เกาะลันตา กับการผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (2)

เกาะลันตา กับการผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (2)

จากตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมประจำถิ่น ของพื้นที่ของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ทั้งเรื่องของ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตที่น่าสนใจทั้ง 5 ชุมชน คือ บ้านร่าหมาด ศรีรายา โต๊ะบาหลิว เกาะปอ และทุ่งหยีเพ็ง แต่ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจในพื้นที่แห่งนี้ยังมีอีกมาก จึงนำมาเสนอต่อในตอนที่ 2 ที่จะเจาะลึกไปถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เราเรียกได้ว่า “พหุวัฒนธรรม” ในพื้นที่แห่งนี้

ความหมายของวัฒนธรรม ในทางวิชาการ มักมองว่า วัฒนธรรมเป็นระบบคุณค่า ระบบความหมาย ระบบความคิด ที่คนในพื้นที่หรือในดินแดนหนึ่งมีอยู่ร่วมกัน เช่น ในประเทศไทยต้องมีระบบคิด ระบบความหมาย คุณค่า ทุกอย่างเหมือนๆ กัน ดังนั้น การมองในลักษณะนี้เป็นการมองที่ ตายตัว หยุดนิ่ง คล้ายๆ ว่าเป็นแก่นแท้ แต่ในทางมานุษยวิทยา ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมที่มีลักษณะสัมพันธ์ (Cultural Relative) ซึ่งหมายความว่า ต่างคนต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองที่แตกต่างกัน ซึ่งความคิดเช่นนี้ช่วยให้เราลดความมีอคติต่อกัน รวมทั้งการดูถูกดูแคลนระหว่างวัฒนธรรมลงไปได้บ้าง (อานันท์ กาญจนพันธ์, 2551)

ความเป็น พหุวัฒนธรรม ได้ถูกยอมรับและถูกพูดกันอย่างมากในวงวิชาการ และสังคมการเมือง โดยเฉพาะสังคมตะวันตก ที่ได้ถกเถียงเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในแนวความคิดเสรีนิยม และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (อานันท์ กาญจนพันธ์,2551) ซึ่งอธิบายได้ว่า ความคิดแบบเสรีนิยม จะเชื่อว่า ปัจเจกทำคนเท่าเทียมกันหมด โดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์ เพศและศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้ยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม บนพื้นฐานอิสรภาพ เสรีภาพ นักคิดในแนวนี้เน้นให้เห็นว่า มีความซับซ้อนของพหุวัฒนธรรม ที่มีมุมมองเรื่องลักษณะลูกผสมทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์เชิงซ้อน ดังนั้น แนวความคิดนี้ จึงมองวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและเลื่อนไหลได้

สำหรับ ความคิดแนวหลังสมัยใหม่ จะเน้นลักษณะลูกผสมทางวัฒนธรรม โดยชี้ให้เห็นว่า อัตลักษณะสามารถซ้อนทับกันได้ ซึ่งทำให้คนสามารถเป็นสมาชิกหลายๆ ชุมชนได้ ไม่ต้องผูกติดกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ตายตัว ดังที่ พอล กิลรอย (Paul Gilroy) ได้เสนอว่า ความเป็นชาติพันธุ์เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่ไม่มีวันจบสิ้น

เมื่อกล่าวถึงความโดดเด่นในเชิงของวิถีการดำเนินชีวิต (The way of life) ของชาวชุมชนในเกาะลันตา ภายใต้สังคมที่เรียกว่า พหุวัฒนธรรม (multiculturalism) ต้องเข้าใจเกี่ยวกับฐานคิด 3 แนวคิดที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ ที่เป็นการอยู่ร่วมกันของคน 4 เชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวไทยมุสลิม ที่นับถือศาสนาอิสลาม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) หรือชาวอูรักลาโว้ย ที่นับถือผีบรรพบุรุษ ท่ามกลางจารีตประเพณีที่แตกต่างกันนี้ ชาวชุมชนเกาะลันตา มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ให้การยอมรับในความแตกต่าง และหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (subculture) อย่างลงตัว ทั้งเรื่องของพิธีกรรม ภาษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมการท่องเที่ยวทางประเพณี ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอัตลักษณ์ที่มีให้เห็นได้อย่างชัดเจน อันเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ควรค่าแก่การมาเยือนยิ่งนัก

โดยผลผลิตจากงานวิจัยนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ และความโดดเด่นของพื้นที่พหุวัฒนธรรมแห่งนี้ เป็นผลการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีผู้อำนวยการแผนงาน คือ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ จากหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีความพยายามและความตั้งใจจริงที่จะพัฒนา และสร้างสรรค์ผลงานวิจัยนี้

ในฐานะที่ผู้เขียน ด้านหนึ่งของการทำงาน คือ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งคือ นักวิจัย ที่ได้มีโอกาสร่วมงานวิจัยกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ในฝ่ายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องรับผิดชอบด้านการผลักดันผลผลิตการวิจัยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้การเดินทางไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลผลผลิต ที่เกิดจากการวิจัยในจังหวัดต่างๆ ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวมีหลายต่อหลายครั้ง แต่ละจังหวัดแต่ละสถานที่ย่อมมีความเหมือนที่สอดคล้อง และความต่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่น่าค้นหา

ผลงานวิจัยในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ สกว.ให้ทุนสนับสนุนในแต่ละปี แต่ละโครงการ มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงผลผลิต (output) และเชิงผลลัพธ์ (outcome) ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงเป็นแนวทางสำคัญในระดับนโยบายของประเทศด้วย จากผลงานวิจัยตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ได้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการผลักดันและสนับสนุนผลผลิตที่เกิดจากการวิจัยของนักวิจัย ให้ไปสู่การนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ นำมาซึ่งการพัฒนาในพื้นที่ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และความยั่งยืนในอนาคต ผลงานที่โดดเด่นได้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

งานวิจัยที่เป็นงานโดดเด่นของ สกว.ยังมีอีกมากที่จะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจ อันเป็นการท่องเที่ยวที่ผสมผสานไปด้วยความรู้ เรื่องราวที่น่าค้นหา และควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือน ซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

-----------------------

อาจารย์ฉัตรฉวี คงดี

อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น