พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี เพื่อเศรษฐกิจไทยที่มั่นคง

พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี เพื่อเศรษฐกิจไทยที่มั่นคง

เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เอสเอ็มอี (SMEs) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

 ไม่ว่าในด้านกิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการค้าส่งและค้าปลีกและกิจการบริการ อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีของประเทศไทยกลับต้องประสบปัญหาหลายประการ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผนวกกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มในอนาคต ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ประการแรก คือ ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินกิจการ และการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ผู้ประกอบการหลายรายขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ หรือเข้าถึงได้ยาก จึงต้องหันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น

ประการที่สอง คือ ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด อันเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กล่าวคือ ในกิจการบริการส่วนใหญ่จะมีปัญหาในด้านจำนวนคู่แข่งที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับปัญหาด้านอำนาจต่อรองกับซับพลายเออร์ (Supplier) ที่เอสเอ็มอีมีต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

ประการที่สาม คือ ปัญหาผลประกอบการขาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ ซึ่งแม้จะมีศักยภาพในการประกอบการ แต่หากดำเนินการขาดทุนแล้ว ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีไว้ ทำให้เมื่อมีผลประกอบการขาดทุน ก็ไม่สามารถขอคืนภาษีจากภาษีที่ชำระในปีก่อนเป็นเงินสดได้ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ที่มีมาตรการทางกฎหมายภาษีรองรับ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้

ประการสุดท้าย คือ ปัญหาในด้านกฎระเบียบและนโยบายของรัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจจะเคยประสบปัญหาในการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่มีขั้นตอนซับซ้อน ล่าช้า และในบางกรณีก็พบว่า เจ้าหน้าที่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จากปัญหาของเอสเอ็มอีที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าภาครัฐสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเอสเอ็มอีได้ กล่าวคือ ในปัญหาการขาดแคลนเงินทุน รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนในด้านเงินทุน โดยการหาแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในลักษณะเดียวกับที่ภาครัฐจัดตั้งวงเงินเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบถึงวงเงินที่จะปล่อยกู้ วิธีการ ขั้นตอน และเอกสารที่ต้องจัดเตรียมในการติดต่อมาขอกู้

ส่วนในกรณีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการพัฒนาระบบการจัดการด้านการตลาดให้มีประสิทธิภาพ เช่น การให้ความรู้ในการคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย ช่องทางการกระจายสินค้า การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ (Cluster) ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน โดยผู้ประกอบการในกลุ่มกิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการค้าส่งและค้าปลีก และกิจการบริการที่มีลักษณะเหมือนกัน เกี่ยวข้องกันหรือส่งเสริมกันต้องร่วมมือกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

ขณะที่กรณีปัญหาในด้านผลประกอบการขาดทุน รัฐสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยการให้ความรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการ เห็นความสำคัญของการจัดทำระบบบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางการเงิน ในการตรวจสอบผลประกอบการของกิจการ และควรกำหนดมาตรการบรรเทาภาระภาษีแบบหักกำไรย้อนหลัง (Carry-back) ดังเช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการขาดทุน สามารถขอคืนภาษีจากภาษีที่ชำระในปีก่อนเป็นเงินสดไม่เกิน 5% ของรายได้ และเอสเอ็มอีที่ไม่ใช้สิทธิบรรเทาภาระภาษีแบบหักกำไรย้อนหลัง สามารถขยายเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีออกไปได้ 1 เดือน นอกจากนี้ ยังควรยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ 2,500,000 บาท ให้กับผู้ประกอบกิจการเอสเอ็มอี ในช่วง 3 ปีแรก ของการประกอบกิจการ

อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรการยกเว้นดังกล่าว ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน กล่าวคือ อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายใช้การยกเว้นนั้นเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงภาษีก็ได้ จึงต้องพิจารณาโดยรอบคอบในการกำหนดหลักเกณฑ์

ส่วนปัญหาในด้านกฎระเบียบและนโยบายของรัฐ อาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักในการประกอบกิจการเสียทีเดียว เนื่องจากภาครัฐอาจจัดตั้งศูนย์กลางอำนวยความสะดวก โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐให้เสร็จสิ้น โดยมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน (One Stop Service) ซึ่งหน่วยงานนี้จะมีการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานการประกอบการที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอี

จากที่กล่าวมา ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยจุดประกายความคิดให้ภาครัฐมองเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตของเอสเอ็มอี โดยภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ รัฐต้องกำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ และกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการผลักดันและพัฒนาเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และยืนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคง

-----------------------

ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์