สร้างคน..อย่างสร้างสรรค์!

สร้างคน..อย่างสร้างสรรค์!

พนักงาน(และทุกคนบนโลกนี้) ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีเรื่องที่ทำได้ดี ที่ทำพอใช้ได้ และเรื่องที่ต้องปรับปรุง ไปจนถึงเรื่องที่ผิดพลาด!

แต่บรรดาผู้จัดการและผู้บริหารทุกระดับจำนวนไม่น้อย คาดหวังว่า..พนักงานโดยเฉพาะลูกน้องของตนเอง จะต้องสมบูรณ์แบบ ไม่มีข้อผิดพลาด และต้องได้ดั่งใจทุกคนหรือแทบทุกคน!

ถ้าเริ่มต้นด้วยการคิดแบบนี้...แค่คิดก็ผิดแล้วครับ!

ลองถามตัวเองดูนะครับ ท่านผู้จัดการและผู้บริหารทุกระดับ...“ตัวท่านเอง สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ สำหรับลูกน้อง สำหรับคนอื่นหรือเปล่า?” ที่ผ่านมาตอนที่ท่านยังเป็นลูกน้อง ท่านผิดพลาดและไม่ได้ดังใจเจ้านายของท่านกี่เรื่องกี่ครั้ง? มาจนถึงปัจจุบัน ท่านก็ยังมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือ?

ก็ในเมื่อโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนไม่มีใครไร้ที่ติ และไม่มีใครไร้ที่ชม....

คำถามก็คือ....

“แต่ละวันที่ผ่านมา (และต่อๆ ไป) ท่านเน้น ติ/ตำหนิ ลูกน้องของท่านเป็นหลัก และบ่นแต่เรื่องนี้ให้คนอื่นฟังใช่หรือไม่?”

และนอกจากติ ตำหนิควบคู่ไปกับการจับผิด(เข้าใจว่าเป็นบทบาทหน้าที่หลักของท่านมั้ง!) ท่านได้แก้ไข หรือทำอะไร “ในเชิงสร้างสรรค์” กับคนที่ท่านตำหนิบ้างหรือไม่!?

เชื่อเถอะครับ “ไม่มีลูกน้องหรือพนักงานคนไหน จะพัฒนาและดีขึ้นได้ ภายใต้การตำหนิอย่างไม่สร้างสรรค์!” แต่มั่นใจได้เลยว่า..“ขวัญกำลังใจ และความสามารถจะตกต่ำลงเรื่อยๆ กับการถูกตำหนิแบบไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการตำหนิและถูกจับผิดที่เต็มไปด้วน อคติของเจ้านาย!”

คำถามถัดไป..“ท่านเคย มองและเห็นข้อดี ของลูกน้องของท่านแต่ละคนหรือไม่?” (หรือมองเห็นแต่ข้อดีไปหมดเฉพาะลูกน้องคนโปรด ส่วนลูกน้องที่ไม่โปรด..ไม่เคยเห็นสิ่งดีๆ เลย!)

บ่อยครั้งมากที่ผมต้องไปฝึก ตั้งแต่ระดับ CEO / ผู้บริหารระดับสูง / ผู้จัดการทุกแผนก ให้ “เปลี่ยนมุมมอง” ที่มีกับลูกน้อง...ให้เลิกมองแบบคาดหวังในสิ่งที่เกินจริง ให้เลิกมองแบบมีอคติ ให้เลิกมองแบบจ้องแต่จับผิด ให้มองมุมใหม่..เราเห็นด้านดีๆ เรื่องใดจากลูกน้องแต่ละคนบ้าง..?

เห็นแล้ว...ควรทำยังไงต่อ เพื่อให้ลูกน้องแต่ละคน รักษาด้านที่ดี ต่อยอดด้านที่ดี จนกลายเป็นจุดแข็งที่สามารถนำมาใช้กับเรื่องงานได้ และยังทำให้ลูกน้องมีขวัญกำลังใจมากขึ้น จากการได้รับความไว้วางใจ ได้รับคำชม(ที่ไม่เกินจริง)

อันที่จริงเรื่องการ “บริหารคน” มีทฤษฎีมากมายจากโลกตะวันตก..แต่โลกตะวันตก กับ โลกตะวันออกแบบไทยๆ “จริตต่างกันมาก!” (ถ้าบริหารคนหลายเชื้อชาติในองค์กรข้ามชาติระดับโลก ก็อาจพอนำทฤษฎีมาปรับใช้ได้)

แต่จะว่าไปแล้ว...บริหารลูกน้องแบบไทยๆ ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรมากมายให้ปวดหัว...

ใช้เพียงแค่ “จิตที่คิดดี” มีความปรารถนาดีที่จะพัฒนา ส่งเสริมลูกน้องแต่ละคนให้ไปได้ดีที่สุด ส่วนคนไหนที่ “ร้ายกาจเกินเยียวยา” ก็ตัดทิ้ง ก็แค่นั้น!

ผมกลับเห็นบรรดาผู้จัดการ ผู้บริหารศึกษา เรียนรู้ เข้าอบรม อ่านตำรับตำราการบริหารคนซะมากมายก่ายกอง..แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถข้ามพ้น “จิตใจที่คับแคบของตนเอง” ไปได้! วันๆเอาแต่คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในเรื่อง ความสมบูรณ์แบบ ในเรื่องที่คิดว่าลูกน้องต้องไม่มีปัญหา หรือมีอคติ จับแต่ผิด ไม่คิดจับถูก...

เมื่อบรรดาผู้บริหารและผู้จัดการเปลี่ยนมุมมอง เข้าใจ “สภาพความเป็นจริงของลูกน้องแต่ละคนแล้ว”...ความคาดหวังที่ผิดๆ ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็น ความมุ่งมั่นที่จะเล็งเห็นด้านที่ดี และพยายามช่วยแก้ไข พัฒนาเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงด้วยความเข้าใจปราศจากอคติ

นอกจากบรรยากาศการทำงานจะดีขึ้น ขวัญกำลังใจของลูกน้องก็ดีขึ้น เรื่องที่ดีอีกเรื่องก็คือ..บรรดาผู้บริหารที่เปลี่ยนมุมมอง ต่างก็จะเข้าใจลูกน้องมากขึ้น ความเครียดความหงุดหงิดงุ่นง่านที่เคยจ้องแต่จับผิดก็หายไป ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น สรุปทุกข์น้อยลงสุขเพิ่มขึ้นทั้งเจ้านายและลูกน้อง!

อย่าเชื่อผม! จนกว่าท่านจะไปลองคิด ลองเปลี่ยนมุมมองในเรื่องลูกน้องของท่าน...พยายามเล็งให้เห็นด้านที่ดี และชมอย่างสร้างสรรค์ ส่วนด้านที่บกพร่องหรือทำผิดพลาดที่ไม่ใช่ผิดซ้ำซากหรือตั้งใจสร้างปัญหา ท่านก็คุยก็พยายามเป็น Coach อย่างสร้างสรรค์ ให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งคำชี้แนะ กระตุ้นให้คิดให้แก้ไขด้วยคำถามอย่างสร้างสรรค์

ไม่นานหรอกครับ ท่านจะพบว่า ทีมของท่าน...จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีอย่างที่ท่านก็คาดไม่ถึง

ย้ำอีกครั้ง...อย่าเชื่อผม จนกว่าท่านจะลองทำ!