การลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคม (จบ)

การลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคม (จบ)

ได้กล่าวไว้แล้วในคราวก่อนว่า ความรู้ความเข้าใจและการอธิบายสังคมไทยของคนรุ่นใหม่นั้น ไม่มีความซับซ้อน

(จึงตื้นเขินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) อย่างมาก ซึ่งทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า สังคมในอนาคตจะเป็นอย่างไร และผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ากระบวนการเรียนรู้ “สังคมไทย” ที่ดำรงอยู่เป็นส่วนสำคัญในการลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคม

กระบวนการทำให้คนในสังคมไทยรับรู้และอธิบาย ”สังคมไทย” วางอยู่บนพื้นฐานของชุดความรู้ ที่สร้างกันมาตั้งแต่การเกิดรัฐสมัยใหม่ ได้แก่ การอธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์ของสังคม ด้วยกรอบความคิด “องคาพยพ” กล่าวคือ เมื่อชนชั้นนำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างรัฐสมัยใหม่ ก็ได้สร้างชุดความรู้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ทั้งหมดของสังคม

ชนชั้นนำไทยได้ใช้ฐานคิดเดิมในเรื่อง “องคาพยพ” ซึ่งเป็นชุดความคิดในสมัยโบราณ ที่เปรียบเทียบองค์ประกอบของรัฐกับร่างกายของมนุษย์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยอวัยวะต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อร่างกายไม่เท่ากัน เพราะทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทุกอวัยวะในร่างกาย จะต้องทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ที่สุด ร่างกายจึงจะดำรงอยู่ได้เป็นอย่างดี หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไม่ทำหน้าที่หรือบกพร่องต่อหน้าที่ อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และร่างกายก็จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่สมประกอบ หรืออาจถึงแก่พินาศไป

ด้วยเหตุที่ว่า ความต่อเนื่องของชนชั้นนำไทยมีสูงกว่าสังคมอื่นๆ มาก ขณะเดียวกัน ก็มีความสามารถดูดกลืนเอาคนกลุ่มใหม่ ที่มีบทบาทในสังคมเข้าไปอยู่ร่วมด้วย (co-option) จึงทำให้การอธิบายสังคมไทยด้วยความคิด “องคาพยพ” จึงสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นกลางแต่ละรุ่นที่เติบโตในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก จึงได้ถูกชนชั้นนำดูดกลืน และพวกเขาเองก็ (พยายาม) แทรกตัวเข้าไปร่วมกับชนชั้นนำในบางมิติ เช่น รสนิยม เพื่อสร้างความเหนือกว่าชนชั้นข้างล่างลงไป ความเปลี่ยนแปลงของการเกิดคนกลุ่มใหม่ในแต่ละละลอกเวลาเช่นนี้ จึงทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุดความคิด “องคาพยพ” ดังที่จะพบเห็นในการอธิบายสังคมไทย ของกลุ่มนายแพทย์ประเวศ วะสี ปัญญาชนผู้มีบทบาทสำคัญในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และสังคมก็จะใช้กรอบคิด “องคาพยพ“ มาอธิบายสังคมไทย ซึ่งมีผู้คนนิยมชมชอบมากทีเดียว

ที่สำคัญ กรอบความคิดเรื่อง “องคาพยพ” ยังถูกถ่ายทอด/ผลิตซ้ำ จนลงลึกลงไปสู่สามัญสำนึกของชีวิตคนธรรมดาสามัญ ดังที่คำกล่าวติดปากคนทั่วไปว่า ให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด สังคมก็จะดีขึ้นเอง การผลิตซ้ำในสถาบันการศึกษายิ่งเห็นชัดว่า บุคลากรในสถานศึกษาทุกระดับ ก็จะแสดงความคิดเห็นทำนองนี้เสมอ ไม่ว่าจะในการสอนหรือการประชุมองค์กรการศึกษานั้นๆ รวมทั้ง การอบรมหน้าเสาธงโรงเรียน

การอธิบายสังคมด้วยกรอบความคิด “องคาพยพ” จึงดำรงสถานะเป็นทฤษฎีสังคมศาสตร์หลักของสังคมไทย จนทำให้นักสังคมศาสตร์จำนวนมากที่สอนหนังสือ/วิจัย เพื่อหาทางอธิบายความเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยแนวคิดทฤษฎีสังคมศาสตร์อื่นๆ จึงประสบกับ “ความไร้น้ำยาของสังคมศาสตร์ไทย”ดังที่อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาเปิดงานสัมมนา “ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก” เมื่อหลายปีก่อน (อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง : ประชาไท 2013-08-30) เพราะนักสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ที่ทำงานวิชาการและปรารถนาให้คนในสังคมไทย เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถที่จะเข้าไป “แบ่ง/แย่ง” พื้นที่การรับรู้/อธิบายสังคมไทยด้วยกรอบความคิด “องคาพยพ” ได้การอธิบายสังคมไทยด้วยกรอบคิด “องคาพยพ” จึงเป็นเสมือน “ความจริงแท้” ที่คนทั่วไปและส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและยึดมั่น ที่สำคัญ กรอบความคิดนี้สามารถแตกแขนงไปตอกย้ำความถูกต้อง/ชอบธรรม ของการโครงสร้างสังคมไทยด้วยหน้าที่ตามอวัยวะอีกด้วย

การแตกแขนงออกไปอธิบายของกรอบความคิดสังคมศาสตร์หลักของสังคมไทย ปรากฏในทุกมิติของสังคม ที่สำคัญ เช่น ความคิดเรื่อง “เมืองไทยนี้ดี“ เพราะคนทุกคนทำตามหน้าที่ ความคิดเรื่อง ”พระสยามเทวาธิราช” ก็มอบหน้าที่ที่จะพิทักษ์ความปลอดภัยของสังคม (แต่ไม่ได้มีหน้าที่แก้ไขความเหลื่อมล้ำของสังคม) การเปรียบเทียบความไม่เท่ากันของคนด้วย “นิ้วทั้งห้า” ที่ไม่เท่ากัน “คนไทยรักกัน” และอื่นๆ อีกมากมาย

ความรู้สังคมศาสตร์หลักของสังคมไทย จึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถหักล้างหรือแก้ไขได้

ความรู้สังคมศาสตร์หลักนี้ ได้ทำให้การอธิบายอะไรที่เกิดขึ้นนอกกรอบความคิด ”องคาพยพ” เช่น ความเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ซึ่งหมายความว่าชาวบ้านเริ่มทำอะไรนอกเหนือจากหน้าที่ของความเป็น “ชาวบ้าน” (ซึ่งก็คือยอมทำตามที่รัฐต้องการหรือสั่งมาให้ทำ) ว่าเกิดจากการยุยงจากภายนอก หรือการอธิบายความเหลวแหลกของคนบางกลุ่มว่า เกิดจากการรับวัฒนธรรมต่างชาติ

กรอบความคิดสังคมศาสตร์หลักของสังคมไทย ได้ถ่ายทอดจนฝังในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนไทย รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ทำให้ไม่สามารถที่จะรับรู้ความรู้ทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ ที่พยายามเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เลย การเรียนในห้องเรียนจึงเป็นเพียงการท่องจำ เพื่อสอบ ขณะที่การอธิบายสังคมรอบตัว ก็ยังคงใช้กรอบความคิดแบบ “องคาพยพ“

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อล่ะครับว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงมาจนแทบจะไม่เหลือรูปลักษณะเดิมอีกแล้ว แต่คนในสังคมไทยยังคงอธิบายทุกอย่างเหมือนเมื่อเคยอธิบายมาแล้วร้อยกว่าปี และเมื่อเรามองไม่เห็นความซับซ้อนของสังคม เราจะแก้ไข/ปรับปรุง/ปฏิรูป สังคมได้อย่างไร นอกจากก็จะตะโกนกันไปปาวๆ ว่า ให้ทุกคนทำตามหน้าที่ให้ดีต่อไป ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่ดีที่เหมาะสมต่อสังคมควรเป็นอย่างไร