ทำไม “คนดี” จึงทำสิ่งไม่ดี

ทำไม “คนดี” จึงทำสิ่งไม่ดี

วิชา “จริยธรรมทางธุรกิจ” ส่วนใหญ่จะเน้นสอนในด้าน “หลักการ” ที่ช่วยนักธุรกิจในการตัดสินใจ

ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เช่น นักธุรกิจที่มีจริยธรรมต้องคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เป็นต้น การสอนจริยธรรมในลักษณะนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นแบบ Normative กล่าวคือ เป็นการสอนว่า เรา “ควร” ปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นคนดี จึงไม่แปลกใจว่า อาจารย์หลายท่านอาจสอดแทรกคำสอนของศาสนาเข้าไปด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราต้องยอมรับว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้วว่า การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมนั้น ควรทำอย่างไร และไม่ควรทำอย่างไร แต่เพราะเหตุใด เราจึงยังพบว่ามีนักธุรกิจจำนวนมาก (อาจรวมถึงตัวเราด้วย) ที่มีพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอยู่

สาขาวิชาใหม่ที่ชื่อว่า “จริยธรรมพฤติกรรม” หรือ Behavioral Ethics ไม่ได้เน้นที่ “หลักการ” หรือสิ่งที่ “ควร” ทำ แต่เน้นการอธิบายพฤติกรรมตามความเป็นจริง สาขาวิชานี้พยายามตอบคำถามที่ค้างคาใจคนจำนวนมาก เช่น เหตุใดคนดีจึงทำความชั่ว หรือทำไมเรามองไม่ออกว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี (ในขณะที่คนอื่นมองออก) เป็นต้น ท่านผู้อ่านที่สนใจสาขาวิชานี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยของ Bazerman and Gino (2012) หรือ Prentice (2014) เป็นต้น สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ มนุษย์ (ส่วนใหญ่) โดยพื้นฐานแล้ว 1) ต้องการเป็นคนดี 2) มองตัวเองว่าเป็นคนดี และ 3) ต้องการให้คนอื่นมองว่าตัวเราเป็นคนดี แต่มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่ส่งผลให้มนุษย์ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

การตัดสินใจของมนุษย์ไม่มีมาตรฐานเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมภายนอกด้วย เช่น ภายใต้ “แรงกดกันด้านเวลา” หรือ Time Pressure หรือภายใต้ “การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ” หรือ Obedience to Authority มนุษย์อาจตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรมก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้บริหารระดับสูงกดดันผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ให้ขยายขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทไปยังต่างประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ในกรณีนี้ แรงกดดันทั้งจากผู้มีอำนาจและจากเวลาอันจำกัด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาจจำเป็นต้องเลือกวิธีที่ผิดจริยธรรม เช่น การให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ เพื่อให้ลดขั้นตอนและเร่งเวลาในการออกใบอนุญาต เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่เป็นคนดีและมีความตั้งใจจริงที่จะทำหน้าที่

“อคติในการทำตามคนอื่น” หรือ Conformity Bias ก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น หัวหน้าฝ่ายขายกำหนดเป้าหมายการขายให้แก่พนักงานแต่ละคนในฝ่าย แต่หากพนักงานขายรายหนึ่งพบว่า พนักงานขายคนอื่นๆ ใช้วิธีการไม่เปิดเผยความจริงให้ลูกค้าทราบ เกี่ยวกับข้อด้อยของสินค้าเพื่อเป็นการเพิ่มยอดขายให้แก่ตัวเอง พนักงานขายรายนี้ก็อาจใช้วิธีการเดียวกันกับคนอื่น โดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นด้านจริยธรรม ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งแผนกก็จะมีแต่พนักงานที่ไม่ดี และที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะการทำตามคนอื่นทำให้มนุษย์รู้สึกผิดน้อยลงนั่นเอง

นอกจากนี้ หากการตัดสินใจของเราส่งผลไม่ดีต่อคนอื่นอย่างไม่ชัดเจน กล่าวคือ ไม่แน่ใจว่าจะกระทบใครและรุนแรงเท่าใด มนุษย์ก็จะใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการทำผิดจริยธรรมได้ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการโรงงานแห่งหนึ่งรู้และตระหนักว่า การปล่อยมลพิษลงสู่สิ่งแวดล้อมกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศน์ แต่ไม่แน่ใจว่ากระทบใคร และไม่แน่ใจว่าผลกระทบนั้นรุนแรงเพียงใด แต่สิ่งที่ผู้จัดการคนนี้รู้แน่นอน และสามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้คือ การปล่อยของเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนของบริษัท และส่งผลให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น ดังนั้น เมื่อผลเสีย “จับต้องได้” หรือ Tangible ในขณะที่ผลได้ “จับต้องไม่ได้” หรือ Abstract มนุษย์ก็เลือกที่จะให้คุณค่าแก่สิ่งที่จับต้องได้มากกว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้ 

ปัจจัยภายในตัวมนุษย์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ และการกระทำที่ขาดจริยธรรมคือ “อคติจากการเข้าข้างตัวเอง” หรือ Self Serving Bias ซึ่งอธิบายได้ว่า มนุษย์ชอบหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ส่งผลให้มาตรฐานที่เราใช้ตัดสินตัวเราเองแตกต่างจากมาตรฐานที่เราใช้ตัดสินคนอื่น เช่น หัวหน้างานคนหนึ่งชอบต่อว่าลูกน้องที่มาสาย โดยระบุว่าลูกน้องไม่ทุ่มเทในการทำงานให้แก่บริษัท ในขณะที่หัวหน้างานคนเดียวกันนี้กลับบ้านก่อนเวลาเลิกงานทุกวัน โดยอ้างว่าต้องไปรับลูกที่โรงเรียน เป็นต้น ผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายคือ เมื่อเราตีความเข้าข้างตัวเอง เราก็จะรู้สึกผิดน้อยลง และเมื่อเรารู้สึกผิดน้อยลง เราก็จะคิดว่าเรายังคงเป็นคนดีอยู่

การกำจัดอคติเหล่านี้ไม่ให้กระทบการตัดสินใจของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมนุษย์ส่วนใหญ่มีความมั่นใจในตัวเอง โดยคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมากกว่าคนอื่น ดังนั้น หากเรามั่นใจว่าเราเป็นคนดี และในกรณีที่เราทำสิ่งไม่ดี เรากลับหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองทุกครั้ง โอกาสที่มนุษย์เราจะสามารถตัดสินใจ โดยคำนึงถึงความสำคัญของจริยธรรมก็เป็นไปได้ยาก การสอนจริยธรรมแนวใหม่ จึงไม่ควรเน้นแต่เพียงว่าการเป็นคนดีต้องประพฤติตัวอย่างไร แต่ต้องปลูกฝังความถ่อมตัว และยอมรับว่าเราทุกคนสามารถทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมได้โดยเฉพาะหากมีแรงกดดันจากสถานการณ์ภายนอก นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการฝึกฝนให้นักธุรกิจมีสติและไม่เข้าข้างตัวเองด้วย

ท้ายที่สุด เราไม่ควรใช้ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่อธิบายไว้ข้างต้น มาเป็นข้ออ้างในการทำความเลว ยกตัวอย่างเช่น การทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรม (และผิดกฎหมาย) แม้ว่าเราจะถูกกดดันจากผู้มีอำนาจหรือไม่ก็ตาม หรือแม้กระทั่งกรณีที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ให้ (หรือรับ) สินบน ก็ไม่ได้หมายความว่าการให้ (หรือรับ) สินบน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องรู้และตระหนักว่า “การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ” หรือ “การทำตามคนอื่น” มีผลต่อการตัดสินใจของเรา ดังนั้น เราต้องตั้งสติทุกครั้งก่อนการตัดสินใจทำอะไรลงไป และสำหรับ “ผู้มีอำนาจ” ที่มีอิทธิพลต่อลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำดีและไม่ดี จำเป็นต้องรับผิดชอบทางจริยธรรมมากกว่าด้วย

 --------------------

ผศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ

ภาควิชาบริหารธุรกิจ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล [email protected]