ลงทุนไปด้วย..บริหารภาษีไปด้วย

ลงทุนไปด้วย..บริหารภาษีไปด้วย

เคล็ดลับการลงทุนและวางแผนภาษี ได้ความรู้ที่น่าสนใจมากมาย 'ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร' ในวัย 71 ปี

สัปดาห์ก่อนผมได้ไปฟังสัมมนาของอาจารย์ 'ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร' เรื่องเคล็ดลับการลงทุนและวางแผนภาษี ได้ความรู้ที่น่าสนใจมากมาย อาจารย์สุวรรณ ในวัย 71 ปี ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉงและส่งมอบความรู้สำคัญ ด้านการลงทุนและบริหารภาษีให้กับผู้คนในสังคมไทย อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ท่านเล่าเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก เกี่ยวกับที่มาของรายได้ในวัยชรา ว่ารายได้จากการทำงานของท่านตอนนี้คือ 10% ต่อ 90% คือ
· รายได้จากการ 'ลงแรง' 10%
· รายได้จากการ 'ลงทุน' 90%

และท่านคิดว่าผู้สูงวัยไทยควรมีรายได้จากการลงทุน และหากทำแบบนี้กันได้เยอะๆ จะดีต่อประเทศชาติมาก ทีนี้ผมลองมาถอดรหัสคำพูดท่านดู ว่าการที่คนเรา จะมีรายได้จากการลงทุนซึ่งเป็นเงินไหล เป็นรายได้ที่ไม่ต้องออกแรงทำงาน คนผู้นั้นต้องก่อกรรมดี สะสมบุญบารมีอะไรมาบ้าง หากอยู่เฉยๆทำงานไปเรื่อยๆ มันจะมาเองมั๊ย?

คำตอบคือ 'ไม่ได้' เพราะการที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีรายได้จากการลงทุน ก็เฉกเช่น การปลูกไม้ยืนต้น ถ้าไม่เริ่มปลูกแต่เนิ่นๆ พอแก่ตัวลง จะเอาต้นไม้ใหญ่ที่ไหนพักพิง การลงทุนก็เช่นกัน มันต้องเกิดการ 'ทยอยลงทุนระยะยาว' มาตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน จนกระทั่งถึงวัยเกษียณ

การลงทุนระยะยาวที่ว่า ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นหุ้นอย่างเดียว แต่มันมีเครื่องมือการลงทุนหลากหลายชนิด ให้มนุษย์เงินเดือน คนทำธุรกิจ สามารถลงทุนไปด้วย บริหารภาษีไปด้วย เช่น

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(เอกชน)หรือ กบข.(ราชการ) ผมถือว่า..กองทุนนี้เป็นกองทุนต้องห้ามพลาด นี่เป็นการลงทุนที่ไร้พ่าย มีแต่ประตูชนะลูกเดียว เพราะมนุษย์เงินเดือนสามารถลงทุนทุกเดือน และนายจ้างก็จะสมทบให้ในจำนวนที่เท่ากันด้วย เช่น เราใส่ 5% นายจ้างเติมให้(ฟรี) 5% ลงทุนไปเรื่อยๆ พอเกษียณก็รับทั้งหมดไปเลยอ้อ! ความสุดยอดอีกอย่างคือ เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดีไร้ที่ติจริงๆ

ความยอดเยี่ยมไม่ได้มีแค่นั้นครับ เพราะพรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับปรุงครั้งล่าสุด เปิดทางเลือกสำคัญอีก 2 ประการให้ผู้ลงทุน คือ หนึ่ง..ลูกจ้างออมได้ในอัตราที่สูงขึ้นสูงสุดที่ 15% ของเงินเดือน ไม่ว่านายจ้างจะสมทบเท่าไหร่ ... ข้อดีคือ ส่งเงินไปทำงานได้มากขึ้น และลดภาษีได้มากขึ้นด้วย และสอง..หากลาออกก่อนอายุครบ 55 ปี เมื่อก่อนต้องรับเงินกองทุนออกมา แล้วเสียภาษี แต่ตอนนี้สามารถโอนไปยัง RMF ได้ แล้วถือต่อไปจนครบเงื่อนไข RMF เท่านี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีจากการไถ่ถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนเกษียณแล้ว

2.กองทุนLTF เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซื้อลงทุนแล้วลดหย่อนภาษีได้ ลงทุนได้สูงสุด 15% ของรายได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท และถือครองเพียง 5 ปีปฏิทิน ล่าสุดครม.เพิ่งต่ออายุ LTF ให้อีก 3 ปี (จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 59) แต่มีเงื่อนไขใหม่ที่ต้องทราบคือ 'ระยะเวลาการถือครอง' จากเดิม 5 ปีปฏิทิน ปรับเพิ่มเป็น 7 ปีปฏิทินซึ่งผมคิดว่า การเพิ่มเวลาการถือ จะยิ่งส่งผลดีต่อทั้งนักลงทุนและตลาดหุ้นไทยในระยะยาว เพราะเงินลงทุนอยู่นานขึ้น ระยะยาวมากขึ้น ผลตอบแทนก็จะยิ่งมีความแน่นอนมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นอีกด้วย

3.กองทุน RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ ซื้อลงทุนแล้วลดหย่อนภาษีได้ ลงทุนได้สูงสุด 15% ของรายได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อคำนวณรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ถือครองถึงอายุ 55 ปี และไม่ต่ำกว่า 5 ปี นี่จึงเป็นกองทุนกึ่งบังคับตัวเองของผู้ลงทุน เพราะต้องลงทุนนาน ถึงอายุ 55 ปี แต่ท่านเชื่อหรือไม่ครับ ว่ารูปแบบนี้แหละที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษียณอายุอย่างแท้จริงเพราะเป็นกึ่งบังคับอยู่ยาวอีกทั้งนักลงทุนยังมีทางเลือก เพราะมีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลาย ทั้ง พันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศอสังหาฯ และ ทองคำ ซึ่งนักลงทุนสามารถสับเปลี่ยนกองได้ เพื่อประโยชน์สูงสุด เหมือนเราเป็นผู้จัดการกองทุนชีวิตตัวเอง

4. ประกันชีวิตในส่วนนี้เป็นเรื่องความ 'มั่นคง' เพราะชีวิตเป็นเรื่องของการดีลกับความไม่แน่นอน รัฐบาลก็สนับสนุนให้คนในชาติทำประกันชีวิตเพื่อดูแลตัวท่านเอง โดยลดหย่อนภาษีได้ถึงปีละ 100,000 บาท และยังมีประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้อีก 2000,000 บาท

การลงทุนทั้ง 4 อย่างที่ว่ามา เป็นการลงทุนไปด้วยบริหารภาษีไปด้วย เพราะเม็ดเงินที่ท่านผู้อ่านนำไปลงทุน จะช่วยลดหย่อนภาษีได้ทั้งสิ้น หากยังมีกำลังเหลือ ผมขอแนะนำให้มี 'พอร์ทออมในหุ้น' ซึ่งก็คือการแปลงการออมเงินสด ให้เป็นการทยอยสะสมออมหุ้นพื้นฐานดี เพิ่มเป็นสมบัติแห่งความภาคภูมิใจไว้อีกหนึ่งอย่าง

เรื่องการออมลงทุนนี้ เป็นกฎแห่งกรรมโดยแท้จริงเราหว่านพืชสิ่งใด ได้ผลสิ่งนั้น หว่านไว้มากๆ ก็จะรวยตอนเกษียณมากๆครับผม