การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจพม่าหลังการเลือกตั้ง (2)

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจพม่าหลังการเลือกตั้ง (2)

บทความของบลูมเบิร์ก (5 พ.ย.) ที่ตั้งข้อสงสัยว่า นางซูจีเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของพม่าหลังการเลือกตั้งนั้น

 กล่าวถึงนักการทูตบางคนที่มองว่า นางซูจีจะทำให้พวกเขาทำงานลำบากมากขึ้น ในการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารปัจจุบัน ในส่วนของนักธุรกิจก็แสดงความเป็นห่วงว่า นางซูจีจะไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผมจะขยายความต่อไปว่า ทำไมจึงมีการแสดงความเห็นดังกล่าวออกมา ทั้งๆ ที่นางซูจีมีภาพพจน์ที่ดีเลิศในสายตาของต่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายตาของชาวตะวันตก

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานว่า ไม่ใช่เรื่องลับที่บริษัทต่างชาติหลายแห่ง ไม่เชื่อมั่นว่า นางซูจีจะสามารถบริหารเศรษฐกิจพม่าได้ ทั้งนี้ บลูมเบิร์กแจ้งว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นางซูจีแล้วแต่ถูกปฏิเสธ โดยตอบว่า การที่นางถูกตำหนิ แสดงว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว“a real politician” (ตรงนี้ทำให้ผมเข้าใจว่า นางซูจีคงจะเข้าใจว่าการเป็นนักการเมืองเต็มตัวนั้นแปลว่า เป็นผู้ที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชน จึงจะต้องถูกนักธุรกิจตำหนิเป็นธรรมดา)

ในเชิงของการเมืองนั้น บทความสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของนางซูจีกับทหารพม่า ซึ่งมีดีบ้างและไม่ดีบ้าง มีการกระทบกระทั่งกันเสมอมา แม้จะมีผลประโยชน์ร่วมกันในหลักใหญ่ ดังที่ผมกล่าวในครั้งที่แล้ว คือทหารยอมเปิดประเทศและให้มีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดทางให้นางซูจีได้เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาททางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องแลกกับการที่นางซูจีจะต้องยกเลิกการเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกคว่ำบาตรรัฐบาลทหาร เพื่อให้ประเทศตะวันตกเข้ามาคานอำนาจและอิทธิพลของจีน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจพม่าที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน จากการปิดประเทศมานานกว่า 50 ปี

บทความกล่าวถึงบุคคลใกล้ชิดกับนางซูจีว่า ถูกประธานาธิบดีเต็งเส็งหว่านล้อมให้หลงเชื่อ และสนับสนุนนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยนางซูจีเรียกร้องให้ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า โดยนึกว่ารัฐบาลทหารจะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เธอสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ แต่ทหารก็ไม่ยอม และให้เธอเป็นได้เพียงผู้แทนราษฎร (1 คน จากทั้งหมด 664 คน โดย 25% แต่งตั้งจากทหาร)

แต่ในส่วนของทหารนั้น ก็บอกว่าไม่เคยให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่สัญญาว่าจะให้การแบ่งปันอำนาจ และเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งต่อมาจึงทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น ระหว่างนางซูจีกับประธานาธิบดีเต็งเส็ง และมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองเกิดความรู้สึกบาดหมางระหว่างกันมากขึ้น

หากจำได้ มีช่วงหนึ่งในปี 2012-2013 ที่นางซูจีเดินทางไปต่างประเทศ และแสดงตัวเป็นผู้นำของพม่าอย่างเต็มภาคภูมิ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประเทศมหาอำนาจ (รัฐสภาสหรัฐยังมอบเหรียญตราให้กับเธอ) ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีเต็งเส็งไม่พอใจ ที่รู้สึกว่าถูกนางซูจีหักหน้า ในขณะเดียวกัน นางซูจีก็รู้สึกว่าได้พยายามช่วยเหลือและ “เอาใจ” ทหารแล้ว แต่ทหารก็ยังไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้ตัดสิทธิเธอจากการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งคือ พรรคเอ็นแอลดีนั้นไม่มีผู้นำที่มีบารมี หรือมีผู้ใดเลยที่มีความโดดเด่น และได้รับการเกื้อกูลสนับสนุนให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่านางซูจีจะเป็นผู้เลือกบุคคลที่ใกล้ชิดและเชื่อฟังเธอเป็นประธานาธิบดี (การเมืองไทยจะใช้คำว่านอมินี) ซึ่งจะทำให้ขาดความโปร่งใสและชัดเจนทางการเมือง และอาจเป็นปัญหาในการร่วมบริหารประเทศกับฝ่ายทหารได้ ทั้งนี้ นางซูจีกล่าวกับคนสนิทว่ารู้สึกถูกสหรัฐทรยศ (betrayed) เพราะสหรัฐไม่สนับสนุนเธออย่างแข็งขัน ในการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

ตรงนี้คือส่วนที่นักการทูตแสดงความกังวลว่า จะทำงานกับนางซูจีลำบาก เพราะต้องการจะทำงานร่วมกับทั้งนางซูจีและฝ่ายทหาร (ซึ่งยังมีอำนาจอยู่มากและยังคุมทรัพยากรหลักของประเทศ) โดยมีนักการทูตกล่าวว่า เคยถูกนางซูจีตำหนิที่ไปร่วมทำโครงการเพื่อพัฒนาประเทศพม่ากับรัฐบาลทหารพม่า

นอกจากนั้น ก็ยังมีเรื่องเล่าถึงความเป็นคนแข็ง (strong personality) ของนางซูจี เช่นในเดือนสิงหาคม 2014 ซึ่งนางซูจีขู่ว่าจะเข้านอนแล้ว และจะไม่พบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายจอห์น แคร์รี เพราะเดินทางมาสาย แต่ในที่สุดก็ยอมพบนายแคร์รี ที่ตั้งใจจะบินมาหาเธอโดยตรง แต่ก็เป็นการพบปะกันชั่วครู่ และเจ้าหน้าที่สหรัฐที่วอชิงตันกล่าวว่า นางซูจีนั้นเป็นคนที่ “ทำงานด้วยยาก” (difficult to work with)

นักธุรกิจที่พบนางซูจีก็มีเรื่องเล่าว่า ถูกนางซูจีเล็คเชอร์ (she has a real tendency to lecture people) และนักธุรกิจมักจะไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น ในการพบปะกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ นางซูจีเรียกร้องไม่ให้ร่วมงานกับรัฐวิสาหกิจของพม่าด้านพลังงาน (ซึ่งทหารยังบริหารอยู่) แต่ขอให้บริษัทน้ำมันไปพัฒนาการเกษตรแทน ซึ่งการพัฒนาการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาในระยะยาว แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงาน ซึ่งพม่ายังขาดแคลนอย่างมาก ก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพม่าเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะละเว้นได้

ทั้งนี้นายฌอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนางซูจี กล่าวแก้ตัวให้นางซูจีว่า เป็นการเปรียบเปรยมากกว่า โดยนางซูจีเป็นห่วงว่าต่างชาติให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรน้อยไป ไม่ใช่ว่านางซูจีจะต่อต้านภาคอุตสาหกรรม (she is not anti-industry) ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายว่า นางซูจีให้ความสำคัญกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งเช่นกัน ในอีกกรณีหนึ่งเมื่อมีกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐเข้าพบนางซูจีในปี 2014 เธอบอกกับผู้แทนบริษัทรถยนต์สหรัฐว่า ควรหันมาผลิตจักรยานในพม่ามากกว่า เพราะประชาชนพม่าส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ในชนบท

ในสัปดาห์หน้า ผมจะกล่าวเพิ่มเติมในส่วนของปัญหาอื่นๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเอ็นแอลดี และปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าท้ายครับ