LPG ขายเกินราคา!

การปรับโครงสร้างราคา LPG เมื่อต้นปี 2558 ทำให้ภาคประชาชนเริ่มเบนความสนใจมาสู่ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจริง

เมื่อส่งถึงบ้าน แต่ดูเหมือนยังมีความสับสนในกลไกโครงสร้างใหม่อยู่ด้วย

ก่อนอื่นฝ่ายที่ทำหน้าที่ คุ้มครองผู้บริโภคควรจะทราบว่า การกำกับดูแลราคา LPG นั้นมี 2 ส่วน

1.ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงาน ที่เป็นโครงสร้างราคาตั้งแต่ระดับผลิต-จัดหา ถึงขายส่ง ณ คลังก๊าซ ซึ่งได้ปรับโครงสร้างโดย “คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน” (กบง.) และประกาศเป็นราคาอ้างอิงในเว็บของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทั้งนี้ “ราคาค้าปลีก (Retail)” และ “ค่าการตลาด” เป็นเพียงประมาณการ เพราะ กบง.มิได้มีอำนาจบังคับ

2.อีกส่วนคือ ราคาที่ถึงตัวผู้บริโภคซึ่งอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ คือ “คณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” (กกร.) ซึ่งออกประกาศ “ราคาขายปลีกแนะนำ” สำหรับ LPG ในถัง 15 ก.ก. ที่ร้านค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี โดยรวมค่าส่งในรัศมีไม่เกิน 5 กม.จากร้านจำหน่าย และไม่มีการขนขึ้นบนอาคารสูง (ในทางปฏิบัติหากส่งเกินพิกัด ก็สามารถคิดค่าบริการได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล)

ทุกครั้งที่มีการปรับราคาค้าปลีกโดย กบง. ก็จะมีการออกประกาศโดย กกร.ตามมาลงนามโดยเลขาธิการ คืออธิบดีกรมการค้าภายใน เช่น เมื่อ กบง.ลดราคา LPG ลง 1 บาท/ก.ก.ตั้งแต่ 4 ส.ค.2558 ราคาค้าปลีกอยู่ที่ 22.96 บาท/ก.ก.(344.4 บาท/ถัง 15 ก.ก.) ลดลง 15 บาท/ถัง กกร.ก็ออกประกาศ “ราคาแนะนำ” ใหม่ ให้จำหน่าย LPG ราคาถังละ 380 บาท จากเดิม 395 บาท หรือในครั้งล่าสุด ที่ กบง.ลดราคา LPG ลง 0.67 บาท/ก.ก.ทำให้ราคาค้าปลีกลงมาอยู่ที่ 22.29 บาท/ก.ก. (334.35 บาท/ถัง) ลดลง 10 บาท/ถัง กกร. ก็ประกาศ “ราคาแนะนำ” ลดลงเป็น 370 บาท/ถัง ตั้งแต่ 10 ก.ย.2558

ทั้ง 2 กรณีแสดงว่า ราคาแนะนำของ กกร.สูงกว่าราคาขายปลีก สนพ.อยู่ 35.6 บาท/ถัง หรือ 2.37 บาท/ก.ก.นอกเหนือจากค่าการตลาด 3.2566 บาท/ก.ก.ตามโครงสร้างของ สนพ.

สันนิษฐานได้ว่า กกร.รับฟังคำร้องเรียนของ “สมาคมผู้ค้าปลีก LPG” ว่า “ค่าการตลาด” 3.2566 บาท/ก.ก.ในโครงสร้าง สนพ.ที่ใช้มากว่า 10 ปีแล้วนั้น ไม่เพียงพอ แต่หน่วยราชการทั้งสองก็ควรให้ความชัดเจนต่อสาธารณะว่า แต่ละส่วนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? ถ้าไปขนเองจากร้านจะได้ลดเท่าไร?

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดพบว่ามีการจำหน่าย LPG บรรจุถังโดยมิได้ติดป้ายแสดงราคา (และค่าบริการส่งถึงสถานที่) หรือจำหน่ายสูงกว่าราคาที่แสดง หรือจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีทั้งโทษปรับและจำคุก ให้แจ้งที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

ตัวอย่างความผิดที่เคยมีการลงโทษ อาทิ การบรรจุก๊าซในถังเพียง 12-13 กิโลกรัม (แทน 15 ก.ก.) ซึ่งร้านค้าได้ถูกปรับและโรงบรรจุก๊าซที่เกี่ยวข้อง ก็ถูกตรวจสอบว่าได้กระทำผิด พ.ร.บ.ชั่งตวงวัดหรือไม่ (ตามข่าว 7 ส.ค.2558) ทั้งนี้ ประชาชนควรตรวจสอบพลาสติกที่ปิดหัววาล์วบนถังก่อนทุกครั้ง หากมีการแกะหรือรอยฉีกขาดก็ให้แจ้งมาที่ 1569

นั่นเป็นเรื่องของราคาส่วนที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ ใครที่จ่ายสูงกว่าราคาประกาศ กกร.สามารถแจ้ง 1569 และติดตามผลการตรวจสอบว่าสมเหตุสมผล หรือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล ปรากฏว่ามีการเข้าใจผิด อาจจะสับสนตัวเลข หรือสับสน ในหลักการ

ตั้งแต่ ก.พ.2558 กบง.ได้ปรับโครงสร้างราคาตั้งต้นของการใช้ LPG ทุกชนิดให้เป็นราคาเดียวกัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยตามน้ำหนักของต้นทุนจาก 3 แหล่งจัดหาหลักๆ ได้แก่ โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน และนำเข้า ซึ่งใช้ราคา CP หรือราคาตลาดที่ซาอุดิอาระเบีย บวกด้วยค่าขนส่ง 85 ดอลลาร์/ตัน โดย กบง.มีการประชุมเพื่อพิจารณาโครงสร้างราคาและอัตรากองทุนน้ำมันทุกเดือน อนึ่ง ยังมีแหล่งที่ 4 ที่น้ำหนักเพียงประมาณ 1.5% คือแหล่งลานกระบือ (ปตท.สผ.) ที่เพิ่มเข้าไปตั้งแต่ เม.ย.2558

ดังนั้น ราคาต้นทุนในโครงสร้าง สนพ.จึงเป็นค่าเฉลี่ยดังกล่าว ซึ่งปกติแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน ในช่วง 2551-ต.ค. 2558 ราคานำเข้าโดยเฉลี่ยสูงกว่าราคา ณ โรงแยกก๊าซประมาณ 140% แต่ในช่วงที่ราคาตลาดโลกลงเร็วมาก อย่างกรกฎาคมและกันยายนที่ผ่านมา ราคานำเข้าต่ำกว่าราคา ณ โรงแยกก๊าซเล็กน้อย เพราะราคาในตลาดโลกลดลงมากอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาวัตถุดิบของโรงแยกก๊าซจะลดลงช้ากว่า แต่พอมาเดือนต.ค.2558 ราคานำเข้ากลับมาสูงกว่าราคา ณ โรงแยกก๊าซ และมีแนวโน้มจะสูงกว่ามากขึ้นอีกในเดือนพ.ย.

หากจะมองแยกทีละตัว ก็ต้องไม่บิดเบือนการเปรียบเทียบโดยนำราคา CP มาเทียบกับราคา ณ โรงแยกก๊าซ โดยไม่บวกค่าขนส่งจากตะวันออกกลาง ทำให้เกิดภาพลวงในช่วงสั้นนั้นๆ ว่าราคา ณ โรงแยกก๊าซสูงกว่าตลาดโลกมาก

หากจะไม่ใช้ราคาเฉลี่ย แต่จะเลือกใช้ราคาตัวใดตัวหนึ่งเฉพาะเวลาที่ตัวนั้นต่ำที่สุด ก็ต้องมองในแง่ความเป็นจริงว่า ควรใช้กลไกตลาดให้แหล่งผลิต-จัดหาต่างๆ แข่งขันกันจริงๆ หรือไม่? จะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้ประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากกว่าไหม? ไม่ใช่จะเอาแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

หมายเหตุ : ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ขององค์กรใด