กติกาควบคุมความประพฤติ นักการเมืองสิงคโปร์เข้มข้นเพียงใด?

กติกาควบคุมความประพฤติ นักการเมืองสิงคโปร์เข้มข้นเพียงใด?

เมื่อวานเขียนถึง “คู่มือคุมประพฤติ ส.ส. ของนายกฯหลี่เสียนหลง”

 ที่ระบุว่า ส.ส. ของพรรครัฐบาลทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ผลประโยชน์ทับซ้อน และรักษามาตรฐานของความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อคงไว้ซึ่งศรัทธาของประชาชน

ยังมีอีกหลายข้อที่ผมเชื่อว่าคนไทยเราควรสนใจ เพื่อจะได้ประเมินว่ามาตรฐานความประพฤติของนักการเมืองไทย เมื่อเปรียบเทียบกับของเขาแล้วอยู่ในระดับไหน

ทำไมปัญหาคอร์รัปชันของเขาน้อยกว่าของเรา? และทำไมในการจัดอันดับของโลก ว่าด้วยเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สิงคโปร์จึงมาอันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยจึงถูกจัดให้อยู่ในอันดับห่างไกลจากความน่าเชื่อถือนัก?

อีกข้อหนึ่งในจดหมาย Rules of Prudence ที่หลี่เสียนหลงในฐานะเบอร์หนึ่งของพรรค People’s Action Party (PAP) และรัฐบาลระบุให้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับ ส.ส. ของเขาคือ

จงแยกตำแหน่งทางการเมืองของท่านออกจากผลประโยชน์ส่วนตัว อาชีพและธุรกิจอย่างชัดแจ้ง ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ส.ส. ที่อยู่ในแวดวงการบริหารธุรกิจ หรือเป็นกรรมการของบอร์ดธุรกิจ ท่านต้องไม่ใช้ตำแหน่งในฐานะ ส.ส. รัฐบาล หรือความใกล้ชิดกับรัฐมนตรี หรือความสามารถเข้าถึงหน่วยงานของรัฐ หรือข้ารัฐการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์สำหรับผู้บังคับบัญชาของท่าน ความประพฤติของท่านจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ตลอดเวลา...”

อีกข้อหนึ่งกำหนดชัดเจนว่า ห้ามใช้การตั้งกระทู้ในสภาเพื่อการทำให้รัฐบาลหรือธุรกิจหรือลูกค้าของท่านได้ประโยชน์...

กติกาของสิงคโปร์อนุญาตให้ ส.ส. เป็นกรรมการหรือ board ของบริษัทต่าง ๆ ได้ แต่ต้องแยกแยะบทบาทในฐานะกรรมการบริษัทกับ ส.ส. ให้ชัดเจน และต้องไม่กระทบต่อการทำงานในฐานะ ส.ส. เพราะประชาชนจะตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ที่มีบทบาทในบอร์ดของธุรกิจอย่างใกล้ชิดแน่นอน

อย่ารับตำแหน่งเอกชนเพื่อเป็นเพียงไม้ประดับ หรือเพื่อให้เจ้าของธุรกิจนั้นดูน่านับถือเพราะตำแหน่งของท่าน...”

“จงถามตัวท่านเองว่าหากท่านรับตำแหน่งใดแล้วจะเกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และท่านบริหารความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์นั้นได้หรือไม่ หากท่านไม่แน่ใจ ท่านควรปฏิเสธ...”

อีกข้อหนึ่งบอกว่า ส.ส. ทุกคนต้องเข้าประชุมทุกนัดของรัฐสภา หากท่านมีเหตุที่จะไม่เข้าร่วม ท่านต้องขออนุญาตจากวิปรัฐบาลก่อน และหากท่านต้องออกจากตึกรัฐสภาขณะมีการประชุม กรุณาแจ้งวิปด้วย...หากท่านต้องเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาได้ จะต้องขออนุญาตลาจากประธานสภา โดยมีสำเนาถึงผู้นำรัฐสภาและวิปรัฐบาล และให้แจ้งวิปด้วยว่าจะติดต่อท่านได้อย่างไรระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ...”

ส.ส. ทุกคนต้องมีเนื้อหาสาระและต้องแสดงความเห็นของตนในการอภิปรายในสภา นั่นเป็นกฎกติกาสำคัญอีกข้อหนึ่งที่นายกฯหลี่เสียนหลงระบุไว้ในคู่มือเล่มนี้

ในการอภิปรายงบประมาณ ส.ส. ทุกคนต้องแสดงความเห็น ท่านต้องเตรียมเนื้อหา โดยแยกประเด็นหลัก ๆ เป็นตัวหนังสือเพื่อนำเสนอ และช่วยให้สื่อมวลชนเข้าใจในประเด็นที่ท่านอภิปราย...ในการอภิปราย ขอให้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และระวังอย่าพูดเพียงเพื่อจะให้สะใจหรือพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง...”

ในงานใหญ่ ๆ ระดับชาติ ส.ส. ทุกคนต้องเข้าร่วม “ใครที่มาร่วมไม่ได้จะต้องมีเหตุผลที่ดีจริง ๆ... เพราะการมีเก้าอี้ว่างในงานทางการเช่นนี้ย่อมไม่เป็นภาพที่ดีต่อตัว ส.ส. เองและต่อพรรคด้วย”

ในงานทางการและงานของเขตเลือกตั้ง “การตรงต่อเวลามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด”

กติกาการรับของขวัญสำหรับ ส.ส. ก็ระบุชัดเจนว่า

ท่านต้องไม่รับของขวัญที่อาจจะทำให้ท่านมีพันธะที่ขัดแย้งกับหน้าที่ในฐานะบุคคลสาธารณะ หากท่านรับของขวัญใด ๆ นอกเหนือจากเพื่อนสนิทและญาติพี่น้อง จงแจ้งกับเลขาธิการรัฐสภาซึ่งจะมีหน้าที่ประเมินราคาของของขวัญชิ้นนั้น ๆ หากท่านประสงค์จะเก็บของขวัญชิ้นนั้นเอาไว้ ท่านต้องจ่ายเงินเท่ากับราคาประเมินนั้นให้กับรัฐบาล..”

คู่มือเล่มนี้บอกด้วยว่า ส.ส. ทุกคนต้องบริหารการเงินส่วนตัวอย่างระมัดระวัง ต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัว หรือทำให้เกิดปัญหาที่นอกจากจะเกิดความกระอักกระอ่วนทางสังคมแล้ว ก็ยังเป็นจุดอ่อนที่อาจจะทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือแบล็กเมล์ ส.ส. เองได้

“ที่สำคัญคือ ส.ส. ต้องไม่สร้างพันธะทางการเงินจำนวนมากล่วงหน้า โดยคิดว่าท่านจะได้รับเงินเดือนในฐานะ ส.ส. ในระยะยาว ท่านไม่อาจจะคิดว่าจะได้รับการส่งให้สมัคร ส.ส. ในสมัยหน้า หรือหากท่านได้รับการส่งชื่อสมัคร ท่านจะได้รับเลือกตั้งแน่นอน...เพราะในการเมืองไม่มีเทอมแน่นอน และไม่มีใครรับรองความมั่นคงในตำแหน่งได้...”

หลี่เสียนหลงย้ำเลยว่า There is neither tenure nor job security in politics.

ส.ส. พรรครัฐบาลสิงคโปร์ทำตามกฎเหล็กเหล่านี้ได้ครบถ้วนหรือไม่ไม่ทราบ แต่ที่แน่ ๆ คือเขาให้ประชาชนได้รับรู้ถึงกฎกติกามารยาททุกข้อเพื่อจะได้ตรวจสอบว่าส.ส. ของแต่ละเขตประพฤติตนอยู่ในกรอบกติกานี้หรือไม่

ประชาชนคนไทยก็ควรจะคาดหวังมาตรฐานเช่นนี้ จากพรรคการเมืองไทยได้เช่นกัน มิใช่หรือ?