อองซานซูจีกับคำถาม : ใครจะเป็นประธานาธิบดี?

อองซานซูจีกับคำถาม : ใครจะเป็นประธานาธิบดี?

อองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD ของพม่ายืนยันล่าสุด

ว่าเธอจะเป็นคนตั้งประธานาธิบดี หลังจากได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนอย่างท่วมท้น

จะตั้งใคร?

เธอบอกนักข่าวที่ซักเธอว่า ดิฉันไม่บอกคุณหรอก

อองซานซูจีชนะเลือกตั้งท่วมท้นแล้ว เธอจะเดินหน้าตั้งรัฐบาลอย่างไร? วันก่อน เธอให้สัมภาษณ์นักข่าว Washington Post ที่ถามว่าเธอและพรรค NLD ของเธอจะทำงานกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลมินอ่องหลายได้ไหม?

เราทำงานกับใครก็ได้ ถ้าเราจะตั้งรัฐบาล เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำงานร่วมกับทหาร... คือคำตอบของเธอ สะท้อนว่าเธอต้องการจะสร้างรัฐบาล ปรองดอง” ที่ไม่กดดันทหารให้กลับไปอยู่ในกรมกองทั้งหมด

ถามว่าจะนัดพบผู้นำทหารเมื่อไหร่? เธอบอกว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กับ นายพลมินอ่องหลายได้บอกว่าจะพบกับเธอหลัง กกต. ทำงานเสร็จแล้ว ไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอย่างไร

ไม่ได้กำหนดวันหรือ? “เปล่า ยังไม่ได้กำหนดวัน ดิฉันเดาเอาว่านั่นหมายความว่าพวกเขาจะรอ 45 วัน แปลว่ายังไม่มีอะไรชัดเจนนัก”

เธอกลัวว่าเหตุการณ์จะเหมือนปี 1990 หรือไม่ (เลือกตั้งเสร็จแล้วทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จับเธอกักบริเวณ 20 ปี)?

อองซานซูจีตอบ: “ปีนี้ไม่ใช่ 1990 การสื่อสารดีมากแล้ว และประชาชนก็มีความตื่นตัวอย่างยิ่ง ในการที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น”

เธอบอกว่าในรัฐบาลใหม่ เธอจะมีบทบาท เหนือประธานาธิบดี แปลว่าอะไร?

“ดิฉันไม่เห็นว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะน่าพิสมัยตรงไหน สิ่งที่เราต้องการคือโอกาสที่จะทำงานให้ประเทศชาติ และจริง ๆ แล้วไม่ว่าดิฉันจะถูกเรียกขานว่าประธานาธิบดี หรืออะไรอื่นก็ไม่มีความสำคัญ...

แต่ถ้าหากมีการประชุมสุดยอดของระดับหัวหน้ารัฐบาลของอาเซียนหรือการประชุมอื่นๆ เขาก็คงต้องการให้คุณไปร่วมประชุมไม่ใช่หรือ?

ดิฉันจะไป ดิฉันจะไปกับประธานาธิบดี และเขาก็สามารถนั่งข้างๆ ดิฉันได้...

เธอคิดว่าทหารจะยอมแก้รัฐธรรมนูญให้เอาประเด็น ที่ทำให้เธอไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีออกได้ไหม?

“พวกเขาอาจไม่แก้ทันที เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา”

 ถามว่าเธอจะเป็นประธานสภาไหม? ซูจีบอกว่าเธอจะเป็นคน บริหารรัฐบาล...และดิฉันคิดว่านั่นก็น่าจะพอแล้ว”

ถามว่าเธอมองปัญหาโรฮิงญาอย่างไร?

“ใช่ นั่นเป็นปัญหา ดิฉันไม่ปฏิเสธ แต่ดิฉันสงสัยว่าทำไมพวกเขา (ประชาคมโลก) จึงคิดว่าประเทศนี้ไม่มีปัญหาอื่นแล้วหรือ ...เราคุยถึงเรื่องข้อตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย ทั้งหมดมี 17 กลุ่มที่ควรจะต้องลงนาม แต่ถึงวันนี้แค่ 8 กลุ่มเท่านั้นที่ลงนามแล้ว ดิฉันคิดว่านั่นก็น่าจะเป็นปัญหาด้วย...”

ถามว่าเธอมีความเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาหรือไม่?

ดิฉันเห็นใจคนทั้งหลายที่เผชิญความทุกข์ในโลกนี้ ไม่เพียงแต่ในพม่าเท่านั้น

นักข่าวถามว่าบางคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลพม่าปัจจุบันสนับสนุนพระที่แนวคิดสุดขั้วเช่นกลุ่ม Ma Ba Tha ที่โจมตีคนมุสลิมและทำให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติระหว่างการหาเสียง เธอมีความเห็นอย่างไร?

ซูจีตอบว่าระหว่างหาเสียง พรรคของเธอถูกโฆษณาชวนเชื่อทางศาสนาใส่ร้ายมากมาย ทางพรรคได้ยื่นคำร้องเรียน และในบางเขตก็ได้แจ้งความกับตำรวจด้วย

นักข่าวบอกว่า Ma Ba Tha บอกว่าถ้าใครลงคะแนนให้พรรค NLD ก็จะทำลายความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์พม่า และคนมุสลิมจะครอบงำประเทศพม่า เธอมีความเห็นอย่างไร?

ซูจีตอบ “ใช่ พูดอย่างนั้นผิดแน่นอน และละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าศาสนาต้องไม่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นเลย”

อองซานซูจีรู้ว่างานข้างหน้าหนักหนาสากรรจ์นัก และดูเหมือนเธอตระหนักว่าจะต้องสร้างความปรองดองไม่เฉพาะกับทหารเท่านั้น แต่จะต้องสานสัมพันธ์กับชาติพันธุ์ทั้งหมด 17 กลุ่มและทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาทั้งหลายเพื่อจะได้นำประเทศเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ทุกคนต่างกำลังรอว่า นโยบายพลิกโฉมเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงของ ผู้นำประเทศพม่าที่ชื่ออองซานซูจีที่มีผู้ช่วยเป็นตำแหน่ง ประธานาธิบดีมีรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์อนาคตของพม่าอย่างไร

หวังว่าคงไม่ต้องรอวันที่เธอก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศสูงสุด ในเดือนมีนาคมอย่างเป็นทางการ

เพราะคะแนนเสียงล้นหลามสำหรับ NLD คราวนี้เป็นการยืนยันว่าประชาชนคนพม่าส่วนใหญ่ต้องการเธอมาบริหารประเทศ

แต่เนื้อหาแห่งนโยบายเป็นอย่างไร อองซานซูจียังต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ท่ามกลางความคาดหวังที่สูงมากเหลือเกิน