โลกและไทยในยุค New Normal (3)

โลกและไทยในยุค New Normal (3)

หลังจากได้เขียนถึงภาวะ New Normal มาแล้ว 2 ตอน โดยชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและไทยมาแล้ว

ในตอนสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในรูปแบบมหากระแส (Megatrend) ที่เป็น New Normal เช่นกัน และจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในอนาคต

โดยใน 5 ปีข้างหน้า แม้ทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยจะขยายตัวช้าและเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ภาคการเงินจะผันผวนขึ้น แต่ก็หาได้ไร้ซึ่งโอกาสในการทำธุรกิจเสียทีเดียว โดยผู้เขียนเห็นว่ามี 4 กระแสหลักที่สามารถเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจต่อไปได้ ได้แก่

กระแสที่หนึ่ง Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยในระยะหลัง เทคโนโลยีที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการปฏิวัติเล็ก ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Transform) การผลิต การทำธุรกิจ รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คน ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต รวมถึง Application ต่างๆ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าหรือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแบบเดิมๆ ได้

เช่น Skype ใช้แทนโทรศัพท์ทางไกล Google และ Wikipedia ใช้ค้นคว้าข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นร้านค้าและตลาดออนไลน์อย่าง eBay Alibaba และ Amazon ที่ทดแทนร้านค้าในรูปแบบเดิม ขณะที่การบริการในรูปแบบใหม่ๆ เช่น Uber และ GrabTaxi ทดแทนแท็กซี่ รวมถึง Airbnb ที่ทดแทนระบบการจองโรงแรมแบบเดิม เป็นต้น

แม้แต่ภาคการเงินเอง ที่ระบบธนาคารในปัจจุบันกำลังถูกคุกคามโดย Fintech หรือธุรกิจขนาดเล็กที่เสนอการบริการด้านการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายบิล การบริหารความมั่งคั่ง รวมถึงเพิ่มช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีไอเดียการผลิตสินค้าใหม่ๆ สามารถระดมทุนผ่านเว็บไซต์ และทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมทุนได้โดยง่าย ทั้งนี้ Fintech เหล่านี้กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสหรัฐ และระดมเงินทุนได้ถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

กระแสที่สอง ได้แก่ Urbanization หรือการขยายตัวของสังคมเมืองในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยตามธรรมชาติของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมและบริการ จะทำให้การอยู่อาศัยของผู้คนเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่ในชนบท ซึ่งบ้านแต่ละหลังห่างไกลกัน ก็หันมาอยู่ใกล้ชิดในลักษณะบ้านจัดสรร หอพัก หรือคอนโดมิเนียมในเมืองมากขึ้น

กระแสที่สาม ได้แก่ การเติบโตเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา ที่มาพร้อมกับ Urbanization ในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ที่จะเคลื่อนเข้าสู่ภาคการผลิตที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ จีนที่ชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 472 ล้านครัวเรือน ในปี 2563 จาก 47 ล้านครัวเรือน ในสิบปีก่อน

กระแสสุดท้าย ได้แก่ กระแสภูมิภาคนิยม (Regionalization) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก ก็ต่อเมื่อประเทศต่างๆ มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดยประเทศที่ระดับความเจริญต่ำกว่า ก็จะนำเข้าสินค้า บริการ และเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศที่เจริญกว่า ขณะที่ประเทศที่เจริญจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการ นำเข้าวัตถุดิบและทรัพยากร แรงงาน รวมถึงการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของประเทศแถบอินโดจีนหรือ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)

เมื่อผสาน Megatrend ทั้งสี่ จึงขอนำมาสู่ข้อแนะนำในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้เขียนขอเสนอสินค้าและบริการ 6 แนวคิด แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ตามชื่อย่อ AH-BRUDT

กลุ่มแรก ได้แก่ AH-B ที่มาจากแนวคิด Aging Society (สังคมสูงวัย) และ Health and Beauty (สุขภาพและความงาม) โดยกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากสังคมสูงวัย ที่มักคำนึงถึงสุขภาพและการมีอายุยืนยาวมากขึ้น นอกจากนั้น รายได้ของชนชั้นกลางในเมืองที่สูงขึ้น รวมถึงการที่สุภาพสตรีสามารถทำงานนอกบ้านและมีรายได้มากขึ้นนั้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เห็นได้จากทิศทางของโลก ที่มูลค่าการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์เติบโตถึงกว่า 4-5% ต่อปี อย่างต่อเนื่องในช่วง 7-8 ปีหลัง ขณะที่เมื่อพิจารณาในประเทศไทย จะเห็นว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสุขภาพและความงามมีมากขึ้น และมียอดจำหน่ายสูงขึ้น ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย เครื่องดื่ม อาหาร แพทย์ปัจจุบันและทางเลือก คลินิกความงาม รวมถึงการประกันสุขภาพและการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง ได้แก่ R&U ที่มาจาก Regionalization และ Urbanization อันได้แก่ กระแสการรวมกลุ่มในภูมิภาค และกระแสผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองที่สูงขึ้น ทำให้การเติบโตของชนชั้นกลางทั้งใน CLMV และในหัวเมืองในประเทศไทยเองมีมากขึ้น เห็นได้จากรายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศเหล่านี้ ที่ขยายตัวถึง 36-67% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม AEC เนื่องจากภาษีนำเข้าที่ลดลง จะยิ่งทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง จึงเป็นเหตุให้การค้าผ่านแดนของไทยไปยังกลุ่ม CLMV เติบโตถึงกว่า 10% ในปีนี้ แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ หดตัวลงก็ตาม

ขณะเดียวกับ การเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย เช่น ตะวันออก ใต้ เหนือ และอีสานนั้น อยู่ที่ 3.4-11.8% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของรายได้ต่อหัวของชาวกรุงเทพมหานครที่ 3.3% ต่อปีทั้งสิ้น ทำให้สินค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง แต่ราคาย่อมเยาขายดีในหัวเมืองใหญ่

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่ D&T หรือ Digital and Technology อันเป็นผลจากกระแส Disruptive Technology ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลก และพลิกโฉมการทำธุรกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาว Gen Y หรือผู้ที่มีอายุ 15-35 ปี ที่เป็นวัยทำงานยุคใหม่และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดี ชอบเข้าสังคม ตัดสินใจบนข้อมูล ช่างเลือก และมีความรู้ทางการเงินสูงกว่าคนรุ่นก่อน

ดังนั้น สินค้าที่เข้าถึงต้องใช้ระบบการตลาดที่มีความครอบคลุม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มีพื้นที่ให้แสดงความเป็นตัวต้น (เช่นสามารถ Selfie ลงใน Facebook และ Instagram ได้) มีทำเลที่ตั้งสะดวกต่อการคมนาคมสาธารณะ หรืออาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านแต่ขายในสื่อออนไลน์ มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเชื่อมโยงกับออนไลน์ นอกจากนั้น อาจสามารถระดมทุนในรูปแบบแนวคิดใหม่ๆ เช่น Crowd-funding และ peer-to-peer lending ที่ระดมทุนจากมวลชนหรือผ่านช่องทางใหม่ๆ ก็เป็นได้

โอกาสในการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่มาถึงแล้ว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมหรือยังที่จะขี่ AR-BRUDT ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ในครั้งนี้