เร่งจัดตั้ง Big Data ในยุคสงครามร้อน

เร่งจัดตั้ง Big Data ในยุคสงครามร้อน

ในการเข้าถึงสถานการณ์โลก ที่บทบาทของภูมิรัฐศาสตร์ กำลังเป็นประเด็นร้อน

ของโลกในวันนี้ เกี่ยวกับความสุ่มเสี่ยงจากภัยคุกคามของการก่อการร้าย จนกระทบต่อความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน จากสถานการณ์ตึงเครียดที่กำลังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในยุโรปขณะนี้ ดังนั้น Big Data จึงมีความสำคัญสำหรับธุรกิจของไทย โดยเฉพาะล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ที่เข้าไปลงทุนในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในพื้นที่โดยตรง ที่มีบริษัทย่อยทำธุรกิจจำหน่ายเนื้อไก่ เนื้อหมู และอาหารสัตว์อยู่ในตุรกี หรือรัสเซีย บริษัทบางกอกแร้นช์ มีโรงงานผลิตเนื้อเป็ดอยู่ในเนเธอร์แลนด์ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารอยู่ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสโลวาเกีย ขณะที่บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ อยู่ระหว่างการศึกษาเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนี อิตาลี และอังกฤษ เพราะนอกจากภาคธุรกิจที่มองว่าการลงทุนในต่างประเทศที่มีศักยภาพเป็นโอกาส และประโยชน์ในระยะยาวแล้ว แต่ในทางกลับกันความเสี่ยงก็อาจจะเกิดขึ้นในอัตราสูงไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่ประเทศไทยกำลังวางแผนการลงทุนครั้งใหญ่ ในเรื่องของ Big Data ที่จะเกิดขึ้นในสังคมยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดและตั้งเป็นคำถามมากมายว่า Big Data คืออะไร และทำไมต้องสนใจ รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของธนาคารกลาง โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการ Big Data ในอนาคต ซึ่งก็คือข้อมูลที่มีปริมาณมากเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ หรือ Volume ซึ่งข้อมูลนั้นมีอัตราการเปลี่ยนแปลงแบบ Real-time หรือ Velocity มีรูปแบบข้อมูลที่หลากหลาย หรือ Variety และเป็นข้อมูลที่มีความคลุมเครือ หรือ Veracity โดยนำมาทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ Big Data จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำ Big Data มาประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหลายภาคส่วนเศรษฐกิจ เช่น ด้านการเกษตรมีการใช้ GIS (Geographical Information System) ช่วยพยากรณ์ผลผลิตในภาคการเกษตร การใช้ปริมาณปุ๋ยและน้ำ รวมทั้งระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพการเกษตร และสามารถวางแผนการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารกลางที่ประยุกต์ใช้ Big Data เช่นกรณี ธนาคารกลางอังกฤษ กำหนดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูง โดยจัดตั้ง Data Lab และ Data Community เป็นศูนย์กลางวิจัย Big Data ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์จีดีพีจากข้อมูลรายเดือนได้รวดเร็วแทนรายไตรมาส ทำให้เผยแพร่จีดีพีได้เร็วขึ้น รวมถึงการใช้ข้อมูลในการจัดทำดัชนีแรงงาน และดัชนีอสังหาริมทรัพย์ หรือกรณีธนาคารกลางแคนาดาได้ตีพิมพ์งานวิจัย Big Data ชื่อ The Next Frontier ชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่แอบซ่อนอยู่ได้เร็วขึ้น โดยนำมาช่วยติดตามและวางนโยบายเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น สิ่งท้าทายในการจะใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร โดยไม่สำลักข้อมูล จึงทำให้ต้องเตรียมการรองรับ Big Data ซึ่งนับวันข้อมูลก็จะยิ่งมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หนทางแก้ปัญหาคือต้องทำให้ 1.เกิดความพร้อมด้านเทคโนโลยีคือต้องบริหารจัดการโดยคำนึงถึงความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล 2.ความพร้อมด้านข้อมูลที่ต้องมีการออกกฎหมายรองรับการเปิดเผยข้อมูล การแลกเปลี่ยนซื้อขายข้อมูล กับการใช้ข้อมูลร่วมกัน และ 3.ความพร้อมด้านบุคลากรคือต้องสร้าง “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่มีความรู้ และมีความเข้าใจคุณลักษณะข้อมูล

นอกจากนี้ Big Data ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์ใหญ่ของเทคโนโลยี ที่กระทบต่ออนาคตของประเทศ รวมทั้งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของธนาคารกลาง โดยที่นักวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่าขณะนี้กลายเป็นความท้าทายในการจัดการ Big Data ที่ต้องเผชิญในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามร้อนในหลายภูมิภาคที่เป็นอยู่ ซึ่งทำให้มีคำถามเกิดขึ้นถึงแนวโน้มที่จะลุกลามเป็นสงครามใหญ่ในระดับโลกได้หรือไม่ เนื่องจากท่าทีของผู้นำโลกจากสหรัฐและรัสเซียที่เป็นคู่ขัดแย้งที่กำลังทำให้ทั่วโลกต้องจับตาดูอยู่นั้น ที่สุดแล้วจะต้องเร่งการจัดตั้ง Big Data ให้สามารถช่วยการประมวลข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกให้ตอบโจทย์ได้อย่างถูกต้องแค่ไหน เพื่อที่การกำหนดทิศทางความอยู่รอดของประเทศในอนาคต รวมถึงการเตรียมมาตรการรับมือกับความผันผวนของภาวะตลาดการเงินในระยะข้างหน้านี้ ที่สำคัญอีกหนึ่งด้านคือมาตรการรองรับความปลอดภัยของคนไทยที่เดินทางและพักอาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก