รัฐสำรวจปิโตรเลียมเองดีไหม?

รัฐสำรวจปิโตรเลียมเองดีไหม?

มีการเสนอให้รัฐบาลสำรวจปิโตรเลียมเอง เพื่อให้รู้ก่อนว่า มีตรงไหนมีเท่าใด แล้วจึงค่อยเปิดประมูล

 ..แต่จะดีแน่หรือ?

การสำรวจปิโตรเลียมมีหลายขั้นตอน หลังจากศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางธรณีวิทยา ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม ก็จะต้องสํารวจหินที่ผิวพื้นที่ แล้วเริ่มหยั่งใต้ดินด้วยธรณีฟิสิกส์ เช่น วัดค่าความไหวสะเทือน (Seismic Survey) 

ท้ายสุดต้องเจาะลงใต้ดิน หลุมสํารวจ (Exploration well) จะพิสูจน์ว่ามีปิโตรเลียมสะสมอยู่ตรงนั้น...หรือไม่ การเจาะหลุมมีต้นทุนสูงมาก ในประเทศไทยถ้าเจาะในที่ราบลุ่มค่าใช้จ่าย 60-90 ล้านบาท/หลุม ถ้าเป็นหินหรือภูเขาอยู่ที่ 200-450 ล้านบาท/หลุม สถิติสูงสุด 1,300 ล้านบาท เพราะเป็นหินแข็งเจาะยาก บางหลุมใช้เวลาเป็นปี ในอ่าวไทยตก 120-240 ล้านบาท/หลุม ขึ้นอยู่กับความลึก ความยากง่าย  

นอกจากแพงแล้วยังเสี่ยงว่า ที่สุ่มเจาะไปจะไม่เจอ เพราะแอ่งตะกอนที่มีอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมเสมอไป ธุรกิจนี้เป็น High risk, high return จากผลการสุ่มเจาะหลุมสำรวจ ถ้าพบปิโตรเลียม ก็อาจจะเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมในบริเวณนั้นอีก เพื่อหาแนวเขตของแหล่ง เจาะจนพิสูจน์ทราบว่า แหล่งกักเก็บนั้นมีปิโตรเลียมจริง ถ้าสำเร็จถึงขั้นนี้ก็จะเจาะหลุมประเมิน (Appraisal well) เพื่อประเมินอัตราการผลิตและปริมาณปิโตรเลียมว่า มีมากพอในเชิงพาณิชย์หรือไม่? จะคุ้มกับการลงทุนผลิตไหม

ในอดีตรัฐบาลไทยเคยลงทุนสำรวจอยู่ 50 ปี แต่ไม่สำเร็จ จึงเริ่มใช้เอกชนผ่านระบบสัมปทานตั้งแต่ปี 2514 ปัจจุบันเปิดสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ ล่าสุดประมูลแข่งขันกันโดยให้น้ำหนักการลงทุน 80% การเพิ่มผลตอบแทนให้รัฐ 20% ซึ่งไม่เน้นเพราะระบบ Thailand III ที่ใช้ตั้งแต่ 2532 นั้นยืดหยุ่นมาก พบน้อยเก็บน้อย พบมากเก็บสูงมาก ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอยู่ที่ 50% (สูงกว่า 20% ของธุรกิจทั่วไป) และยังมีภาษีส้มหล่น (windfall tax “SRB”) อีก 0-75% ของกำไร

หากรัฐบาลไทยจะกลับมาสำรวจให้เสร็จสรรพ ดูเผินๆ อาจจะดี เพราะผู้ประกอบการควรเสี่ยงน้อยลง รัฐควรจะสามารถเพิ่มอัตราภาษีต่างๆ ได้เพราะ Lower risk, lower return ทั้งนี้ ไม่ว่าเป็นระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิต ก็สามารถออกแบบให้ผลตอบแทนรัฐสูงไม่แพ้กัน

..แต่ผู้ประกอบการยังอาจต้องสำรวจใหม่ ให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับมุมมอง วิธีคิด วิธีทำงานของเขา

..แต่รัฐมีเงินจำกัด (แนวโน้มไม่พอใช้) จะเหมาะสม คุ้มค่าไหมที่จะใช้งบประมาณแบบ High risk, high return ? 

ลองวิเคราะห์จากข้อมูลจริง รวมสัมปทานรอบที่ 18, 19 และ 20 รวม 14 ปี ณ ปลายปี 2557 เอกชนลงทุนไปแล้ว 174,000 ล้านบาท เป็นช่วงสำรวจ 56,000 ล้านบาท ผลประกอบการรวมขาดทุน 43,000 ล้าน แต่รัฐมีรายได้จากกลุ่มนี้รวม 56,200 ล้านบาท หากรัฐสำรวจเองฐานะการเงินส่วนนี้จะหดเหลือเพียง 200 ล้านบาท! หรืออาจจะขาดดุล!

ส่วนหนึ่งเพราะขึ้นภาษีไม่ได้อย่างใจ เนื่องจากการลงทุนอาจจะไม่มา อีกส่วนการลงทุนอาจต้องใช้เงินมากกว่า เพราะรัฐบาลมักประสิทธิภาพไม่เท่าเอกชน และยังเสี่ยงคอร์รัปชันอีก นอกจากนี้ ถ้าเจาะไม่เจอหลายๆ หลุมเสียเงินมหาศาล ประชาชนจะรับได้ไหม? จะต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ไหม?

การประมูลสัมปทานที่ผ่านมาเป็นเสมือนการระดมพลังของหลายๆ บริษัท ที่มักมีมุมมองแตกต่างกัน ต่างประเมินข้อมูลซึ่งรัฐรวบรวมมาจากผลการสำรวจของผู้รับสัมปทานในอดีต พร้อมสมมติฐานต่างๆ รวมทั้งการลงทุนขั้นต่ำที่รัฐกำหนดในแปลงนั้นๆ ถ้าหลายบริษัทคิดว่าแปลงไหนมีศักยภาพมาก ก็จะแข่งกันประมูลแปลงนั้นมาก ถ้าคิดตรงกันน้อยก็แข่งน้อย ถ้าแปลงไหนเห็นตรงกันหมดว่า ไม่มีแววก็อาจจะไม่มีใครประมูล

แต่ถ้ารัฐคิดเองทำเอง ฝ่ายเดียว ที่ปรึกษาเดียว เสี่ยงว่าจะลงทุนในแปลงที่ไม่คุ้ม แม้แปลงที่สมควรลง แต่รัฐจัดซื้อจัดจ้างก็เสี่ยงว่าจะแพงกว่าเอกชนทำ 

ยิ่งถ้าจะต้องลงทุนทุกที่ที่มี “เบาะแส” อย่างในร่างกฎหมายบางฉบับ ก็ยิ่งหนัก จะไปกู้หนี้ก็ไม่เหมาะ จะเก็บ 0.5% ของการผลิตเข้ากองทุน ก็ต้องรอเริ่มในสัญญาใหม่ ซึ่งอีกนาน จะลงไปก่อนแล้วรอเก็บจากผู้ทำสัญญา ก็เสี่ยงว่าแปลงที่ผลสำรวจไม่ดีอาจหาคนทำไม่ได้

แล้วการแข่งขันจะมากขึ้นไหม? ไม่แน่! เพราะเขาอาจไม่ชอบ Low risk, low return! บริษัทที่เก่งจะเลือกไปทำในที่ที่มีโอกาสได้ High return เพราะเขามีทุนและทรัพยากรบุคคลจำกัด แต่มีความเชี่ยวชาญพร้อมจะเสี่ยงเพื่อกำไรที่สูงกว่า ถ้าเราได้แต่ผู้ประกอบการที่ไม่เก่ง ก็อาจผลิตปิโตรเลียมได้ต่ำกว่าศักยภาพ ได้ภาษีน้อยลง ประเทศเสียโอกาส

ถ้าจะทำ Low risk, low Return เขาก็อยากไปทำกันในที่ปริมาณการผลิตสูงๆ เพราะรวมแล้วกำไรจะดีกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่ระดับกลางอ่อนๆ อาจไม่คุ้มค่าโสหุ้ย ต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในโลกเสรี บริษัทต่างๆ เลือกได้ว่าจะไปลงทุนประเทศไหน 

ในตะวันออกกลางที่ปิโตรเลียมอุดมมากๆ รัฐอาจให้บรรษัทแห่งชาติลงทุน แต่ความเสี่ยงไม่มากก็ไม่ต้องลงมาก กรณีบ้านเราเสี่ยงกว่ามากนัก

เปรียบเทียบกับหวย ถ้ารัฐลงทุนสำรวจ แทนที่รัฐบาลจะเป็นเจ้ามืออย่างเดียว กลับจะมาซื้อหวยเล่นเองด้วย! เสียดายจะไม่เป็นกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา เพราะในการสำรวจปิโตรเลียมซึ่งแพงกว่าซื้อหวยมากมาย ถ้าเจ้ามือมาเล่นเองแล้วเสีย เงินจะสูญไปเลย

--------------------

อานิก อัมระนันทน์