เรื่องที่ผู้มีอำนาจอาจไม่เข้าใจ

เรื่องที่ผู้มีอำนาจอาจไม่เข้าใจ

ความด้อยคุณภาพของการศึกษาไทย เป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน

การวิพากษ์อย่างเข้มข้นเกิดขึ้นอีกครั้งหลังรัฐมนตรีใหม่สั่งให้โรงเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ผู้วิพากษ์ทั้งจากวงการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และจากสภากาแฟมักเห็นพ้องต้องกันว่า การออกคำสั่งแบบนั้นเป็นหลักการทำงานของนักบริหารราชการไทย ผู้ออกคำสั่งจะมีความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องหรือไม่ และมีผลการวิจัยสนับสนุนเพียงไรไม่ได้รับความสำคัญ ปัญหาการศึกษายืดเยื้อมานานทั้งที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด เพราะความฉ้อฉลของบุคคลที่เกี่ยวข้อง พวกเขาสร้างระบบขึ้นมาเพื่อเอื้อตนเองและพวกพ้อง มากกว่าเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชน ระบบการศึกษาจึงมี “ผีโม่แป้ง” มากกว่าผู้ที่มีจิตวิญญาณของนักการศึกษาที่แท้จริง

ประสบการณ์จากการเข้าไปคลุกคลีกับวงการศึกษาเป็นเวลาหลายปีชี้บ่งว่า ข้อวิพากษ์เหล่านั้นวางอยู่บนฐานที่มีความเป็นจริงสนับสนุน วันนี้ขอตั้งข้อสังเกตจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์และวันจันทร์ที่ผ่านมา ภาพที่เห็นเป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันจันทร์ ส่วนภาพที่เกิดขึ้นในวันเสาร์คงไม่สมควรที่จะนำมาเสนอ ผู้โดยสารในรถกระบะดัดแปลงและผู้ขับขี่และซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ เป็นนักเรียนของโรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว พวกเขากำลังเดินทางกลับบ้านหลังโรงเรียนเลิกเมื่อบ่ายวันจันทร์ ตอนนั้นผมโดยสารรถตู้ผ่านไปพอดี และมีกล้องอยู่ในมือจึงถือโอกาสจับภาพจำนวนหนึ่งไว้ ประสบการณ์และการอนุมานจากข่าวสารของแหล่งต่างๆ พอสรุปได้ว่า ภาพเช่นนี้มีให้ดูอยู่ทั่วเมืองไทย

เหตุการณ์ในวันเสาร์เกิดขึ้นใกล้โรงเรียนบ้านเขาดิน (แสงสว่างวิทยา) อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เริ่มต้นด้วยนักเรียนชายชั้น ม.2 สองคนของโรงเรียนนั้น ขับขี่และซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์กันไปโรงเรียน เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียน เด็กชายที่ซ้อนท้ายมาจากครอบครัวที่ไม่มีเงินพอซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูก วันนั้นเขาจึงเป็นผู้โดยสารโดยการซ้อนท้ายไปกับเพื่อนเช่นเคย เมื่อถึงโรงเรียนปรากฏว่าเขาลืมอุปกรณ์ที่จะใช้ไว้ที่บ้านและยืมมอเตอร์ไซค์คันนั้นขับขี่กลับไปเอาอุปกรณ์ แต่โชคร้ายเมื่อมอเตอร์ไซค์ปะทะกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้เขาเสียชีวิต

ผมได้รับข่าวของเหตุการณ์นั้นทางโทรศัพท์ จากครูของผู้ตายไม่กี่นาทีก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมกรรมการของมูลนิธินักอ่านบ้านนา ในอีกโรงเรียนหนึ่งซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน (ข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธินักอ่านบ้านนาอาจหาได้ในเว็บไซต์ www.bannareader.com) ผมได้รับข่าวเพราะครูคนนั้นจะเป็นผู้พาพี่สาวของผู้ตายไปรับทุนการศึกษา ที่ผู้มีเมตตามอบให้นักเรียนยากจนผ่านผม พี่สาวของผู้ตายกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.3 ของโรงเรียนเดียวกัน ผมพบเธอเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา เนื่องจากเธอชนะเลิศการประกวดการเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมต้นในอำเภอบ้านนาที่มูลนิธิฯ สนับสนุนอยู่ ผมเรียนรู้ว่าครอบครัวของเธอยากจน จึงได้หาทางช่วยเหลือจนพบผู้มีความเมตตาดังที่อ้างถึง

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพที่นำมาเสนอได้ในวันนี้ และภาพที่นำมาเสนอไม่ได้ คงทราบกันโดยทั่วไปแล้ว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม ภาพการเดินทางไปโรงเรียนเป็นระยะทางไกลๆ โดยรถกระบะดัดแปลงและมอเตอร์ไซค์ คงหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากโรงเรียนมักตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางทางการค้าและการปกครอง แต่ภาพที่ไม่น่าจะมีให้เห็นได้แก่ การเดินทางในแนวเดียวกันของนักเรียนชั้นประถม ซึ่งโดยทั่วไปมีโรงเรียนชุมชนของตนเองอยู่แล้ว

สาเหตุที่เด็กชั้นประถมต้องเสี่ยงตายเดินทางไปเรียนไกลๆ มีหลายอย่างด้วยกัน สาเหตุหลักคือ เราไม่เข้มงวดเรื่องเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการห้ามมิให้ส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนของรัฐบาลนอกเขตพื้นที่ เมื่อชุมชนมีถนนเข้าถึง ผู้ปกครองมักนิยมส่งเด็กไปเรียนในเมือง เพราะเชื่อกันว่าโรงเรียนเหล่านั้นมีคุณภาพสูงกว่า การทำเช่นนั้นยังผลให้โรงเรียนในชุมชนห่างไกลมีนักเรียนน้อยลง เมื่อจำนวนนักเรียนน้อย รัฐบาลก็ส่งครูให้ไม่ครบชั้นเรียน ทำให้ผู้ปกครองมองว่า ไม่น่าส่งลูกเข้าเรียน จำนวนนักเรียนจึงลดลงต่อไปจนในหลายๆ กรณี โรงเรียนถูกยุบสร้างความจำเป็นให้เด็กต้องเดินทางไปเรียนนอกชุมชนของตนเอง

กระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ ที่ครอบคลุมระบบการศึกษาไทย ในสภาพเช่นนี้ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงตายสูงมาก หากชุมชนและประเทศชาติก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงตายสูงด้วย ทั้งจากการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ และจากความอ่อนแอของชุมชน เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ความรู้สึกผูกพันกับชุมชนของตนเอง ในที่สุดอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เมื่อประชาชนขาดความผูกพันกับชุมชนผู้มีอำนาจคงขาดปัญญาที่จะเข้าใจ คุณภาพการศึกษาของไทยจึงเป็นดังเช่นที่เห็นๆ กันอยู่