ทางเลือกเยอะไป ใช่ว่าจะดี

ทางเลือกเยอะไป ใช่ว่าจะดี

มนุษย์เราตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาตอนเช้า ที่ต้องตัดสินใจว่าจะตื่นหรือไม่ตื่น

จนกระทั่งก่อนนอนที่ต้องตัดสินใจว่าจะนอนหรือไม่นอน ซึ่งในการตัดสินใจทุกๆ ครั้งของคนเรา มันคือการเลือกระหว่างทางเลือกต่างๆ ซึ่งถ้าดูดีๆ แล้ว เราก็จะพบว่า ทุกๆ อย่างคือการเลือกทั้งสิ้น ตั้งแต่เรื่องของชีวิตส่วนตัวไปจนกระทั่งถึงองค์กร ผมเองก็จะนิยามอยู่เสมอว่า กลยุทธ์คือการเลือก (Strategy is Choice) ซึ่งถ้าเป็นไปตามทฤษฎีการตัดสินใจที่เรียนกันมานั้น นักวิชาการท่านจะบอกไว้ว่า ในการตัดสินใจนั้นเราจะต้องหาทางเลือกให้ได้มากที่สุด ยิ่งมีทางเลือกมากเท่าไร จะยิ่งทำให้การตัดสินใจเป็นไปแบบสมเหตุสมผล และได้ผลสรุปที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี ในชีวิตจริงๆ นั้น เราจะพบว่าการมีทางเลือกเยอะๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป การมีทางเลือกเยอะเกินไป อาจจะทั้งทำให้เกิดความเครียด มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รวมถึงนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในผลการตัดสินใจที่เกิดขึ้น ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ

เริ่มจากทางธุรกิจก่อน ที่ปัจจุบันร้านค้าปลีกประเภทหนึ่งที่ขยายตัวและเติบโตไปยังหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก ที่อยู่ในกลุ่ม Hard Discount นั้นคือร้านชื่อ Aldi และ Lidl ซึ่งร้านรูปแบบนี้จะขายของเหมือนในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วๆ ไป แต่แทนที่จะมีปริมาณชนิดของสินค้าเยอะ เขาจะมีเพียงแค่ไม่กี่ชนิด และสิ่งที่มีไม่กี่ชนิดนั้นก็เป็นสินค้าที่เป็นตราสินค้าของเขาเอง และมีคุณภาพ เช่น ซอสมะเขือเทศ ที่ร้านค้าปลีกทั่วไปนั้นอาจจะมี SKU (Stock keeping unit) ทั้งยี่ห้อ และขนาด รวมได้ทั้งหมด 28 SKU แต่สำหรับที่ Aldi จะมีเพียงแค่ยี่ห้อเดียว ขนาดเดียว แต่ด้วยคุณภาพที่ไม่แตกต่างและราคาที่ถูกกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร้าน Aldi และ Lidl (ที่ใช้รูปแบบเหมือนกัน) จึงได้ขยายตัวและเติบโต รวมทั้งกินส่วนแบ่งตลาดของร้านค้าปลีกธรรมดาไปเยอะพอสมควร

ตัวอย่างของ Aldi คือตัวอย่างของร้านค้าปลีก ที่มีสินค้าที่ครบถ้วนตามความต้องการของลูกค้า แต่สินค้าแต่ละชนิดนั้น ไม่ได้มีขนาดหรือยี่ห้อให้เลือกอย่างมากมายมหาศาล ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ถูก และลูกค้าก็ได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพกลับไปในราคาที่ไม่แพงด้วย ซึ่งกรณีของ Aldi ก็ทำให้เห็นนะครับว่า จริงๆ แล้วการมีทางเลือกให้ลูกค้ามากๆ นั้น แทนที่จะเป็นข้อดีเหมือนทฤษฎีการตัดสินใจทั่วๆ ไป อาจจะเป็นข้อเสียก็ได้

มาดูตัวอย่างใกล้ๆ ตัวบ้าง สมมติท่านต้องซื้อของขวัญปีใหม่ให้เพื่อน ระหว่างร้านที่มีของให้ท่านเลือกมากกว่า 100 ชนิด กับร้านที่มีของให้ท่านเลือกเพียงแค่ 10-20 ชนิด ท่านมีโอกาสจะซื้อของจากร้านไหนมากกว่ากัน? ตามทฤษฎีร้านที่มี 100 ชนิดย่อมดีกว่า แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมีทางเลือกให้เราเยอะ เรามักจะเกิดความรู้สึกสับสน ปวดหัว หรือแม้กระทั่งเครียด เนื่องจากต้องเปรียบเทียบระหว่างทางเลือกแต่ละท่านเลือก ดังนั้น หลายๆ ครั้งเราอาจจะไม่ได้ของจากร้านที่มีสินค้า 100 ชนิด แต่จะได้ของจากร้านที่มีสินค้าเพียงแค่ 10-20 ชนิดแทน

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เวลาเราเลือกรับประทานอาหาร หลายๆ ท่านอาจจะรู้สึกเครียดหรือปวดหัวเมื่อต้องไปกินอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ เนื่องจากมีอาหารให้เลือกเยอะไปหมด ทำให้ไม่รู้ว่าจะเลือกรับประทานอะไรดี (บางคนไม่รู้จะเลือกอะไรก็เลยตัดสินใจรับประทานทุกอย่าง) หรือเมื่อเราไปร้านอาหารเมื่อเลือกดูรายการอาหาร ถ้าร้านไหนมีรายการอาหารอยู่เยอะ เรามักจะเลือกไม่ถูกว่าจะรับประทานอะไรดี แต่ถ้าทางร้านจัดเมนูแนะนำมาให้เพียงแค่ไม่กี่เมนู เรามักจะเลือกจากเมนูดังกล่าวได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

ลองสังเกตดูนะครับว่า หลายๆ ครั้ง ถ้าเรามีทางเลือกที่เยอะเกินไป แทนที่เราจะตัดสินใจเรากลับจะประวิงการตัดสินใจออกไป เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร หรือถ้าเรามีทางเลือกเยอะๆ เมื่อเราตัดสินใจไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้พอใจในสิ่งที่ตัดสินใจไปเท่าใด เนื่องจากพอมีทางเลือกที่เยอะ เราก็มักจะรู้สึกเสียดายหรือเสียใจ ที่ไม่ได้เลือกทางเลือกอื่นๆ

ปัญหาที่สำคัญของการมีตัวเลือกเยอะก็คือ จะยิ่งทำให้เรามีความคาดหวังสูงขึ้นในสิ่งที่เลือกด้วย ตัวอย่างคุณสุภาพสตรีสมัยสาวๆ ที่มีชายหนุ่มมาจีบอย่างมากมาย (บางคนมีกิ๊กพร้อมๆ กันตั้ง 5-6 คนก็มี) สุดท้ายเมื่อท่านเลือกระหว่างชายหนุ่มแต่ละคนที่มาติดพันและตัดสินใจ และเลือกชายหนุ่มที่ท่านคิดว่าดีที่สุด และพอใจที่สุดแล้ว ท่านก็จะมีความคาดหวังที่สูงสำหรับบุคคลที่ท่านเลือก เนื่องจากบุคคลผู้นั้นได้ผ่านการคัดสรรจากผู้ยื่นใบสมัครจำนวนมาก และท่านคิดว่าท่านเลือกในสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีทางเลือกให้เลือกเยอะ ความคาดหวังก็อาจจะไม่สูง และสุดท้ายก็จะพอใจกับสิ่งที่เลือก

ตัวอย่างสุดท้ายคือสถานีโทรทัศน์ครับ ในอดีตเรามีเพียงแค่ 5 ช่องหลัก แต่ในปัจจุบันมีไม่รู้กี่ช่อง (ไม่นับที่ผ่านทางเน็ต) คำถามคือเราพึงพอใจหรือดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นหรือไม่? ท่านผู้อ่านลองนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับสิ่งที่ท่านทำหรือธุรกิจท่านดูนะครับ บางครั้งการมีทางเลือกที่ไม่เยอะอาจจะเป็นข้อดีก็ได้ครับ