ปัญหาภาคปฏิบัติ

ปัญหาภาคปฏิบัติ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำวจสมาชิกหอการค้าไทย

 และหอการค้าจังหวัดจำนวน 296 ราย ในหัวข้อ “ทัศนะต่อนวัตกรรม” ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของนวัตกรรม และมีความสนใจต่อเรื่องนี้มาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากทัศนะของผู้ประกอบการ ที่เห็นว่านวัตกรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ และเห็นว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมมากขึ้น

ปัญหานวัตกรรมของไทยในสายตาผู้ประกอบการ มาจากวัฒนธรรมไทยเองส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญผู้ประกอบการเหล่านี้เห็นว่า ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อนวัตกรรมไม่เพียงพอ แม้ส่วนใหญ่จะมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีความสนใจในเรื่องนี้ แต่ยังอยู่ในระดับให้การสนับสนุนทั่วๆ ไป ซึ่งน่าเสียดายว่าการสำรวจในครั้งนี้ ไม่ได้สอบถามในประเด็นที่ว่าผู้ประกอบการ มีบทบาทในสร้างให้เกิดนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร และผู้ที่พยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร

อันที่จริง ทัศนะของผู้ประกอบการไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่แต่ประการใด ซึ่งในทุกครั้ง ที่มีการพูดถึงเรื่องนวัตกรรม ก็มักจะมีเสียงบ่นในลักษณะเดียวกันนี้ จากผู้ประกอบการ ในขณะที่ภาครัฐก็มีนโยบายสนับสนุน ซึ่งก็ยังไม่มีการประเมินอย่างจริงจังว่ามาตรการสนับสนุนนั้นเพียงพอหรือไม่ ทางฝั่งผู้ประกอบการมักจะบ่นภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ในขณะภาครัฐก็มักตำหนิภาคเอกชนที่ไม่ยอมคิดหรือทำอะไรใหม่ๆ นอกจากการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้โดยไม่ยอมคิดค้นเอง

เมื่อมีประเด็นนี้หยิบยกขึ้นมา ก็จะวนเวียนอยู่กับประเด็นเดิมเหล่านี้ จนไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของไทยนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ และหากคิดว่านวัตกรรมก็คือส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา(R&D) เราก็อาจจะเข้าใจปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น โดยภาครัฐมักจะพูดว่าประเทศไทยขาดเรื่องนี้อย่างมาก และงบประมาณที่ให้ไปสำหรับเรื่องนี้ืถือว่าน้อยมากในแต่ละปี ซึ่งภาครัฐมักจะมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอ แต่ในทางปฏิบัติถือว่างบประมาณสนับสนุนค่อนข้างน้อยมาก

เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มีปัญหาเรื่องการทุ่มเทงบวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน ยกเว้นบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่เริ่มให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งก็ปรากฏว่าส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการวิจัย ดังนั้นปรากฏว่า บริษัทเอกชนที่มีความเข้มแข็งมากพอต่างทุ่มเทกับเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติอีกด้วย และบางบริษัทที่ประสบความสำเร็จต่างก็พยายามโน้มน้าวให้คนอื่นทำตาม

ดังนั้น หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาการวิจัยและพัฒนา ที่อาจนำไปสู่นวัตกรรมชั้นเยี่ยมนั้น เกิดขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน และไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่มีการพูดถึงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คนไทยมีการจัดสัมมนาพูดถึงเรื่องนี้นับพันครั้ง แต่ในที่สุดแล้วก็ยังวนเวียนในประเด็นตามที่ผลการสำรวจชี้ให้เห็น ซึ่งหากเราจะแก้ปัญหากันอย่างจริงจังแล้ว เห็นจะมีทางเดียวเท่านั้นคือจะต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร เพราะขณะนี้เรารู้มามากพอแล้วว่ามีความสำคัญและเรายังมีปัญหาเรื่องนี้ 

ที่ผ่านมาเรามีแผนระดับชาติมาก็หลายฉบับ แต่แผนก็คือแผน ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินการอะไร นอกจากงบประมาณปกติของรัฐบาลที่ให้กับหน่วยงานด้านวิจัย คำถามคือเราจะปฏิบัติกันอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา และจะเริ่มต้นอย่างไรหากต้องการเป็นชาติที่มีนวัตกรรมเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว