ปราบหมอกควันพิษ ต้องใช้การทูตที่ไม่มัวซัว

ปราบหมอกควันพิษ ต้องใช้การทูตที่ไม่มัวซัว

ข่าวบอกว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ประชุมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อวาง Roadmap

 สำหรับการแก้ปัญหาหมอกควันพิษอย่างถาวร

ในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันจากอินโดนีเซีย ไทยจะต้องประสานให้เกิดมาตรการเข้มข้นและจริงจัง

ไม่ใช่เพียงแค่ ขอความร่วมมือแบบกว้าง ๆ อย่างที่ผ่านมา

จีน รัสเซียกับออสเตรเลียเข้าร่วมแก้ปัญหาหมอกควันอินโดนีเซีย เคียงคู่กับเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว

แม้ไทยจะเสนอพร้อมจะช่วยแต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการตอบรับ

ความจริงไทยควรจะเสนอช่วยทางด้านการทูตเพื่อให้มีการ “Haze Summit” หรือ ประชุมสุดยอดว่าด้วยหมอกควัน ระหว่างอาเซียนเพื่อหามาตรการป้องกันให้ยั่งยืน จะได้ผลมากกว่าเพียงแค่ส่งอุปกรณ์ เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรนไปช่วยดับไฟป่าที่อินโดฯ

สิงคโปร์เองใช้วิธีให้บริษัทต่าง ๆ ส่งคำยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าสินค้าของตนไม่มีวัตถุดิบจากบริษัทที่กำลังถูกสอบสวน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาป่าที่อินโดฯ

ถึงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ส่งคำยืนยันไปยังสภาสิ่งแวดล้อม (Singapore Environment Council หรือ SEC) และสมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ (Consumers Association of Singapore หรือ CASE) แล้ว 38 บริษัท

ทั้งสององค์กรบอกว่าได้ส่งเอกสารไปยังธุรกิจกว่า 3,000 แห่งเพื่อให้ร่วมมือแจ้งยืนยันว่าพวกเขาซื้อไม้ กระดาษหรือเยื่อกระดาษจากแห่งที่ยั่งยืนเท่านั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการเผาป่าที่อินโดฯจนกลายเป็นปัญหาหมอกควันรุนแรงที่ยังเพื่อนบ้านทั้งหลาย

ชื่อของธุรกิจที่กรอกฟอร์มส่งมาแล้วจะขึ้นในเว็บไซต์เพื่อเป็นข้อมูลให้สาธารณชน

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้วิธีให้สังคมร่วมกันไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กับการทำให้เกิดหมอกควันด้วยการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้

ขณะที่มีข่าวว่ามีบริษัทมาเลเซียและจีนอย่างน้อย 12 แห่งและนักธุรกิจ 209 (รวมถึงบริษัทสิงคโปร์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง) ที่เข้าข่ายกำลังถูกสอบสวนว่ามีส่วนโดยตรงในการเผาป่าที่อินโดฯ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ทุกวันนี้

ภายใต้กฎหมายของอินโดฯ โทษสำหรับการกระทำเช่นนี้จำคุกสูงสุดถึง 10 ปีหรือปรับสูงสุด 10,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 25 ล้านบาท)

เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดฯ กับสิงคโปร์ระบุชื่อบริษัทที่อาจจะมีส่วนต้องรับผิดชอบ ต่อการเกิดไฟป่าที่เกาะสุมาตราและบอร์เนียว มีผลให้บริษัทผลิตกระดาษและน้ำมันปาล์ม 4 แห่งถูกลงโทษด้วยการถูกยึดใบอนุญาตประกอบการ

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีมีผลทำให้การเผาป่ายุติลงได้แต่อย่างไร

ดังนั้น อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จึงต้องตั้งประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญเพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกกันเอง เพราะหลายชาติสงสัยว่ารัฐบาลอินโดฯ ไม่จริงใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง สร้างความเดือดร้อนไปทั่วอาณาบริเวณนี้โดยไม่มีอะไรรับรองว่าสถานการณ์จะไม่เสื่อมทรามลงไปเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป

มองอีกแง่หนึ่ง การที่จีน รัสเซียและออสเตรเลียเสนอตัวมาร่วมดับไฟป่าครั้งนี้ ก็ทำให้เห็นถึงความร่วมมือทั้งในและนอกอาเซียนที่กระชับมากขึ้นกว่าเดิม และอาจนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการป้องกันภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคนี้

แต่ตราบใดที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวียังไม่กำหนดมาตรการป้องกันชัดเจน และลงโทษบริษัทและคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ โอกาสที่จะเกิดความบาดหมางที่หนักหน่วงขึ้น

และระดับความสัมพันธ์ก็จะเพิ่ม ความมัวซัวขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้