เสียงเตือนแห่งความไม่แน่นอน

เสียงเตือนแห่งความไม่แน่นอน

สัปดาห์นี้มีการประชุมประจำปี ของสถาบันการเงินระดับโลก อย่างธนาคารโลก กับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

 ซึ่งปรากฎว่าทั้งสองสถาบันต่างปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของหลายภูมิภาคในโลก เริ่มจากธนาคารโลกที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ลงเหลือ 6.5% ปีนี้ และ 6.4% ปีหน้า อันนับว่าลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายน 0.2% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนจะขยายตัว 6.9% ปีนี้ และ 6.7% ปีหน้า อันนับว่าต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อน 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ

สำหรับประเทศในเอเชียอาคเนย์นั้น คาดว่าฟิลิปปินส์กับเวียดนามจะขยายตัวได้สูงกว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อย่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย โดยคาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัว 5.8% ปีนี้ และ 6.4% ปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7% และ 0.1% ตามลำดับ สำหรับเวียดนามคาดว่าจะโต 6.2% ปีนี้ และ 6.3% ปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.2% และ 0.1% ตามลำดับ ในส่วนของมาเลเซียคาดว่าจะเติบโต 4.7% ปีนี้และปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.3% สำหรับปีหน้า อินโดนีเซียน่าจะขยายตัวได้ 4.7% ปีนี้ และ 5.3% ปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.5% และ 0.2% ตามลำดับ ด้านไทยคาดว่าจะขยายตัว 2.5% ปีนี้ และ 2% ปีหน้า

ในเวลาต่อมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกรายงานปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงเหลือ 3.1% ปีนี้ และ 3.6% ปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดือนเมษายน 0.2% และต่ำที่สุดตั้งแต่ภาวะถดถอยในโลกเมื่อปี 2552 โดยคาดว่าจีนจะขยายตัว 6.8% ปีนี้ และ 6.3% ปีหน้า สหรัฐจะเติบโต 2.6% ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.1% ส่วนปีหน้าโต 2.8% สำหรับยูโรโซนคาดว่าจะขยายตัว 1.5% ปีนี้ และ 1.6% ปีหน้า ในกรณีของญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโต 1.6% ปีนี้ และ 1% ปีหน้า

ในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามนั้น ภาพรวมคาดว่าจะเติบโต 4.6% ปีนี้ และ 4.9% ปีหน้า ขณะที่เมื่อแยกย่อยลงไปคาดว่าไทยจะขยายตัว 2.5% ปีนี้ และ 3.2% ปีหน้า ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าจะขยายตัว 4.7 ปีนี้ และ 5.1% ปีหน้า มาเลเซียโต 4.7% และ 4.5% ปีหน้า ฟิลิปปินส์โต 6% ปีนี้ และ 6.4% ปีหน้า เวียดนามขยายตัว 6.5% และ 6.4% ปีหน้า

จากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ สะท้อนว่าการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากตัวเลขคาดหมายการเติบโตที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น ไทยยังต้องคอยรับมือหรือปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบใหม่ของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างจีน ที่กำลังหันไปเน้นการบริโภคและภาคบริการในประเทศ ทั้งยังขยายตัวไม่สูงนักในช่วงของการปรับเปลี่ยนนี้

ปัจจัยที่ท้าทายไทยยังรวมถึงแนวโน้มที่สหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อันจะทำให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐเพื่อมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินอ่อนค่าลง ซึ่งอาจกระทบต่อภาคต่างๆ ที่มีหนี้สินในรูปของเงินดอลลาร์ ซึ่งแม้ปัจจัยทั้งเรื่องจีนและดอกเบี้ยสหรัฐเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงมานานแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง อันนับเป็นการท้าทายภายนอก นอกเหนือจากการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งเทียบเคียงเพื่อนบ้าน