รัฐวิสาหกิจ ไม่จำเป็นต้องขาดทุน

รัฐวิสาหกิจ ไม่จำเป็นต้องขาดทุน

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านคงได้เคยเห็นข่าวคราวของรัฐวิสาหกิจของไทย ที่กำลังเข้าสู่ภาวะขาดทุน

ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนส่ง หรือกระทั่งกิจการโทรคมนาคม ทั้งที่ในอดีต กิจการเหล่านี้ ล้วนมีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ และบางราย ยังเคยได้รับการชื่นชมจนติดอันดับโลก แต่ในปัจจุบัน ยังคงมองไม่ออกถึงหนทาง ที่กิจการเหล่านี้จะกลับไปยิ่งใหญ่เช่นเดิม หรือแม้กระทั่งจะอยู่รอดได้อย่างปีต่อปี จนเกิดเป็นความกังวลถึงผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ ที่ต้องมาแบกรับการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และอนาคตของบุคลากร ที่มีคุณภาพอีกหลายหมื่นครอบครัว ที่ยังคงปราศจากความแน่นอน

แต่ถึงกระนั้น รัฐวิสาหกิจที่ต้องขาดทุน อาจเป็นลักษณะจำเพาะของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องมีการแข่งขัน อย่างเช่นกิจการโทรคมนาคม เพราะในต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจมักจะเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีความแข็งแกร่งที่สุด จนกระทั่งมีความสามารถที่จะออกลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งรวมถึงการลงทุนในประเทศไทย

แม้แต่ชื่อที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะเป็นกิจการที่เคยมีบทบาทอยู่ในประเทศไทย เช่น China Mobile, Telenor, Singtel, SK Telecom, NTT ฯลฯ ล้วนมีประวัติความเป็นมาจากการที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่มีรัฐเป็นเจ้าของ โดยเป็นหน้าเป็นตาของประเทศต้นสังกัด ที่สามารถนำรายได้จากการประกอบกิจการส่วนหนึ่งกลับสู่ประเทศ เพื่อเป็นงบประมาณที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ สามารถนำไปลงทุนพัฒนาประเทศได้อีกต่อไป กิจการเหล่านี้ มักจะมีชื่อของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของชื่อกิจการ

แต่สำหรับคนไทย อย่าว่าแต่ความฝัน ที่จะได้เห็นรัฐวิสาหกิจของชาติ ไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นหน้าเป็นตา และนำเงินกลับมาพัฒนาประเทศ เพราะแม้เพียงแต่แนวคิด ที่จะเห็นรัฐวิสาหกิจ ในกิจการโทรคมนาคม อยู่รอดอย่างปีต่อปี ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เว้นแต่จะมีการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่

ปัจจุบัน เข้าสู่ยุคของการแข่งขันอย่างไร้พรมแดน ไม่เพียงแต่รัฐวิสาหกิจ จะต้องแข่งขันกับภาคเอกชนจากภายในประเทศ แต่ยังต้องแข่งขันกับภาคเอกชนจากภายนอกประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และกระทั่งต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจต่างชาติ ที่เคยต่อสู้อย่างโชกโชนมาทุกสนามรบแล้ว

ทั้งนี้ คงไม่ต้องพูดถึง การที่ ทรัพยากรต่างๆ ที่เคยได้มาในอดีต สิทธิในการผูกขาดกิจการต่างๆ รวมทั้งรายได้จากสัมปทาน ที่ได้มาจากยุคที่รัฐวิสาหกิจเคยเป็นหน่วยงานของรัฐอย่างเต็มบริบูรณ์ กลับต้องมามลายหายไปเพราะการเปลี่ยนแปลงในสภาพขององค์กรและข้อกฎหมาย จนไม่มีความชัดเจน ว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จะสามารถประคองรายได้ ให้สูงกว่าค่ายใช้จ่ายขององค์กรได้อย่างไร

ในขณะที่รัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในประเทศของตน และในการเข้ามาลงทุนในประเทศอื่น แต่ยังคงเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งออกอีกเป็นจำนวนมาก และได้ก้าวข้ามยุคของการที่ต้องพึ่งพาอาศัย ทรัพยากร สิทธิในการผูกขาด รวมทั้งสัมปทาน มานานนับทศวรรษแล้ว

หากผู้อ่านเคยได้ทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ กับรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในกิจการโทรคมนาคม อาจตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรเหล่านี้ มีความคล่องตัวในทุกด้าน อย่างที่ไม่แพ้องค์กรเอกชน และย่อมที่จะไม่หลงเหลือกลิ่นอายของความเป็นภาครัฐอยู่เลย การปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อความอยู่รอด ส่วนหนึ่งควรต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปทางด้านวัฒนธรรม

สำหรับตัวผู้เขียนเอง ขณะกำลังศึกษาปริญญาเอก เคยได้สัมผัสกับนักเรียนทุน ที่รัฐวิสาหกิจของไทย ได้ส่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปี รัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคม ได้มีทุนการศึกษาเป็นจำนวนมากให้กับบุคลากรที่มีคุณภาพ นักเรียนทุนที่ผู้เขียนเคยได้สัมผัส ล้วนเป็นผู้ที่มีคุณภาพ ได้รับวิทยาการและแนวคิดใหม่ๆ แต่ 10 กว่าปีหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษา กลับไม่มีบทบาทที่เด่นชัดในองค์กร ราวกับได้ถูกกลืนหรือซึมซับเข้าไปกับโครงสร้างและวัฒนธรรมเดิมขององค์กร

แม้ปีนี้อาจเป็นปีแรก ที่รัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคม จะแสดงผลการดำเนินการที่ขาดทุน แต่ปัญหานี้ เป็นที่คาดคะเน และเป็นที่ถกเถียงกันมาช้านานแล้ว และการขาดทุน มีแนวโน้มที่จะทวีผลขึ้นอย่างเรื่อยๆ สิ่งต่อไปที่ต้องติดตาม คือการปฏิรูปของรัฐวิสาหกิจไทย ที่รัฐบาลจะต้องกระทำ ก่อนที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปมากกว่านี้ เพราะเงินของรัฐที่ได้มาจากวิธีการต่างๆ ไม่ควรต้องมารั่วไหลออกไปจากการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ

แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทย