TPP : มุ่งสู่แปซิฟิก

TPP : มุ่งสู่แปซิฟิก

เดิมทีผู้เขียนตั้งใจว่า จะเขียนตอนที่สองของโลกและไทย ในยุค New Normal แต่ข่าวการบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วน

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ของ 12 ประเทศ

ภาคพื้นแปซิฟิก อันได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม ที่เป็นทั้งเขตการค้าเสรี และมุ่งเน้นสร้างมาตรฐานการค้าโลกใหม่นั้น ทำให้ต้องเปลี่ยนใจ

นั่นเป็นเพราะว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเกมการค้าการลงทุนในระดับโลก (Global Game-Changer) ในอนาคต ด้วยเหตุผล 3 ประการ

ประการแรก ผลต่อเศรษฐกิจโลกและการค้า โดยหาก TPP ผ่านการอนุมัติของสภาในแต่ละประเทศ และมีผลบังคับใช้ได้จริงแล้ว จะทำช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกที่ซึมเซา ประกอบกับรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้การค้าโลกหดตัวมาก โดยมูลค่าการค้าทั่วโลกหดตัวมากกว่า 10% ต่อปี ขณะที่ประเทศต่างๆ ต่างปกป้องการค้าของตน ผ่านมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier: NTB) มากขึ้น

ดังนั้น การที่ 12 ประเทศสมาชิก ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 40% ของเศรษฐกิจโลก ลดภาษีนำเข้าให้เหลือศูนย์ ย่อมเพิ่มการค้าให้กับผู้ส่งออกของประเทศเหล่านั้น แต่เหนือกว่านั้นคือ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนใน 12 ประเทศ ที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มด้วยราคาที่ถูกลง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

โดยสำนักวิจัย Peterson Institute for International Economics ระบุว่า TPP จะทำให้เศรษฐกิจของ 12 ประเทศสมาชิกมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างน้อย 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีกสิบปีข้างหน้า โดยเศรษฐกิจขนาดเล็ก เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และเม็กซิโก จะขยายตัวมากกว่าประเทศขนาดใหญ่ แต่ถ้า TPP สามารถขยายได้ถึง 17 ประเทศ (รวมประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และจีน) จะทำให้เศรษฐกิจขนาดเล็กขยายตัวได้ 10-20% จากปัจจุบันเลยทีเดียว

นอกจากนั้น หากพิจารณาในรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ แน่นอนว่าเขตการค้าขนาดใหญ่เช่นนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้า (Trade Diversion) อย่างแน่นอน โดยหากพิจารณาประเด็นเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เริ่มมีข้อตกลงในปี 1992 เป็นตัวอย่าง จะเห็นว่าก่อนมี AFTA ไทยส่งออกไปอาเซียนรวมแล้วประมาณ 13.8% ของตลาดส่งออกทั้งหมด แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 26.1% บ่งชี้ว่าเพราะภาษีที่ลดเหลือ 0% ทำให้อาเซียนมีการค้าระหว่างกันมากขึ้น ซึ่ง TPP ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน

ประการที่สอง ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ การที่สหรัฐที่เป็นเจ้าของแนวคิดสามารถผลักดัน TPP ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้สหรัฐกลับมามีอิทธิพลมากขึ้นในเอเชีย หลังจากที่ระยะหลังได้สูญเสียความเป็นพี่เบิ้มไปให้กับจีน หลังจากที่จีนได้มีนโยบายที่จะสร้างการเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้มากขึ้น ผ่านกลยุทธ์ “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) โดยใช้ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญ

ประการที่สาม ในเชิงมาตรฐานการค้า โดย TPP จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านการค้าการลงทุน เพราะจะคำนึงถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และถูกละเลยจากการเจรจาการค้าอื่นๆ เช่น การให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินทางปัญญาบางประเภท การคำนึงถึงสวัสดิการแรงงานและสิ่งแวดล้อม การจำกัดบทบาทของรัฐวิสาหกิจ และการคำนึงถึงประเด็นเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) โดยประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในระยะหลังมักจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อต้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นการสร้างมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าของ TPP นั้น อาจทำให้ประเทศที่แม้อยู่นอกกลุ่ม TPP ก็สามารถได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่น มาเลเซีย อาจสามารถส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ใช้วัตถุดิบจากจีนและอินเดีย ไปยังประเทศใน TPP ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ก็สามารถส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในประเทศแต่นำเข้าชิ้นส่วนจากไทยและจีนได้มากขึ้น

คำถามสำคัญต่อจากนี้คือ สำหรับประเทศไทยแล้ว จะได้หรือเสียประโยชน์จาก TPP

ผู้เขียนมองว่า ในระยะยาว หากไทยไม่เข้าร่วม TPP เราจะเสียเปรียบแน่นอน เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอันได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ที่มีสัดส่วนรวมกว่า 33% ของสินค้าส่งออกนั้น มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาด TPP เกินกว่า 40% ของการส่งออกทั้งหมด การที่เราไม่เข้าร่วมจะทำให้โอกาสในการส่งออกไปยังตลาด TPP ลดลงและโดนคู่แข่งเช่น เวียดนามตัดหน้าอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น ภาษีนำเข้าที่สหรัฐเก็บในสินค้าเครื่องนุ่งห่มและอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้าจากไทยอยู่ที่ 17.8-32.5% ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 7% ในขณะที่อัตราภาษีสูงสุดที่สหรัฐเก็บจากสินค้านำเข้าของเวียดนามอยู่ที่ 37.5% แต่โดยเฉลี่ยทุกสินค้าอยู่ที่ประมาณ 5.6% ซึ่งหาก TPP มีผลบังคับใช้ ภาษีนำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บจากสินค้าเวียดนามจะเหลือ 0% ทันที ซึ่งจะทำให้สูญเสียตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐค่อนข้างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนของการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาสำหรับผลิตภัณฑ์ยาบางประเภท กล่าวคือ สหรัฐต้องการให้มีการปกป้องสูตรยาต้นแบบที่เพิ่งคิดค้นขึ้นใหม่เป็นเวลา 12 ปี ทำให้บางประเทศ เช่น ไทย ที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวอาจเข้าถึงยาสามัญที่ลอกเลียนสูตรยาต้นแบบเหล่านี้แต่ราคาถูกกว่าได้ยากขึ้น ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะทางมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดคู่ค้าอื่นๆ ได้เจรจาให้ลดระยะเวลาปกป้องสูตรเหลือเพียง 5 ปีเท่านั้น ทำให้ความกังวลประเด็นนี้ลดลงไปได้บ้าง

ส่วนในระยะสั้นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลับต่างจากที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจ กล่าวคือ หาก TPP สัมฤทธิผล ไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศอื่นๆ เข้าร่วม TPP ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน อาจได้ประโยชน์จากการลดอัตราส่วนวัตถุดิบของสินค้าส่งออกตามหลัก Rule of Origin ซึ่งถือเป็นการได้ประโยชน์จากการส่งออกทางอ้อมเป็นหลัก

กล่าวคือ ก่อน TPP บังคับใช้นั้น ผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นจะสามารถส่งออกไปสหรัฐและได้สิทธิภาษีศุลกากร 0% ก็ต่อเมื่อยานยนต์นั้นๆ ต้องผลิตภายในญี่ปุ่นเองอย่างน้อย 62.5% แต่ภายใต้กฎ Rule of Origin ใหม่ของ TPP จะลดสัดส่วนดังกล่าวเหลือ 45% ดังนั้น ผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นก็สามารถนำเข้าชิ้นส่วนจากไทยได้มากขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้นไทยจึงได้ประโยชน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป หากผู้ผลิตญี่ปุ่นคำนวณแล้ว เห็นว่าการตั้งโรงงานใหม่ และ/หรือหา Supplier ใหม่ที่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าการนำเข้าและผลิตเพื่อส่งออกเช่นนี้ ก็อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านั้น เช่น เวียดนามที่มีประชากรมีความรู้ มีแนวนโยบายทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ และติดกับทะเลจีนใต้ทำให้เอื้อต่อการส่งออกมากกว่าไทย

แสงสว่างของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก ขึ้นอยู่กับว่าไทยกล้าพอที่จะมุ่งหน้าไปหรือไม่