สร้าง Teamwork : Solidarity ผ่านโต๊ะอาหาร

สร้าง Teamwork : Solidarity ผ่านโต๊ะอาหาร

ในฐานะมนุษย์หนึ่งคนในมวลมนุษยชาติ ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจกับการสูญเสีย ที่ยากที่จะทำความเข้าใจกับความโหดร้าย ที่เพิ่งเกิดในฝรั่งเศส

..และอีกหลากหลายเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ..ที่มนุษย์เข่นฆ่ากันเอง

จากการศึกษาและวิจัยด้านวิกฤตการณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวกับมหันตภัย ซึ่งมีที่มาที่ไปจากปัจจัย 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก - ภัยจากธรรมชาติ อาทิ ภัยที่เกิดจากสึนามิ ที่ไทยเคยประสบ เราพบว่านักท่องเที่ยวจากมิตรประเทศ พร้อมจะหลั่งไหลกลับมาเยือนในเวลาไม่นาน

เพราะทั้งอยากช่วยเหลือยามเพื่อนมีภัย และ ต่างทำใจได้เร็ว ความกลัว ความกังวลหายไปในเวลาไม่นานนัก

กลุ่มที่สอง - ภัยจากมนุษย์

เมื่อเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ส่งผลให้ทั้งคนนอกและคนใน ทำใจลำบากยากกว่ายิ่งนัก

เพราะภัยธรรมชาติ มิได้เกิดจากความจงใจทำลาย

ต่างโดยสิ้นเชิงกับความโหดร้าย อำมหิต ที่เกิดจากจิตใจและน้ำมือคน

ยามนี้ สิ่งที่พรรคพวกพี่น้องของประเทศที่เคราะห์ร้ายทำได้ คือ แสดงความสามัคคี หรือ Solidarity ว่าเราเป็นหนึ่งใจเดียวกัน

ยามสนุก มีเพื่อนร่วมสุข ย่อมเฮฮา

แต่ที่มีค่ายิ่งกว่า คือ มิตรยามทุกข์ ที่พร้อมอยู่ใกล้ๆ พร้อมให้กำลังใจ ไม่ทิ้งกัน

กลับมาที่ทำงานของเรา

ทุกหน่วยงานย่อมอยากให้คนมี solidarity ความสมัครสมาน สามัคคี ปรองดอง

ยามปกติ เราก็พร้อมทุ่มเท ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

ยามลำบาก เราก็พร้อมยอมสละความสุขสบายส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือกันและกัน

คำถามสำคัญ คือ บรรยากาศของความสมัครสมานสามัคคีเช่นนี้..สร้างได้อย่างไร

องค์กรจำนวนไม่น้อย สร้างความเป็นหนึ่งเดียวผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า ”Team Building” ซึ่งปกติมีแม่งานเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่โกลาหลจับปูใส่กระด้ง ลงเงินลงแรงตั้งแต่จัดการเดินทาง หาสถานที่พัก เกณฑ์พนักงาน ตั้งแต่หลายสิบจนถึงหลายร้อย แล้วปล่อยให้ทำกิจกรรมหรรษา สารพัดจัดมาให้เล่นสนุกเป็นทีม บ้างมีการแข่งขัน บ้างมีกิจกรรมท้าทาย ว่าเราเชื่อใจกันหรือไม่ เช่น ปิดตาจูงกัน

จากนั้นผู้บริหาร (ที่น้องน้านนานเห็นที) ก็มาพูดแบบดี๊ดีว่า...สามัคคีคือพลัง !

หลายหน่วยงานกลับมาจากกิจกรรม Team Building ประจำปีนอกสถานที่ โดยมีความคาดหวังว่า คนน่าจะทำงานเป็นทีมมากขึ้น

ปัญหาที่ค้างคาใจ ย่อมถูกสลายไปกับเกมส์เหยียบลูกโป่ง

แต่..อนิจจา..อารมณ์สามัคคีที่มีตอนขยี้ลูกโป่ง ช่างแสนสั้นนัก

แถมบางคนที่เข้าร่วมกิจกรรม กระซิบให้ช้ำใจว่า “หนูก็ทำๆไป เพราะเขาเกณฑ์ให้ทำ ขำๆว่า เหมือนเล่นปาหี่ กลับมาก็..อีหรอบเดิม!”

ปัญหาที่ Team Building ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย อาจเป็นเพราะ

1.จัดกิจกรรมปีละหนึ่งครั้ง และหวังว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนหมู่มากได้...อาจต้องเตรียมใจผิดหวัง

2.หน่วยงานมักจัดกิจกรรมสร้างทีมเช่นนี้ เมื่อทีมมีปัญหาระหองระแหงกันแล้ว โดยหวังหากาวมายาใจ

เปรียบดั่งแก้ว การประสานรอยร้าว ยากยิ่ง

หากอยากให้แก้วแกร่ง ต้องเคลือบสาร Teamwork ตั้งแต่แก้วยังใส ยังไม่ร้าว

ยิ่งเคลือบซ้ำๆ ยิ่งอยู่นาน ทนทานต่อแรงกระแทก แตกยาก

วันนี้ ดิฉันมีทางเลือกเพิ่มเติมในการเสริมสร้างความสามัคคี เป็นวิธีที่ง่าย แต่ได้ผลเกินคาด

อาจารย์ Kevin Kniffin และทีมงาน แห่งมหาวิทยาลัยดัง Cornell University ได้ทำการวิจัยเรื่องการสร้าง Teamwork ในที่ทำงาน และฟันธงว่า

หนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุด และง่ายที่สุด คือ “การรับประทานอาหารร่วมกัน”

ทั้งนี้ ทีมได้ศึกษาพฤติกรรมคนจำนวนมาก ในหน่วยงานที่หลากหลาย เพื่อวิจัยพฤติกรรมนี้

ตัวอย่างเช่น นักวิจัยได้เข้าไปติดตามพฤติกรรมของทีมนักดับเพลิงของหลายท้องที่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบทีมที่รวมตัวรับประทานอาหารร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ กับ ทีมที่ไม่มีกิจกรรมนี้ กลุ่มแรกมีความรู้สึกว่าทำงานแล้วมีความสุขกว่า รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกัน

ที่สำคัญ ทีมวิจัยพบว่า ผลงานของทีมที่มีเวลาร่วมวงอาหารกัน ดีกว่าทีมอื่นใดอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ

อาจารย์ Kniffin อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน กับความสามัคคี ว่า

- การกินอาหาร เป็นพฤติกรรมจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของของมนุษย์

การกินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน ที่ศัพท์ทางการเรียกว่า Commensality จึงมีส่วนส่งผลเชิงจิตวิทยาว่า เราพวกเดียวกัน

- นอกจากนั้น การกินร่วมกันในที่ทำงาน ทำได้บ่อย และต่อเนื่อง ต่างจากกิจกรรม Team Building นอกสถานที่ ซึ่งแม้ได้ผลบ้าง แต่มักทิ้งเวลาห่างเกินไป ไม่บ่อยพอ

- การกินอาหาร ถือเป็นเรื่องธรรมดา “ชิวๆ” เป็น “ธรรมชาติ” ยิ่งหัวหน้าเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ยิ่งช่วยลดความรู้สึกคลางแคลงใจยามไป Team Building ว่า “พี่แสดงปาหี่ประจำปี” ให้เราดู

อย่างไรก็ดี อาจารย์ชี้ว่าการสร้างความสามัคคีเช่นนี้ ก็มีข้อกัดบางประการ เหมือนทุกอย่างในโลก อาทิ

- อาจเป็นการสร้างก๊กเหล่า เราไม่เอาใคร ฉันไม่สนหน่วยงานอื่น

- หากมีน้องใหม่เข้าทีม อาจเกิดความลำบากใจ เพราะพี่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น จนแทรกตัวเข้าไปไม่ง่าย แถมน้องทำตัวแปลก แยกวงก็ไม่งาม

เมื่อรู้ข้อจำกัด ก็เตรียมสกัดมันได้ โดยทำอะไรไม่สุดขั้ว ใช้เวลากับคนต่างทีมบ้าง

ตลอดจนใส่ใจกับน้องมาใหม่ ให้เขารู้สึกว่าได้รับการต้อนรับเข้าทีม และเว้นที่ว่าง พอมีช่องห่าง ให้ต่างเป็นตัวของตัวเองได้

วันนี้ ท่านผู้อ่านจะไปทานข้าวกับใครคะ