ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ?

ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ?

เชื่อว่า 2 เหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ดูเหมือนตำรวจทำเกินกว่าเหตุนั้น อาจมีทั้งคนวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ

ไปในทางที่เสียหาย และคนที่เข้าใจการทำงานของตำรวจ ที่ต้องเผชิญหน้ากับอาชญากรไม่เว้นแต่ละวัน จนบางครั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ก็อาจผิดพลาด จนนำมาซึ่งเหตุร้ายเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้ ก็อาจเกิดขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่มีข้ออ้างที่จะทำงานหละหลวมแม้แต่น้อย เพราะนอกจากผู้ร้าย ก็มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนประจำกาย ดังนั้นภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบตามกฎหมาย จึงต้องมีวินัยในการควบคุมอย่างเคร่งครัด หาไม่ก็ยากจะมีเส้นแบ่งระหว่างผู้ร้ายกับตำรวจเช่นกัน

ส่วน 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ล้วนสะเทือนขวัญ และพลอยทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจหม่นหมองไปด้วย ต่อให้หลังจากนั้นจะมีการตั้งกรรมการสอบสวน เพื่อเอาผิดตามขั้นตอนก็ตาม

เหตุการณ์แรกกรณีมีกระสุนปริศนา ทะลุหน้ากระจกรถยนต์ด้านซ้ายฝั่งผู้โดยสาร ที่มี ฐิติยา สงฆ์รัตน์“มารดา”เป็นคนขับ และกระสุนโดนไหล่ขวาของอานัตตา สงรัตน์ นักเรียนชั้นม.4 “บุตรสาว” ได้รับบาดเจ็บ และเข้ารับการรักษาอาการที่รพ.นพรัตน์ฯ

ต่อมาพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. นำตำรวจชุดสืบสวนปฏิบัติภารกิจล่อซื้อจับกุมยาเสพติด 5 นายมาแถลงข่าว โดยยอมรับว่ามีปฏิบัติการจับกุมเอเย่นต์ยาเสพติดรายหนึ่งแต่เกิดไหวตัวทันชักปืนยิงใส่ชุดจับกุมจนเกิดการยิงต่อสู้เพื่อป้องกันตัวก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไปได้

อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการประท้วงปิดล้อมสภ.ถลาง จ.ภูเก็ตและบานปลายถึงขั้นเผารถยนต์หลายคนและปิดถนน ของญาติผู้เสียชีวิต ผสมโรงไปด้วยวัยรุ่นและชาวบ้าน ที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของตำรวจ

เนื่องจากก่อนหน้านั้น ตำรวจสายตรวจเรียกตรวจรถจักรยานยนต์วัยรุ่น 2 คน แต่ทั้งสองคนขับรถหนี จึงมีการประสานตำรวจอีกส่วนหนึ่งสกัดจับ จนเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกับรถวัยรุ่นทั้งสอง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยมีรายงานด้วยว่า พบยาบ้าจำนวนหนึ่งในที่เกิดเหตุ

แต่สิ่งที่ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตสะท้อนผ่านสื่อในเวลาต่อมาก็คือ พวกเขาอายุยังน้อย ทำความผิดอะไร จึงใช้วิธีร้ายแรงขนาดนี้ ไม่มีวิธีการอื่นอีกแล้วหรือ

ประเด็น ที่น่าคิดก็คือ ตำรวจเป็นขบวนการยุติธรรมขั้นต้นเท่านั้น ไม่อาจที่จะพิพากษาความผิดอะไรได้ อย่างมากก็แค่สืบสวนสอบสวนจับกุมดำเนินคดี

จากสองเหตุการณ์ดังกล่าว บังเอิญอ่านเจอสาระความรู้ที่ว่าด้วย “เจ้าพนักงานทำเกินกว่าเหตุ ของ สำนักกฎหมายตุลากรณ์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค ซึ่งเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอดี

โดยมีหลักพิจารณาและกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. หากเจ้าพนักงานใช้กำลังหรืออาวุธในการจับกุมเกินความความจำเป็นแห่งพฤติการณ์ย่อมถือได้ว่ากระทำเกินกว่าเหตุ

2. จำนวนของเจ้าพนักงานที่เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา หากมากกว่าความร้ายแรงแห่งข้อหาและพฤติการณ์

3. การทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินเหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งข้อหาหรือพฤติการณ์หรือไม่

4. การควบคุมตัวผู้กระทำความผิดไว้นานเกินกว่าความจำเป็น

5. การใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้กระทำความผิด ให้ดูอวัยะที่ยิงถูก ถ้าเจตนายิงให้ถูกส่วนสำคัญ ส่วนมากมักเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ (ต้องดูผู้กระทำความผิดว่ามีอาวุธหรือต่อสู้หรือไม่)

6. ให้ดูอายุและเพศ ของผู้กระทำความผิด

7. ทำให้ผู้เสียหายได้รับความอับอายจนไม่สามารถจะใช้ชีวิตตามปกติสุขได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูพฤติการณ์ประกอบคดีเป็นเรื่องๆไป เช่นกรณีความเห็นทางกฎหมาย เรื่องการตั้งด่านตรวจวินัยจราจร หากเจ้าพนักงานเรียกให้หยุดรถแล้วไม่หยุดรถ เจ้าพนักงานจึงใช้ไม้หรือสิ่งของขว้างปาใส่ จนทำให้ผู้ขับขี่ล้ม หัวไปฟาดกับพื้นเสียชีวิต เช่นนี้ก็น่าจะเกินกว่าความร้ายแรงแห่งข้อหาแล้ว

อีกทั้งเจ้าพนักงานควรเล็งเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ขี่มากกว่าการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หากเจ้าพนักงานเรียกแล้วไม่หยุด ก็ควรที่จะจดหมายเลขทะเบียนรถแล้วค้นประวัติ ติดตามตัวได้ในเวลาต่อมาเพราะยานพาหนะมีหมายเลขทะเบียนทุกคัน

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านน่าจะมีฐานข้อมูลในการพิจารณาพอสมควรแล้วว่า ทั้งสองเหตุการณ์ สมควรจะต้องระมัดระวังอย่างสูงหรือไม่ และไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก ถ้าตำรวจยังต้องการเป็นมิตรกับประชาชน