โลกใหม่สำหรับนักธุรกิจจากนี้ไป

โลกใหม่สำหรับนักธุรกิจจากนี้ไป

เดือนที่แล้ว ผมต้องไปประชุมและพูดในต่างประเทศบ่อย ตามคำเชิญจากหลายเวที ทำให้มีโอกาสพบปะผู้คนมาก

ทั้งเพื่อนใหม่ในวงการธรรมาภิบาลสากล และเพื่อนเก่าในวงการตลาดการเงินโลก ได้คุยกันหลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ได้คุยกัน และดูเหมือนจะมีความเห็นตรงกันก็คือ โลกธุรกิจจากนี้ไปจะยาก และแตกต่างจากที่เราเห็นในปัจจุบันมาก ทำให้นักธุรกิจจากนี้ไปจะต้องเข้มแข็งอดทน และต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการทำธุรกิจมาก เพื่อฟันฝ่าความท้าทายที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะต้องอาศัยทั้งความสามารถ และความดีหรือจริยธรรมเป็นปัจจัยสร้างตัวและสร้างความสำเร็จ วันนี้จึงขอแชร์ความคิดในเรื่องนี้

ธุรกิจช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า โดยเฉพาะสำหรับบัณฑิตใหม่ที่จะเข้าสู่โลกธุรกิจครั้งแรก จะยากและท้าทายมากจากแนวโน้มต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการทำธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แนวโน้มแรก คือ เศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจโลกระยะต่อไปจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังแก้ไขไม่จบ และอีกส่วนเป็นผลจากการก่อหนี้ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นหลังปี 2008 โดยเฉพาะหนี้บริษัทธุรกิจ ทำให้ภาคเอกชนจะต้องลดการใช้จ่ายเพื่อลดความเป็นหนี้ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก เรื่องนี้หลายคนที่ผมได้พูดคุยด้วยมองคล้ายกันว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสู่ภาวะทางเศรษฐกิจที่ทางวิชาการเรียกว่า Debt deflationหรือการลดหนี้ที่นำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดต่ำลง ก็จะกระทบการมีงานทำและการจ้างงาน ทำให้บัณฑิตที่จบใหม่จะหางานยากขึ้น เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมโลก

แนวโน้มที่สองคือ เทคโนโลยี ที่นับวันจะมีบทบาทมากทั้งต่อนวัตกรรม การแข่งขัน และกระบวนการทำธุรกิจของภาคเอกชน หลายๆ อย่างจะทำผ่านระบบงานที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น มีการติดต่อตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Face to face) น้อยลง ธุรกิจจะทำผ่านกลไกอินเทอร์เน็ต โดยปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ให้ความสะดวกและเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ด้านการผลิตสินค้า ก็จะมีการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ

เชื่อหรือไม่หนังสือธุรกิจที่ขายดีที่สุดปีนี้ ลงคะแนนโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ของอังกฤษ และเป็นหนังสือที่จะมีอิทธิพลต่อวงการธุรกิจทั่วโลกต่อไปอีกนานก็คือ หนังสือเรื่อง The Rise of the Robotsหรือเมื่อหุ่นยนต์เป็นใหญ่ เขียนโดย มาร์ติน ฟอร์ด (Martin Ford)ที่มองบทบาทเทคโนโลยีในอนาคตทั้งบวกและลบ คือ ในลักษณะที่จะช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องใช้เวลามากในการทำสิ่งที่เคยทำ มีเวลามากขึ้นที่จะพักผ่อนดูแลสุขภาพ และค้นคว้าหาความรู้ เพราะงานที่เคยทำจะมีหุ่นยนต์ทำแทน ซึ่งเรื่องนี้คงเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในสังคมที่จะมีผู้สูงอายุมาก เช่นญี่ปุ่น มีคนเล่าให้ฟังว่าคนญี่ปุ่นเลือกหุ่นยนต์ให้ทำงานแทน มากกว่าที่จะเลือกแรงงานอพยพจากต่างประเทศ เมื่อถูกถามว่าจะเลือกอย่างไร กรณีที่กำลังคนวัยหนุ่มสาวของญี่ปุ่นในอนาคตร่อยหรอลง

แต่บทบาทเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ตกงานไม่มีงานทำ เพราะเครื่องจักรจะมาทำแทน ขณะที่คนส่วนน้อยที่มีงานทำและสามารถอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะได้ประโยชน์และมีโอกาสมาก ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง จากการทดแทนที่เกิดขึ้น มีการพูดถึงสังคมที่จะเหลื่อมล้ำมากขึ้นจากผลดังกล่าว เพราะคนส่วนใหญ่ประมาณเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย ในแง่ความมั่งคั่งจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ประโยชน์และความมั่งคั่งจะตกอยู่กับประชากรประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ที่จะร่ำรวยไปกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ สร้างความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกให้ยิ่งรุนแรงขึ้น          

แนวโน้มที่สาม คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ช่วงสิบปีข้างหน้าที่หลายประเทศจะเจอปัญหานี้รวมถึงไทย ที่อัตราส่วนของประชากรในวัยทำงานจะลดลง ทำให้ประชากรแรงงานในอนาคตต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของตนเอง เพื่อหารายได้เลี้ยงดูประชากรสูงวัยที่ไม่ทำงาน และเพื่อชำระหนี้ที่คนรุ่นปัจจุบันได้สร้างไว้ให้ นับเป็นโชคที่ไม่ดีเลยของคนรุ่นใหม่ที่ต้องมีภาระมาก

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นแนวโน้มที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ที่เห็นชัดเจนก็คือ

หนึ่ง ความสามารถของบุคลากร หรือทรัพยากรมนุษย์ หรือ Talent ได้กลายเป็นทรัพย์สินที่หายาก และมีค่าที่สุดในระบบธุรกิจ มากกว่าเงินทุนหรือเครื่องจักร เพราะประชากรวัยทำงานจะมีน้อยลงในหลายประเทศ บวกกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จะทำให้คนที่เก่งจริง มีความสามารถสูงมากจริงๆ จะมีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น ในโลกธุรกิจข้างหน้า การศึกษาและความขยันอย่างเดียว จะไม่เพียงพอต่อการสร้างอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะทุกๆ คนก็จะมีสองสิ่งนี้ แต่ความสำเร็จที่โดดเด่นจะมาจากความฉลาดและ Talent ที่เหนือคนอื่นที่คนส่วนใหญ่ไม่มี ที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมทางธุรกิจ บริษัทธุรกิจจะเสาะหาคนเหล่านี้ และรักษาคนเหล่านี้ในฐานะทรัพย์สินที่มีค่า

สอง ความสำคัญของบริษัทในฐานะหน่วยธุรกิจจะค่อยๆ หายไป เพราะบริษัทในโลกธุรกิจใหม่จะเปลี่ยนแปลงช้าและมีต้นทุนสูง บทบาทเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารที่รวดเร็ว จะทำให้โมเดลธุรกิจดั้งเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ เช่น ธนาคารพาณิชย์จะล้าสมัย ถูกทดแทนด้วยการให้บริการตรง ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และโทรศัพท์มือถือ ผลก็คือบทบาทนำของบริษัทในฐานะองค์กรธุรกิจ จะถูกทดแทนโดยการทำธุรกิจด้วยตัวเอง หรือ Entrepreneurshipที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก เพราะความสามารถที่จะปรับใช้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ให้เข้ากับการทำธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับแนวโน้มที่สินค้าในเศรษฐกิจโลกในอนาคต จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ สินค้าที่ยิ่งวัน ยิ่งถูก จากผลของเทคโนโลยี อีกกลุ่มคือสินค้าที่ยิ่งวัน ยิ่งแพง เพราะเกิดจากความคิดและการใช้ทักษะของมนุษย์ ในการประดิษฐ์หรือให้บริการ กลุ่มหลังนี้ก็เช่น บริการด้านสุขภาพ อาหาร การศึกษา ศิลปะและบันเทิง ที่ปัจจุบันราคานับวันจะแพงขึ้นๆ และเป็นกลุ่มสินค้าที่จะดึงบุคลากรที่เก่งมีความสามารถ ให้ออกจากบริษัทธุรกิจ เข้าไปสู่ความเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneurship)และการประกอบธุรกิจเหล่านี้ด้วยตนเอง

สาม ก็คือ ในโลกธุรกิจจากนี้ไป เงินหรือสภาพคล่อง จะไม่ใช่ปัจจัยหายากของภาคเอกชน เพราะเงินหรือสภาพคล่องจะมีอยู่ตลอด ในเศรษฐกิจที่จะไม่เติบโตหรือขยายตัวมาก แต่สิ่งที่จะหายากก็คือ ความไว้วางใจในการทำธุรกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเร็ว จะทำให้โจทย์ธุรกิจยากขึ้น คนจะแข่งขันกันมาก และวางใจกันได้น้อยลง ขณะที่การติดต่อธุรกิจที่จะทำผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือระบบดิจิทัลก็จะมีมากขึ้น แทนการพบแบบ Face to faceทำให้การตัดสินใจต่างๆ ต้องเร็ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความไว้วางใจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ เพราะคนต้องการความไว้วางใจทั้งในระบบ ในตัวบุคคลที่ติดต่อด้วย และในการกำกับดูแลธุรกิจ

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ที่จะมีผลอย่างสำคัญต่อโลกธุรกิจ ต่อการทำธุรกิจจากนี้ไป