จุดแข็งของประเทศไทยจากผลสำรวจ WEF

จุดแข็งของประเทศไทยจากผลสำรวจ WEF

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว World Economic Forum (WEF) ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน

ของประเทศ (Global Competitiveness Index หรือ GCI) ซึ่งสื่อต่างๆ ก็ได้ลงข่าวเกี่ยวผลการจัดอันดับไปแล้ว มาสัปดาห์นี้ผมขอลงรายละเอียดการวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องจุดแข็ง สำหรับประเทศไทย ที่สามารถนำไปต่อยอดได้

รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ที่ WEF จัดขึ้นทุกปีนั้น สื่อต่างๆ มักจะลงประเด็นอันดับของประเทศเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แต่จริงๆ แล้วเขามีตัวชี้วัดทั้งหมดถึง 113 ตัว ซึ่งสามารถที่จะวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ทั้งกับตนเองในอดีต กับประเทศอื่นๆ อีก 139 ทั่วโลก กับประเทศในภูมิภาค หรือกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน

เรามาดูที่จุดแข็งกันก่อนนะครับ ในภาพรวมนั้นประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก ดังนั้น ผมเลยลองดึงเฉพาะตัวที่ชี้วัดที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน Top 20 ของโลก (เราไม่มีตัวชี้วัดไหนที่จัดอยู่ใน Top 10 ครับ) โดยอันดับที่สูงที่สุดคือ Foreign market size index (14) และ Availability of airline seat (14) ตามด้วย Degree of customer orientation (17) กับ Export as percentage of GDP (18) จริงๆ แล้วการที่ Foreign market size index และ Export as a % of GDP ของเรานั้นสูง ถ้ามองมุมหนึ่งคือสิ่งที่ดี แต่เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่งแล้วแสดงว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกที่สูง และตลาดของประเทศไทยส่วนใหญ่ ก็เป็นตลาดในต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบในเชิงลบของจุดแข็งดังกล่าวก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องของ Availability of airline seat ที่อยู่ในลำดับที่ 14 ของโลกนั้น แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยนั้น การเดินทางด้วยเครื่องบินกลายเป็นวิถีการเดินทางที่ทุกคนสามารถเดินทางได้ และสำหรับ Customer orientation ที่สูงนั้น แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจของไทยให้ความสำคัญกับความต้องการ และความพึงใจของลูกค้าอยู่ในระดับที่สูง

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเทียบกับอีก 139 ทั่วโลกแล้ว เมื่อลองนำมาเทียบกับกลุ่ม ASEAN + 3 (ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน) ดู จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ (บรูไนไม่ได้เข้าอยู่ในการจัดอันดับของ WEF) ผมเลยลองดึงประเด็นที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่สูงๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ ASEAN + 3 มาดูกันนะครับ โดยพยายามจัดเป็นหมวดหมู่ให้เห็นภาพได้ง่าย

กลุ่มแรกเป็นพวกการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องของ FDI (Foreign Direct Investment) and Technology Transfer ที่อยู่อันดับ 3 ของ ASEAN + 3 แสดงให้เห็นว่า การลงทุนจากต่างประเทศนั้น ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทยในระดับที่สูงพอสมควร (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย) และ Impact of rules on FDI ที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 3 ด้วยเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่ากฎ ระเบียบต่างๆ ของประเทศนั้น เอื้อและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ

กลุ่มที่สองเป็นพวกเกี่ยวกับด้านการเงิน ทั้งเรื่องของ Affordability of financial services (4) ที่แสดงให้เห็นถึงบริการทางการเงินที่ต้นทุนไม่สูง หรือ Availability of financial services (3) แสดงให้เห็นถึงการมีบริการทางการเงินให้ได้อย่างเพียงพอ หรือ Soundness of banks (3) ที่แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความเข้มแข็งของธนาคารในประเทศไทย หรือ Local capital market access (4) ที่สะท้อนว่าบริษัทสามารถระดมเงินจากตลาดทุนได้ไม่ยาก หรือ Regulation of security exchange (4) ที่หน่วยงานกำกับสามารถทำให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพ หรือ Strength of auditing and accounting standards (4) ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของมาตรฐานการบัญชี และการตรวจสอบบัญชี และ Financing of SMEs (3) ที่แสดงว่าธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

กลุ่มที่สามเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวทั้ง Government prioritization of travel and travel industry (2) ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว หรือ Effectiveness of marketing and branding to attract tourists (3) ที่มองถึงประสิทธิผลของการทำการตลาด และสร้างแบรนด์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และ Quality of tourism infrastructure (2) ที่สะท้อนภาพถึงคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ

ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจกับประเด็นที่เป็นจุดแข็งต่างๆ ของประเทศไทยจากรายงานของ WEF นะครับ และก็เป็นจุดแข็งที่เรามีมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ต้องมองกันต่อครับว่าทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย จะสามารถต่อยอดและเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ได้หรือไม่