ตีมูลค่าของเขื่อนในชวากันอย่างไร

ตีมูลค่าของเขื่อนในชวากันอย่างไร

นี่เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน เราตีราคากันอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง

ยิ่งในภาวะความกลัว "โลกร้อน" ยิ่งต้องคิดให้หนัก ถ้าเราตีราคาเขื่อนได้ เราก็จะทรัพย์สินที่เล็กกว่านี้ได้ครับ

ผมได้รับมอบหมายให้ไปเป็นที่ปรึกษาในโครงการประเมินค่าทรัพย์สินเขื่อน Cirata ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก ที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาด 1,008 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,428 กิกะวัตต์ต่อปี โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยกู้เงินจากธนาคารโลกมาดำเนินการ อยู่ภายในการกำกับของบริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐหรือ PLN Persero ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตาห่างไปประมาณ 123 กิโลเมตร และอยู่ทางตะวันตกของนครบันดุง ห่างไป 56 กิโลเมตร

ในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้โยกย้ายชุมชนต่างๆ รวมแล้วถึง 6,335 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรถึง 56,000 คน ถ้าเป็นในปัจจุบันที่พวกเอ็นจีโอกำลังมาแรง ขัดขวางเรื่องการโยกย้ายถิ่นที่อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าคงจะโยกย้ายได้ยาก แต่จากการมีเขื่อนมาเป็นเวลาถึง 27 ปีแล้ว ปรากฏว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มูลค่ามหาศาล ส่งน้ำไปบำรุงกลายเป็นการชลประทานได้เป็นจำนวนมาก เป็นการพิสูจน์ชัดว่า การมีเขื่อนย่อมดีกว่าที่จะไม่มีเขื่อน

ในการพัฒนาเขื่อนขนาดยักษ์นี้ จึงจำเป็นที่เราจะมีการเวนคืน โดยเราไม่พึงมองเฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มชนหรือ "กฎหมู่" แต่หากประชาชนรายใด กลุ่มใด ได้รับผลกระทบในเชิงลบ เกิดความเสียหาย ก็ต้องชดเชยให้สมกับค่าเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม จะดำเนินการอย่าง "ต่ำช้า" คือจ่ายค่าทดแทนต่ำๆ จ่ายค่าทดแทนช้าๆ ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านจะอ้างความเคยชินหรือความเป็นส่วนตัวในทำนอง "เจ้าคุณปู่สั่งไว้ ให้เกิดที่นี่ตายที่นี่" คงไม่ได้

ต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเงิน 769 ล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียกู้เงินไว้ 279 ล้านดอลลาร์ โดยในเวลานั้น (2531) อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 970 รูเปียต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะที่ปัจจุบันสูงถึง 13799 รูเปียนต่อ 1 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดถึงความคุ้มค่า ก็คงพอๆ กับเขื่อนภูมิพลของไทย ที่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา (2507-2557) ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 27 ล้านคน ผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 342,418.46 ล้านบาท หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรรวมมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านบาท ฯลฯ ดังนั้น การสร้างเขื่อนจึงคุ้มค่ามากในระระยาว (http://bit.ly/1MQw3bG)

ระดับน้ำในเขื่อน Cirata นี้มีความสูงที่ 209-220 เมตร ซึ่งแตกต่างกันเพียง 5% ในปัจจุบันแม้แต่ธนาคารโลกยังหันกลับมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาด และลดโลกร้อนกันแล้ว (http://wapo.st/1kqr6PC) โดยเฉพาะการพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการผลิตไฟฟ้า แม้แต่การผลิตไฟฟ้าด้วยเขื่อนขนาดเล็กก็มีการดำเนินการกันทั่วไป ที่ว่าทั่วโลกรื้อทิ้งเขื่อนจึงไม่จริง ปริมาณเขื่อนที่สร้างใหม่มีมหาศาลกว่าที่ "โพนทะนา" กันว่ามีการรื้อทิ้ง (http://bit.ly/1VYbyDu)

ฝ่ายเอ็นจีโอทำโปสเตอร์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ต้านเขื่อนว่า "เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว" โดยยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐอเมริกายกเลิกเขื่อนไป 65 แห่ง ที่เหลือสวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมนี เวียดนาม และญี่ปุ่น ต่างยกเลิกไป 6, 3, 2, 2 และ 1 แห่ง ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ในฐานะที่ผมรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการเปิดโลกกว้างในหน้าต่างประเทศ ผมจึงขออนุญาตบอกตรงๆ ว่าตัวเลขข้างต้นคือการ "แหกตา" คนไทยโดยแท้

ในปี 2555 มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ถึง 125 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากปี2554 ซึ่งมีโครงการใหม่ 95 แห่ง ยิ่งกว่านั้นยังมีโครงการที่รอการอนุมัติในอีก 45 มลรัฐ รวมไฟฟ้าที่จะผลิตได้ถึง 60,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนราว 7% ในสหรัฐอเมริกาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2,500 แห่ง และอันที่จริงจะสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 15% เมื่อได้ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในอื่นเพิ่มขึ้นอีก 600 แห่ง

ในการประเมินค่าทรัพย์สินใด ๆ โดยเฉพาะเขื่อนในกรณีนี้ เราพิจารณาจากประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

1.ความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งผลิตได้มากตามกำลังผลิต แต่รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งให้ผลิตแต่น้อยโดยผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยเฉพาะถ่านหินบีทูมินัสซึ่งเป็นถ่านหินชั้นดี และมีอยู่เป็นจำนวนมากในอินโดนีเซีย ส่วนน้ำมันก็ไว้เพื่อการส่งออกเป็นหลัก ยิ่งในยามหน้าแล้ง รัฐบาลยิ่งต้องการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการทำน้ำประปา เพื่อการบริโภคในกรุงจาการ์ตา

2. อายุขัยของเขื่อนยาวนานมาก จากการประมาณการคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ 236 ปี โดยน้ำมีระดับสูงสุดที่ 220 เมตร อายุขัยนี้นับแต่การก่อสร้าง เพราะในระยะยาวจะมีการตกตะกอนมากขึ้น ทำให้เก็บน้ำได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะแห้งแล้ง น้ำลดลงเหลือระดับ 205 เมตร จะมีอายุขัยเหลือ 175 ปี ส่วนถ้าในกรณีที่น้ำลดลงเหลือเพียงระดับ 185 เมตร เขื่อนจะมีอายุขัยเพียง 109 ปีเท่านั้น อายุขัยนับร้อยปีเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าของเขื่อนสามารถประมาณการแบบไร้อายุขัยสิ้นสุดเลยทีเดียว

3.เขื่อนยังมีประโยชน์เพื่อการชลประทาน การแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย การประปา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า การอนุรักษ์ป่า ฯลฯ ประโยชน์เหล่านี้สามารถนำมาคำนวณเป็นมูลค่าในระหว่างการประเมินค่าเขื่อนได้อีกด้วย

4.มูลค่าของเขื่อนจึงเท่ากับรายได้สุทธิที่ได้รับ หารด้วยอัตราผลตอบแทน ซึ่งเบื้องต้นคิดจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล โดยไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มักต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกบิดเบือนให้ต่ำมาก ถ่างห่างจากดอกเบี้ยเงินกู้มาก ซึ่งเป็นเพราะธนาคารเป็นธุรกิจ (กึ่ง) ผูกขาด เอาเปรียบผู้บริโภค ในกรณีนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรของอินโดนีเซียอยู่ที่ 8.7% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 3.0-3.5% เพราะเงินเฟ้อต่างกัน

5.เมื่อคิดในแง่ของการก่อสร้างใหม่ก็เช่นกัน หากคิดต้นทุนค่าก่อสร้าง อย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์ (http://bit.ly/1jHwvRs) ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ปี 2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท ตามข้อมูลของกรมชลประทาน ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา หากไม่รีบสร้างในอนาคตจะยิ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล

ในการประเมินค่าทรัพย์สินในรายละเอียดของเขื่อน Cirata ในจังหวัดชวาตะวันตก นอกจากคิดรายได้จากการผลิตไฟฟ้า ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว รายได้จากพื้นที่การเกษตรโดยรอบเขื่อน รวมเป็นเงินสูงถึง 421ล้านดอลลาร์ หากนำน้ำเพื่อการชลประทานมาคำนวณด้วยยิ่งจะมีมูลค่ามหาศาล คุ้มค่าต่อการก่อสร้างเป็นอย่างมาก

นี่เองทั่วโลกจึงยิ่งสร้างเขื่อนกันใหญ่ เพราะมีประโยชน์เอนกอนันต์จริงๆ