สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ภัยคุกคามในยุคดิจิทัล

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ภัยคุกคามในยุคดิจิทัล

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากร ในโครงการอบรมผู้บริหารรุ่นใหม่ของ กสทช. ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม

ผู้บริหารรุ่นใหม่ของ กสทช. เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ สมแล้วกับที่เป็นหน่วยงานรัฐชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการถกเถียงและมีโอกาสชี้ความกระจ่าง คือบทบาทของเทคโนโลยีกับความมั่นคงของชาติ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน ได้เป็นข่าวคราวใหญ่โต เมื่อศาลสูงสุดของ EU ได้มีคำพิพากษาในกรณีที่ Facebook ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ในการที่ได้ส่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊คในยุโรป ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับไปยัง Data Center ในสหรัฐ โดยศาลสูงสุดได้ให้อำนาจรัฐบาล EU เข้ามาตรวจสอบการกระทำของเฟซบุ๊คอย่างเต็มที่

เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของภัยคุกคาม นั่นก็คือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในยุคดิจิทัล เมื่อธุรกิจดิจิทัลจากประเทศหนึ่ง สามารถให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง โดยที่มีสิทธิเหนือกฎระเบียบในประเทศนั้น

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะธุรกิจดิจิทัล สามารถให้บริการข้ามพรมแดน โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องจดทะเบียนบริษัท จ้างพนักงานและกระทั่ง มีดาต้า เซ็นเตอร์อยู่ในประเทศนั้น กฎหมายของประเทศนั้นจึงทำอะไรกับธุรกิจดิจิทัลที่ให้บริการจากข้ามพรมแดนไม่ได้ จึงเป็นที่มาของอภิสิทธิที่มีอยู่เหนือกฎหมาย

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่จะกำกับดูแลธุรกิจเหล่านี้ได้ จึงมีโอกาสที่จะเป็นภัยคุกคามต่อไป เพราะบริการในยุคดิจิทัลที่ประชากรของประเทศส่วนใหญ่ใช้งาน ล้วนเป็นธุรกิจข้ามชาติที่ให้บริการมาจากดาต้า เซ็นเตอร์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Search Engine, Social Network และ Social Media ที่พวกเรารู้จักกันดี ก็มีลักษณะเช่นนี้ทั้งสิ้น

แม้แต่เส้นทางการเงิน ก็รั่วไหลออกจากประเทศโดยตรง เพราะธุรกรรมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสื่อ ซื้อสินค้า มักเป็นการทำธุรกรรมโดยตรงกับนิติบุคคลของผู้ให้บริการเหล่านี้ ที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลไทยจะสามารถเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร โดยที่นับวันปัญหานี้จะมีแต่ทวีคูณ เมื่อผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเริ่มทดแทนผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

การจ้างพนักงานก็ยังเป็นการจ้างในต่างประเทศ เพื่อส่งตัวแทนเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลไทยจะสามารถเก็บภาษีเงินได้จากพนักงานเหล่านี้ได้หรือไม่

ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังคงมีระบบศุลกากรของไทย ที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ธุรกิจ Search Engine, Social Network และ Social Media ที่เป็นการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ กลับไม่มีกลไกทางภาครัฐของไทย ที่สามารถเข้ามากำกับดูแล

สิ่งที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่เป็นแค่ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาจากต่างประเทศอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนคนไทย ที่ถูกส่งออกจากประเทศ ไปเก็บไว้ยังดาต้า เซ็นเตอร์ในต่างประเทศ อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกเช่นกัน คำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่ง EU เป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็นห่วงนี้ ในระดับสากล

อย่างไรก็ดี หลายท่านอาจไม่ทราบ เพื่อนบ้านของไทย เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย กลับไม่มีปัญหาเช่นนี้  Search Engine, Social Network และ Social Media ที่พวกเรารู้จักกันดี กลับไปลงทุน ตั้งดาต้า เซ็นเตอร์และจ้างพนักงานในประเทศสิงคโปร์และ มาเลเซีย ธุรกิจดิจิทัลจึงอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น จ่ายภาษีให้กับประเทศนั้น และปราศจากซึ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นในกรณีของประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุคดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียนที่จริงแล้วคือประเทศไทย ที่มีจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุด เพราะฉะนั้นธุรกิจดิจิทัล ที่ได้กล่าวถึงได้เข้าไปลงทุนใน สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเป้าหมายที่แท้จริง คือตลาดดิจิทัลของไทย

สิงคโปร์และมาเลเซีย จึงเป็นฐานของธุรกิจข้ามชาติ ในการเข้ามาบุกยึดประเทศไทยและเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่า เพราะเหตุใดธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ กลับมองข้ามประเทศไทยและเลือกสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะประเทศที่เป็นฐาน ย่อมมีเงินไหลเวียนเข้าสู่ประเทศ มีความรู้ที่มีการถ่ายทอดและมีเงินภาษีที่เก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดังเช่นกรณีของ EU vs Facebook การวางยุทธศาสตร์สำหรับธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้พรมแดน เป็นเกมการเมืองระดับโลก ซึ่งแม้แต่ในอาเซียน สิงคโปร์และมาเลเซีย ก็ได้ชิงความได้เปรียบไปแล้ว สำหรับประเทศไทยยังคงเห็นแต่บทบาทแต่ในเชิงตั้งรับเท่านั้น

จึงฝากความหวังไว้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ของ กสทช.และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ว่าจะรู้ทัน เกมการเมืองระหว่างประเทศและสามารถผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของอาเซียน อย่างที่ควรจะเป็นและเคยเป็นมาในอดีตเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา