ปรับโฟกัสส่งออก ยกระดับการเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่ม

ปรับโฟกัสส่งออก ยกระดับการเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่ม

“การสร้างมูลค่าเพิ่ม” ถือเป็นหนึ่งในโมเดลการเติบโต และจุดเปลี่ยนเกมการค้าของไทย เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต

และสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งให้กับภาคส่งออก ทั้งนี้ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ สามารถทำได้ในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งภาคธุรกิจและประเทศโดยรวมเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนในระยะยาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ญี่ปุ่น” คือประเทศต้นแบบในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ ด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เช่น การพัฒนาให้ผลแตงโมมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรใช้พื้นที่ในการจัดเก็บแตงโมในตู้เย็นได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงทำให้การขนส่งมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นถึงอีก 4-5 เท่าอีกด้วย หรือแม้แต่การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งผลให้ธุรกิจประเภทนี้ในญี่ปุ่น กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และสามารถสร้างรายได้มากพอๆ กับธุรกิจในภาคการผลิตเลยทีเดียว

สำหรับไทย อุตสาหกรรมเกษตร หรือ agro-based industry นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยอาศัยความได้เปรียบของผลผลิตทางการเกษตร ในประเทศที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังถูกส่งออกในรูปของวัตถุดิบ หรือมีการแปรรูปเพียงขั้นต้นเท่านั้น เช่น พืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ซึ่งพบว่าเกือบ 90% ถูกส่งออกในรูปของยางดิบ และผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้น (ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น) ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งอีไอซีมองว่าไทยมีศักยภาพสูง ในการแปรรูปยางพาราให้เป็นสินค้าขั้นปลายที่หลากหลาย เช่น ยางล้อ ถุงมือยาง แผ่นปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทก เป็นต้น เพราะนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยง จากความผันผวนด้านราคาจากการพึ่งพิงการส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ได้อีกด้วย

“ไรซ์เบอร์รี่ โมเดล” คือตัวอย่างที่น่าสนใจในการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมข้าวไทย อีกทั้งยังสอดรับกับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย โดยพบว่าปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ออกจำหน่ายในท้องตลาดอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันรำข้าว รำข้าวไรซ์เบอร์รี่อัดเม็ด โดนัท ไอศกรีม เครื่องดื่มสำเร็จรูป หรือแม้แต่เชื้อเพลิงชีวมวลจากแกลบไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งนับเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ในการแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างครบวงจร และมีการใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือทิ้ง (ปลายข้าวและแกลบ) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ระบุว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ สามารถสร้างกำไรสุทธิที่สูงกว่าการขายข้าวหอมมะลิ ในรูปวัตถุดิบมากถึงเกือบ 10 เท่าตัว

การพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (bio-plastic) จากวัตถุดิบทางการเกษตร คืออีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เพราะนอกจากจะเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการสินค้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้ภายในประเทศอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพค่อนข้างมากทั้งจากความพร้อมด้านวัตถุดิบตั้งต้น หรือ feedstock โดยเฉพาะน้ำตาลและมันสำปะหลัง รวมไปถึงโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก รองรับที่ปลายน้ำอีกจำนวนมาก

ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคบริการเองก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน โดยไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน และยกระดับภาคบริการให้ก้าวไปสู่ความเป็น modern services ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบการให้บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น คอร์สโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โรงเรียนสอนว่ายน้ำสำหรับเด็กเล็ก รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีความหลากหลาย และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการให้บริการในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งอื่นในตลาดแล้ว ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า หัวใจสำคัญในการวางรากฐาน และขับเคลื่อนประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยมูลค่าเพิ่ม คือ 1) การลงทุนด้าน R&D เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างสรรสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และ 2) การพัฒนาคนรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ คือความท้าทายหลักสำหรับไทยในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป หากเราต้องการยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่การเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกำลังจะกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับเกมการค้าโลกในอนาคต

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์เชิงลึก EIC Insight หัวข้อ “เดินเกมการค้าอย่างไร…เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยน?” สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ www.scbeic.com