การสร้างนวัตกรรมกับแนวคิดการออกแบบ

การสร้างนวัตกรรมกับแนวคิดการออกแบบ

ในปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อน

การนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ (เทคโนโลยีอุบัติใหม่) มาแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อนำเสนอสินค้า บริการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจ อาจเป็นโอกาสทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด หรือไม่ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบได้อย่างรุนแรง

โดยเฉพาะเมื่อนวัตกรรมนั้นๆ ไม่สามารถผ่านหุบเหวแห่งความตาย ที่คอยดักสินค้าแปลกใหม่ที่ตลาดยังไม่รู้จักและไม่อยากเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มผู้ซื้อรายแรกๆ ทำให้ไม่สามารถสร้างยอดขายได้ถึงจุดที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งสำหรับการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ก็คือ ความซับซ้อนของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สินค้าหรือบริการ มีความซับซ้อนในการใช้งานตามมา ผู้ใช้งานจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นๆ พอสมควรจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถเห็นประโยชน์จากการใช้งานที่ซับซ้อนว่าคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป

ปัญหาพื้นฐานแบบนี้ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่จะมาช่วยให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้านวัตกรรม สามารถใช้งานสินค้าไฮเทคเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ก็คือ การนำเรื่องของการออกแบบ มาช่วยลดความซับซ้อนของการใช้งานลง โดยซ่อนสิ่งที่ยุ่งยากทั้งหลายไว้เบื้องหลังในการออกแบบสินค้า

ทำให้การใช้งานหรือการใช้บริการเกิดความเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ใช้งานได้ง่ายและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

แนวคิดในการออกแบบ หรือ Design Thinking จึงกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องของ ผลิตภัณฑ์ การให้บริการ หรือ โมเดลธุรกิจ ใหม่ๆ ในการที่จะช่วยให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถเข้าถึงตลาดหรือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่มักจะใช้เรื่องของดีไซน์หรือการออกแบบมาเพื่อสร้างความสวยงาม ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นสุนทรียภาพ หรือแม้กระทั่งใช้การออกแบบมาเพื่อแสดงความสามารถทางศิลปะที่เหนือชั้นกว่าความสวยงามที่เห็นได้กันทั่วไป

แต่ในปัจจุบัน การออกแบบได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีอย่างแยกกันไม่ออก จนทำให้เกิดนวัตกรรมประเภทใหม่ขึ้นมา ที่มักเรียกกันว่า Design Innovation หรือนวัตกรรมที่ใช้แนวคิดการออกแบบมาเป็นตัวนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด

หลักการสำคัญของ Design Thinking ก็คือ การนำเรื่องของการยอมรับของสมองซีกขวาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นศิลปะและความสวยงาม มารวมเข้ากับสมองซีกซ้ายที่เข้าใจเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อทำให้เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน กลายเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ง่าย แม้กับคนในระดับทั่วๆ ไป

ธุรกิจนวัตกรรมที่ต้องการนำกลยุทธ์เรื่องของการออกแบบมาใช้ร่วมในการสร้างนวัตกรรม จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก ที่น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องหานักออกแบบหรือดีไซเนอร์มาร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือออกแบบการให้บริการตั้งแต่เริ่มต้น

ด้วยพื้นฐานของแนวคิดการออกแบบ จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้บริโภคได้ดีขึ้น

ในขณะที่ธุรกิจทั่วไป อาจจะมองถึงเรื่องของความจำเป็น และความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ธุรกิจที่นำเรื่องของ Design Thinking มาใช้ จะมองลึกเข้าไปถึงเรื่องของ อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ ความผูกพัน และความทะเยอทะยานของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้สินค้าหรือบริการ

การพัฒนานวัตกรรม จึงไม่ถูกเอนเอียงไปกับเรื่องของเทคโนโลยีแต่เพียงด้านเดียว

นักออกแบบจะสัมผัสถึงความรู้สึกต่อการใช้งานของผู้บริโภคได้โดยผ่านการใช้ตัวอย่างที่สามารถสัมผัสได้ เช่น การวาดออกมาเป็นภาพร่าง หรือการทำแบบจำลอง 3 มิติออกมาก่อน

อาจจะต้องมีการทำแบบจำลองต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รูปแบบ 2 – 3 แบบที่เหมาะสมลงตัวมากที่สุด

ยิ่งมีการทำแบบจำลองรูปต่างๆ ออกมามาก รูปแบบสุดท้าย ก็จะใกล้เคียงความสมบูรณ์ได้มากที่สุด

ความคิดของนักออกแบบอาจจะต่างจากวิศวกร โดยวัฒนธรรมของนักออกแบบจะถือว่าการตกแต่งและการทำเพิ่มเติมทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเป็นการพัฒนาสู่ความประณีตและการเรียนรู้ ไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาดหรือล้มเหลวของแบบที่ได้ออกไปก่อนหน้า

เมื่อได้รูปแบบที่เหมาะสมแล้ว ขั้นตอนสำคัญที่ 2 ก็คือ การสร้างต้นแบบสินค้าขนาดเท่าจริงตามรูปแบบที่ได้ออกแบบไว้ ในขั้นตอนนี้ จะทำให้ธุรกิจได้รับทราบถึงปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ในการผลิต และการใช้งานจริง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื่อมต่อหรือการทำงานของชิ้นส่วนและองค์ประกอบต่างๆ ในตัวผลิตภัณฑ์หรือในงานบริการที่เป็นนวัตกรรม

เรียกได้ว่าเป็นการใช้ต้นแบบเพื่อศึกษาเรียนรู้ปัญหา และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุให้มากที่สุด

ในขั้นที่ 3 เมื่อสามารถสร้างต้นแบบขึ้นมาได้แล้ว ธุรกิจก็จะสามารนำต้นแบบมาใช้ประกอบการนำเสนอหรือการทดสอบตลาด หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากการต้นแบบเป็นตัวนำในการติชม จะทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่ตรงประเด็น และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันได้

เพื่อนำไปสู่ความพร้อมในการนำเข้าสู่สายการผลิตจริงหรือการให้บริการจริง

ตัวอย่างของธุรกิจเป็นผู้นำในการนำเรื่องของการออกแบบมาผสมผสานกับสินค้าเทคโนโลยี ก็คงหนีไม่พ้น สตีฟ จอบส์ กับ บริษัทแอปเปิ้ล กับผลิตภัณฑ์ตระกูล ไอ- ทั้งหลาย นับตั้งแต่ ไอพ็อด – เครื่องฟังเพลง ไอโฟน – โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และ ไอแพ็ด เป็นต้น

ปัจจุบัน เรื่องของ Design Thinking ได้รับความสนใจ และมีผู้นำไปใช้เพื่อการพัฒนา หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาเมือง ฯลฯ

ในโลกของธุรกิจนวัตกรรม การออกแบบไม่ใช่เป็นเรื่องของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่จะกระจายลงไปถึงในทุกขั้นตอนของการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่า นวัตกรรมที่ธุรกิจจะนำเสนอ จะได้รับการตอบรับจากตลาด แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่ผู้บริโภคไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็ตาม

ในส่วนของการบริหารจัดการจัดการธุรกิจนวัตกรรม อาจจะทำให้เกิดหน้าที่งานใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่ง Chief Design Officer ขึ้นในธุรกิจเทคโนโลยี ก็เป็นได้