ของฝากจากธนาคารกลางอังกฤษ

ของฝากจากธนาคารกลางอังกฤษ

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาสองแห่งในลอนดอน โดยหนึ่งในงานสัมมนาดังกล่าวคือ

การแสดงปาฐกถาโดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษ นามว่า ดร.แอนดริว ฮาลเดน โดยท่านได้พูดถึงทิศทางนโยบายการเงินในปีหน้า

คำถามที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แบงก์ชาติอังกฤษได้ตั้งไว้คือ หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวแบบที่หลายท่านคิดในปีหน้าแล้ว อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังต่ำติดดินเกือบทั้งหมด (ดังรูปที่ 1) แล้วถ้าเกิดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เกิดแป้กไม่ทำงานขึ้นมา ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น โดยประเมินว่าน่าจะเกิดมาจาก หนึ่ง QE จะให้ผลดีต่อเศรษฐกิจในตอนต้นๆ ของการออก QE โดยส่วนใหญ่ผลจะมาจากเชิงจิตวิทยา ที่ธนาคารกลางแสดงความมุ่งมั่นจะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่าตัว QE เองเลยเสียอีก สอง QE ทำให้ไปขีดเส้นแบ่งนโยบายการเงินและการคลังให้ไม่ชัดเจน และในระยะยาวจะทำให้การใช้นโยบายการคลังทำได้ยากขึ้น และ สาม การใช้ QE ให้ผลดีต่อเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อยผ่านช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน (ดังรูปที่ 2)  ซึ่งทำไปทำมาหลายประเทศคงจะไม่ยอมในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่มีตราสารทางการเงินที่เหมาะสมให้ธนาคารกลางซื้อเพื่อทำ QE อีกต่อไป แล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดี

หนึ่ง การปรับให้ระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายให้สูงขึ้น จากที่ใช้กันโดยทั่วไปที่ร้อยละ 2 มาเป็นร้อยละ 4  ซึ่งการปรับให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น

คำตอบจาก ดร.ฮาลเดน ในงานสัมมนาดังกล่าว ให้ความเห็นว่ามีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ งานวิจัยของธนาคารกลางอังกฤษ ได้แสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นบวก ก็ยังสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติในกรณีใดๆ ก็ตาม โดยการที่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอีกร้อยละ 2 เสมือนกับการเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางอีกร้อยละ  2 จากในระดับปัจจุบัน

วิธีที่สอง ได้แก่ การใช้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งบางประเทศอย่างสวีเดนได้เคยใช้อยู่ โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แดนผู้ดีท่านนี้ ได้แนะนำให้ใช้สิ่งที่เรียกว่า crypto-currencies หรือเงินตราที่เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งธนาคารกลางสามารถที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบได้จากการคีย์ระดับปริมาณเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ ตัวอย่างของการใช้เงินในลักษณะนี้ได้แก่ Bitcoin โดยนายฮาลเดนกล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้โดยไม่เหลือบ่ากว่าแรง ซึ่งหลังการประชุมก็มีหลายเสียงมองว่า ใน 1-2 ปีนี้คงจะทำได้ยาก เนื่องจากคนอังกฤษคงยังไม่คุ้นเคยกับการใช้เงินในสไตล์นี้

อย่างไรก็ดี ทางเลือกซึ่งผมคิดว่าน่าจะถือว่าดีกว่า ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า ‘การพิมพ์เงินเพื่อโปรยลงจากเฮลิคอปเตอร์’ ที่ไม่ใช่แบบที่เป็นการพิมพ์เงินของธนาคารกลางเพื่อซื้อพันธบัตรระยะเวลา 10-15 ปีหรือที่เรียกกันว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ Quantitative Easing หรือ QE ทว่า เป็นการพิมพ์เงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ที่แท้จริง ว่ากันว่าในอดีตนั้น กษัตริย์ของอังกฤษหลายพระองค์ นิยมใช้วิธีนี้ในการหาแหล่งรายได้เพื่อใช้ในการทำสงคราม ทว่า วิธีการอาจจะไม่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ อาทิ สมัยนั้น เป็นการลดปริมาณเงินเพื่อทำเหรียญกษาปณ์ สำหรับเป็นเงินตราสำหรับใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี ปัญหาของการใช้วิธีดังกล่าวในอดีต คือการที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาต่อมาหลังจากใช้นโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่การพิมพ์เงินโดยธนาคารกลางประเภทที่ไว้ซื้อสินทรัพย์จากเศรษฐกิจจริง ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไร เนื่องจากเป็นการยากที่จะหาจุดที่เหมาะสมในการทำให้เปลี่ยนจากภาวะเงินฝืด ให้กลายมาเป็นภาวะเงินเฟ้อ ที่มีความเหมาะสมโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยต้องไม่ลืมว่า การซื้อสินทรัพย์ที่มิใช่ตราสารทางการเงิน ย่อมมีเรื่องผลประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยความเสี่ยงที่จะทำการอัดฉีดดังกล่าว ทำด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง มากกว่าความตั้งใจเดิมของธนาคารกลาง ที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี ในตอนนี้เริ่มมีนักวิชาการชื่อดังบางท่าน รวมถึงนายเจเรมี คอร์บีน หัวหน้าพรรคแรงงานท่านใหม่ของอังกฤษ ให้ความสนใจต่อวิธีการดังกล่าว สำหรับใช้เป็นนโยบายการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 ที่สำคัญ วิธีนี้เป็นวิธีที่คล้ายกับที่รัฐบาลจีนใช้ในช่วงหลังวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งจีนก็ไม่โดนหางเลขของวิกฤติดังกล่าวเสียด้วยครับ

หมายเหตุ สนใจการเปรียบเทียบผลตอบแทนและการวิเคราะห์เพิ่มเติมระหว่าง กองทุน Global Silver Age และ Healthcare ติดตามได้ทาง fb.com/MacroView ทาง Blog:bonthr.blogspot.com และ LINE ID: MacroView