หนี้เสียภาคเกษตรเพิ่ม สัญญาณเตือนศก.ไทย

หนี้เสียภาคเกษตรเพิ่ม สัญญาณเตือนศก.ไทย

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า

ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธ.ก.ส.ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 3.38% ในช่วงสิ้นปีบัญชี 2557 เพิ่มเป็น 5.6% ในช่วงสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา และล่าสุดเอ็นพีแอลได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.02% ของสินเชื่อรวมหรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่าจะเป็นระดับที่สูงสุดของปีนี้ โดยเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั่วโลกมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัญหาเอ็นพีแอลภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจอย่างยิ่ง

การเปิดเผยตัวเลขของธ.ก.ส.ยังน่าพิจารณาให้ลึกลงไปอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ ฝ่ายทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเคยเปิดเผยตัวเลขให้เห็นชัดว่ามีจำนวนเท่าไรและผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เราเพียงแต่ประเมินจากอุปโภคบริโภคโดยรวมและตัวเลขสินเชื่อจากภาคการเงินในการประเมินเท่านั้น แต่จากตัวเลขหนี้เสียของธ.ก.ส.ทำให้เราต้องกลับมาคิดกันใหม่

ประการแรก เราต้องไม่ลืมว่าลูกค้าของธ.ก.ส.เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตรทั้งสิ้น และภาคเกษตรถือว่าเป็นฐานใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย แม้ว่ามูลค่าของภาคเกษตรจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรถือเป็นคนหมู่มากและมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ดังนั้นปัญหาหนี้เสียของลูกค้าธ.ก.ส.จึงมีนัยสำคัญมากกว่าผลต่อธนาคารเท่านั้น เพราะอาจเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกและกระทบต่อภาคเกษตรนั้นได้ลงลึกอย่างมากจนทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประการที่สอง หนี้ของภาคเกษตร สะท้อนให้เห็นว่าภาคครัวเรือนนั้นไม่เพียงแค่ภาระหนี้มากเท่านั้น แต่ภาระหนี้ได้เกินกว่ารายได้ของครัวเรือนภาคเกษตร ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเตือนกันมาแล้วว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นจะไม่ส่งผลกระทบมากหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาต่างๆก็จะปรากฏให้เห็นทันทีและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังจะเห็นได้่จากตัวเลขที่ทางการแถลงออกมาในแต่ละครั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของไทยได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงอย่างมาก

รัฐบาลดูเหมือนตระหนักถึงผลกระทบภาคเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมานานตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากด้วยเม็ดเงินมหาศาล แต่จากตัวเลขของธ.ก.ส.ที่ระบุว่าสิ้นเดือนก.ย.นี้ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่างๆของรัฐบาลช่วยอะไรภาคเกษตรไม่มากนัก ซึ่งหากมองในแง่ดีอาจตีความได้ว่ามาตรการเหล่านั้น ยังไม่ลงถึงระดับรากฐานของเศรษฐกิจไทย แต่หากมองในแง่ร้าย ก็อาจกล่าวได้ว่ามาตรการกระตุ้นของรัฐบาลในระดับล่างนั้นไม่ได้ผล

ดังนั้น จากตัวเลขหนี้เสียของธ.ก.ส. อาจทำให้รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณามาตรการต่างๆ อีกครั้งว่าได้ผลหรือไม่ เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นผลที่เกิดขึ้นจริงกับประชาชนในระดับรากฐานของประเทศ ซึ่งอาจเป็นไปได้ในหลายด้าน กล่าวคือ อาจมองได้ว่ามาตรการรัฐบาลมีปัญหาในเชิงปฏิบัติจริง หรือเกิดความล่าช้า หรืออาจมองได้อีกว่ามาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ที่ออกมาทั้งหมดนั้นไม่เพียงพอในการช่วยเหลือภาคเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อมูลที่แน่ชัด ก็สามารถออกมาตรการที่ถูกต้องและตรงกับปัญหา