การคิดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม

การคิดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม

วิธีคิดแบบบิดเบือน (ในทัศนะนักจิตวิทยา) ที่เห็นได้ชัดในหมู่คนไทยจำนวนมากคือ วิธีคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง

(Polarized/Black and White Thinking) ที่ต่างคนต่างคิดว่าตัวถูก 100% อีกฝ่ายผิด100% หรือถ้าสิ่งหนึ่งดี สิ่งหนึ่งก็ชั่ว ถ้าไม่ใช่ขาวก็ต้องดำ คนที่คิดแบบนี้มองไม่เห็นสีเทาเฉดต่างๆ ในโลกความจริง มองไม่เห็นว่ามีทางเลือก ความเป็นไปได้อื่นๆ นอกจาก 2 ขั้วสุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่งเท่านั้น เช่น เหลืองเข้มหรือแดงเข้ม ต้าน คสช.หรือชื่นชมคสช. ฯลฯ การคิดแบบนี้สร้างความขัดแย้งแบบไม่มีทางที่จะทำความเข้าใจ ประนีประนอมแบบให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันได้

วิธีการคิดและคุณภาพของการคิดของมนุษย์ มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมการแก้ปัญหาของมนุษย์ ดังนั้น เรื่องใหญ่ที่สุดคือ เราจะต้องหาทางปฏิรูปการศึกษา อบรมสื่อ การเผยแพร่ความรู้ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณ และคิดอย่างมองการณ์ไกลเพื่อส่วนรวม และคิดแบบเชื่อมโยงมองเห็นทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวมได้ เราจึงจะเข้าใจปัญหารากเหง้าของสังคม หลักการในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปประเทศไทย

เราจะต้องเรียนรู้ วิเคราะห์ สรุปบทเรียน และเลือกสรรความรู้/ประสบการณ์ ของคนอื่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเราแต่ละคน และของประเทศไทยอย่างเป็นตัวของเราเอง ไม่ใช่แค่ลอกมาจากตำรา หรือจำตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีข้อจำกัด รู้เป็นส่วนๆ เน้นเรื่องเชิงเทคนิค และแก้ปัญหาได้เพียงบางเรื่อง

เราจะต้องส่งเสริมให้คนไทย เรียนรู้จักตัวเองและชุมชน รู้จักวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทั้งของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับตัวเราเอง การที่จะทำเช่นนี้ได้ ทั้งรัฐบาลและทุกภาคส่วนในสังคม ต้องเปิดใจกว้างที่จะส่งเสริมให้คนไทยตั้งแต่เยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ แบบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล สำหรับผู้ใหญ่อาจจะยากมาก แต่ก็ต้องพยายามทำ ถ้าเราจะเลือกการปฏิรูปประเทศ แทนที่จะเลือกความตกต่ำถอยหลังมีปัญหาแข่งขันสู้ประเทศอื่นเขาไม่ได้

การคิดอย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณ หมายถึง การกล้าคิดตั้งคำถามต่อทุกเรื่อง กล้าคิดถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีเหตุผล มีหลักฐานข้อมูลยืนยันที่สรุปได้หรือน่าเชื่อถือได้ เป็นความคิดในเชิงวิพากษ์มุ่งแก้ปัญหา สร้างสรรค์ ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ชุมชน และประเทศ

การคิดอย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม น่าจะมีแนวทางดังนี้

1.คิดอย่างใช้เหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์หรือความศรัทธา คิดแบบนักเสรีนิยมที่ใจกว้าง มากกว่าคิดแบบพวกหัวเก่าจารีตนิยม (ยึดมั่นความเชื่อ, ความเชื่อ/ค่านิยมดั้งเดิม ไม่ยอมรับฟังของใหม่) หรือเอาตัวเองเป็นหลัก โดยไม่ตั้งใจฟังเรียนรู้จากคนอื่น เช่น การพัฒนาแนวทางเลือกที่ต่างไปจากแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมกระแสหลัก

2.คิดอย่างพยายามทำตัวให้เป็นกลางแบบวัตถุวิสัย (objective) ตัดหรือลดอคติที่จะเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยอารมณ์หรือศรัทธา พยายามที่จะไม่คิดแบบปกป้องอัตตา (ความเป็นตัวกูของกู) ปกป้องประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ปกป้องความเป็นชาตินิยม ศาสนานิยม ท้องถิ่น วัฒนธรรมนิยม อย่างคับแคบ พยายามที่จะเข้าใจคนอื่น เห็นใจคนอื่น เช่น ประชาชนที่เดือดร้อนจากโครงการของรัฐหรือนายทุน ว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบเขา เราจะคิดและทำอย่างไร

3.คิดอย่างคำนึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว คิดเพื่ออนาคตลูกหลานและคนรุ่นหลัง มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเราหรือกลุ่มเราในปัจจุบัน

4.คิดแบบเข้าใจว่า มนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและระบบนิเวศ เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน รวมทั้งพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติทั้งหมด ดังนั้น เราจึงควรคิดและใช้ชีวิตอย่างประสานกลมกลืน กับสังคมโลกธรรมชาติและสภาพแวดล้อม รวมทั้งธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม ที่อยากร่วมมือกันและอยู่ด้วยกันแบบรวมหมู่ มากกว่าที่จะคิดและทำแบบเอาชนะธรรมชาติ และเอาชนะคนอื่นแบบเห็นแก่ได้ส่วนตัวระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในทางลบต่อส่วนรวมในระยะยาว

5.คิดแบบสร้างสรรค์ แบบเบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสชนะร่วมกัน (win-win, non zero sum game) มากกว่าคิดแบบมุ่งทำลายหรือมองทุกคนเป็นคู่แข่ง ที่ต้องเอาชนะแบบคนชนะได้ทุกอย่าง คนแพ้เสียทุกอย่าง การคิดแบบสร้างสรรค์ คือการหาวิธีแก้ไขปัญหาในแนวอื่นๆ ที่ต่างออกไปจากวิธีเดิมๆ

6.คิดแบบรอบด้าน ไม่ด่วนสรุปอย่างง่ายๆ พยายามคิดให้ครอบคลุมและให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงที่สุด เช่น มองให้สมดุลทั้งด้านบวกและด้านลบ มองปัญหาในมิติต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม แบบเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม พยายามเปลี่ยนวิธีคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง ประเภทไม่ใช่ขาวก็ต้องเป็นดำ ถ้าใครคิดต่างจากเราหรือไม่เข้าข้างเราก็ถือเป็นศัตรู เพราะวิธีคิดแบบนั้นทำให้เราคับแคบ ปิดหนทางที่จะคิดถึงทางเลือกอื่น ทำให้ตัวเองและคนอื่นเครียด สร้างความร้าวฉาน สร้างศัตรู มากกว่าสร้างมิตร

การที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาลมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริวาร ที่พึ่งพาการส่งออกและการค้าขายกับประเทศทุนนิยมอื่นๆ มาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ในการสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา ปัญหาวิกฤติทุนนิยมโลกสูง เราอาจคิดและปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ให้เป็นระบบผสมระหว่างระบบทุนนิยมที่การแข่งขันอย่างเป็นธรรม, มีประสิทธิภาพกับระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และระบบสหกรณ์ ระบบรัฐสวัสดิการ ฯลฯ ทำให้กรรมสิทธิ์ปัจจัยการผลิตที่สำคัญเป็นของชุมชน ที่บริหารแบบสหกรณ์เป็นประชาธิปไตย หรือสร้างการเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณแบบก้าวหน้า ระบบบริษัทแบบที่พนักงานและประชาชนชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน เน้นกระจายทรัพย์สินรายได้ให้เป็นธรรม เน้นการพัฒนาคน ทรัพยากร และตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง เลือกทุนนิยมหรือสังคมนิยมแบบสุดโต่ง

การพัฒนาแนวใหม่นี้ควรมุ่งรักษาระบบนิเวศหรืออนุรักษ์ธรรมชาติสภาพแวดล้อม เลือกการผลิต การบริโภค แบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น เลือกวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เบียดเบียนสรรพสิ่งแบบชาวพุทธ เน้นการพัฒนาเพื่อความสุข ความเป็นมนุษย์ คุณภาพชีวิตที่ดีของคนส่วนใหญ่ นี่คือการปฏิรูปที่แท้จริง ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่การปฏิรูปที่เป็นเพียงโวหารการหาคะแนนนิยมของชนชั้นนำ