นวัตกรรม “ทำไม” ต้องทำ

นวัตกรรม “ทำไม” ต้องทำ

ค​​วามสำเร็จของ Apple หรือ P&G หรือ Toyota ไม่ได้เกิดจากความมหัศจรรย์ แต่มาจากการปฏิบัติตามขั้นตอนสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมอย่างเคร่งครัด

ลองถามตัวของคุณดูว่ามียังมีข้อสงสัยอะไรในใจเกี่ยวกับความสำคัญของนวัตกรรมหรือไม่คุณรู้สึกว่านวัตกรรมมีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัทของคุณหรือไม่ แล้วบางทีคุณอาจรู้สึกว่ากระบวนการของนวัตกรรมเป็นเรื่องยากที่จะจัดการ แน่นอนมันมีความเสี่ยง มีค่าใช้จ่ายที่สูง และที่สำคัญคาดเดาไม่ได้(ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น)  ผู้นำบางคนมองนวัตกรรมไปที่บริษัทชั้นนำต่างๆ อาทิ Apple หรือ P&G และคิดว่า "เราไม่ได้มีคนหรือทรัพยากรเช่นบริษัทชั้นนำทั้งหลายเหล่านี้ เราคงไม่สามารถทำอะไรที่มีความวิเศษแปลกใหม่ได้"

 

แต่ความจริงก็คือ ค​​วามสำเร็จของ Apple หรือ P&G หรือ Toyota ไม่ได้เกิดจากความมหัศจรรย์ แต่มันเป็นเพราะพวกเขาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมอย่างมีระเบียบวินัยและเคร่งครัดต่างหาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทของคุณหรือแม้แต่บริษัทใดๆก็ตาม คือการเริ่มต้นจากแนวทางที่เป็นระบบ และใช้เครื่องมือที่ดีที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณจัดการกับความเสี่ยงขนาดใหญ่และโอกาสที่องค์กรของคุณต้องเผชิญ หากแต่ระบบที่ดีจะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แทนที่จะปิดกั้นและให้ทำตามมาตรฐานอย่างเดียวเท่านั้น

 

ไม่ว่าจะมีการวางแผนงานที่ดีอย่างไร ก็ได้แค่เท่าที่ศักยภาพและความสามารถจะทำได้ และความสามารถที่จะทำก็ขึ้นกับชุดความคิดที่อยู่ในหัวของผู้บริหาร โชคไม่ดีนักที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ขาดทั้ง 2 สิ่งคือ ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรม และชุดความคิดที่จะทำมันให้ได้ จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่องค์กรทั่วไปจะไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าทำไม Google Starbuck หรือ Nike จึงสามารถทำให้องค์กรของตัวเองโดดเด่นออกมาจากบริษัทอื่น สิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามก็คือ “ทำไม” บริษัทเหล่านี้จึงทำได้ดี และเขาทำอะไรบ้างที่บริษัทอื่นไม่ได้ทำ

 

มีสองประเด็นสำคัญที่ทำให้องค์กรทั่วไป ไม่สามารถสร้างสรรค์หรือพัฒนานวัตกรรมได้ ประการแรกคือ ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (Nature of today’s change) ที่ทำให้หลายบริษัทต้องติดอยู่กับที่ใดที่หนึ่งจนไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่นวัตกรรมได้ และประการที่สองคือ ชุดความคิด (mindset) ของผู้บริหารระดับสูง ในการที่จะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้

 

ขอชวนให้เราคิดตามเพื่อหาคำตอบของคำว่า “ทำไม” และตามมาด้วยหนทาง (Solutions)  จากการตั้งคำถามง่ายๆพื้นฐาน 5 คำถาม (5W1H) เพื่อที่ว่าเราจะทำความเข้าใจถึงเหตุและผลของการปรับเปลี่ยน มาสู่การสร้างสรรค์คุณค่าและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยตัวอย่างคำถามและคำตอบดังกล่าว ประกอบด้วย

 -ทำไม (Why innovate) คำถามง่ายๆนี้ ที่ทำให้เราต้องไปทบทวนตรวจสอบกลยุทธ์ขององค์กรว่าให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากพอหรือไม่ เพราะว่าจุดประสงค์หลักของนวัตกรรมคือ ให้แน่ใจว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรจะไม่สามารถจะอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในวิถีแบบเดิมๆ หากแต่ต้องสร้างความแตกต่าง และเพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวเอง

-อะไร (What to innovate) เพื่อที่จะชี้ให้ชัดว่ามีสิ่งใดบ้างที่เราต้องสร้างสรรค์ พัฒนา และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด อะไรที่มีนัยสำคัญต่อการแข่งขันทางธุรกิจ

-อย่างไร (How to innovate) แล้วเราจะทำมันด้วยขั้นตอน วิธีการ หรือกระบวนการอย่างไร คำถามนี้จะช่วยเราพิจารณาถึงกลไกในเชิงระบบ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นให้ได้

-ใคร (Who to innovates) มีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้นำ (innovation leader) ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทาง เป้าหมาย และวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ ผู้สร้างสรรค์ (innovation geniuses) ที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความคิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด มีไอเดียใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ และผู้สนับสนุน (innovation champion) ผู้บริหารที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และทำให้ความคิดใหม่ๆต่างๆเกิดเป็นจริงได้ในที่สุด

-ที่ไหน (Where we innovates) คำถามนี้ช่วยให้เราบ่งชี้ถึงสิ่งที่จำเป็นต้องมี ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรม และคำถามสุดท้าย

-เมื่อใด (When) ถ้าเราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงคือแรงขับดันสำคัญ และเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมใด มีการเปลี่ยนแปลงเร็วช้าแค่ไหน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างไร เราจะตอบคำถามนี้ได้ดี สำหรับในหลายอุตสาหกรรมทุกวันนี้ “Now หรือเดี๋ยวนี้” คือคำตอบ

 

แม้ว่าจะมีผู้ให้คำนิยามและความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” ไว้หลากหลายมากมาย แต่ถ้าสังเกตให้ดีถึงวลี หรือประโยคที่มีการนำคำว่า “innovation”ไปใช้ในที่ต่างๆ เราอาจพอจำแนกถึงนัยสำคัญของคำนี้ได้เป็น 3 กรณี ดังนี้

(1)  นวัตกรรมเป็นกระบวนการ – Innovation is a process, and

(2)  นวัตกรรมเป็นผลลัพธ์ – it is a result, and

(3)  นวัตกรรมเป็นคุณลักษณะ – it is an attribute.

 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวถึงนิยามและความหมายของนวัตกรรมทั้ง 3 ด้านได้ด้วยประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆง่ายๆว่า Innovation produced an innovative innovation. หรือกระบวนการเชิงนวัตกรรมก่อให้เกิดผลเชิงนวัตกรรมที่มีคุณลักษณะทางนวัตกรรม ซึ่งอาจขยายความเป็นประโยคให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า

 

“The innovation process resulted in an innovation artifact that has innovative qualities.”

 

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมจะมาจากความคิดใหม่ ความคิดที่ไม่เหมือนใคร หรือความคิดที่ยังไม่มีใครคิดมาก่อนก็ตาม แต่ถ้าไม่ทุ่มเทมากพอที่จะนำความคิดนั้นมาสร้างให้เกิดคุณค่าและใช้การได้จริง ย่อมไม่เกิดผลใดๆ