เป็นข้อตกลงที่มีคุณภาพ เป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ ที่มีมาตรฐานจึงลดน้อยถอยลงและยังลุกลามไปถึงเสน่ห์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2559ที่จะลดลงตามไปด้วย แม้จะเป็นปีแรกของการประกาศตั้งประชาคมก็ตาม

ไทยจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในอาเซียนได้หรือไม่ จะเลือกคบเฉพาะจีนอย่างเดียวมุ่งRCEP อย่างเดียวได้หรือไม่ หากเขาไปTPP กันหมด

รัฐบาลจำต้องเร่งรีบศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและรอบคอบ พร้อมทั้งออกมาเปิดเผยข้อมูล ผลดี ผลเสียให้ครอบคลุมทุกด้าน 

ต้องไม่ลืมว่าTPPไม่ได้มีผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องสิทธิบัตร และเรื่องการสาธารณสุขของประเทศซึ่งเกี่ยวพันชีวิตคนจำนวนมาก 

รัฐบาลต้องหาทางให้คนในประเทศ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

ถึงตรงนี้TPPเลี่ยงยาก แต่ทำอย่างไรให้คนในชาติได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

โจทย์ใหญ่โจทย์ยากของรัฐบาลคสช.และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สมคิด อย่างแท้จริง !!!!!