อันเนื่องมาจากเรื่องการเขียนหนังสือความทรงจำ

อันเนื่องมาจากเรื่องการเขียนหนังสือความทรงจำ

เมื่อต้นสัปดาห์ หนังสือแนวความทรงจำเรื่อง The Courage to Act: A Memoir of a Crisis and Its Aftermath

เขียนโดยอดีตประธานกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐ เบน เบอร์นันเก้ ออกวางตลาดในช่วงหลายสิบปีมานี้ มีปรากฏการณ์ใหม่ในสหรัฐเกิดขึ้น นั่นคือ นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ ในองค์กรต่างๆ มักเขียนหนังสือแนวความทรงจำหลังพ้นจากตำแหน่ง หนังสือมักขายดี ส่งผลให้ผู้เขียนเป็นเศรษฐีอย่างรวดเร็ว บางคนเขียนหลายเล่ม แต่ละเล่มมุ่งเน้นเพียงบางประเด็น อาทิ อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และ จิมมี่ คาร์เตอร์สำหรับหนังสือขนาดยักษ์หนากว่า 600 หน้าของเบอร์นันเก้ ผู้เขียนเน้นประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจหลังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐแตกเมื่อปี 2551 ซึ่งเขามีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤติ ณ วันนี้ หนังสือคงจะอยู่ในมือของผู้ที่สนใจอ่านจำนวนมากแล้ว อีกไม่นานบทวิจารณ์จะค่อยๆ ทยอยออกมา ทางด้านเบอร์นันเก้เอง ไม่กี่วันก่อนหนังสือวางตลาด เขาให้สื่อสัมภาษณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดของสำนักพิมพ์ บทสัมภาษณ์นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เขามองว่านักการเงินและนายธนาคารที่เป็นต้นตอของการก่อและเป่าฟองสบู่ดังกล่าวควรติดคุก อ่านถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้น ทำไมเขาไม่ทำอะไรในระหว่างที่ยังรั้งตำแหน่งประธานธนาคารกลาง คำตอบคือ ธนาคารนั้นไม่มีหน้าที่ในด้านบังคับใช้กฎหมายจำพวกจะให้ใครติดคุก หรือถูกปรับ

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ เกิดจากธนาคารและสถาบันการเงิน ให้ชาวอเมริกันกู้เงินเกินศักยภาพในการชำระคืนไปซื้อบ้าน การให้กู้นั้นมักขาดจรรยาบรรณและใช้วิธีการฉ้อฉล อาทิ ลดมาตรฐานของการให้กู้ ใช้ข้อมูลเท็จ ไม่บอกความเป็นจริงทั้งหมดแก่ผู้กู้ เป็นต้น 

การกู้เงินได้เกินศักยภาพเช่นนั้น ส่งผลให้ชาวอเมริกันแย่งกันซื้อบ้าน และผลักดันให้ราคาบ้านพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนทางธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลาย เมื่อให้กู้เงินไปแล้ว ก็นำสัญญาการกู้เงินมายำรวมกันเป็นอนุพันธ์ขายต่อไปให้ผู้อื่น การยำแบบนั้นทำกันหลายต่อหลายทอด จนไม่มีใครเข้าใจที่มาที่ไปของอนุพันธ์ และสัญญากู้เงินซื้อบ้านอย่างแท้จริง หลังเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ผู้กู้เงินจึงรู้ว่าตนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปถึงสถาบันการเงินจำนวนมาก และกิจการในภาคอื่นๆ ด้วย นั่นเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ฟองสบู่แตก และสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่หลวง

ก่อนฟองสบู่แตก พวกนายธนาคารและนักการเงินฉ้อฉล ต่างร่ำรวยมหาศาลจากกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินแบบผิดกฎหมาย หลายคนถูกปรับนับสิบล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีใครติดคุก จึงเกิดคำถามตามมาว่าเพราะอะไร คำถามแนวนี้ไม่มีคำตอบจำพวกดิ้นไม่ได้ คำตอบหนึ่งได้แก่ อำนาจเงิน นั่นคือ ธนาคารและสถาบันการเงินมีเงินมาก และนำเงินนั้นไปใช้ในกระบวนการทางการเมือง อาทิ สนับสนุนนักการเมืองที่มีความโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างพวกตนให้ชนะการเลือกตั้ง หรือจ้างนักวิ่งเต้น (Lobbyists) ที่มีเครือข่ายในวงการเมืองอย่างแนบแน่น ให้โน้มน้าวนักการเมืองให้เข้าข้างพวกตน  นักการเมืองมีอิทธิพลสูง ผลสุดท้ายแม้ตัวบทกฎหมายที่ใช้ควบคุมการเงินการธนาคาร ก็มักอ่อนกว่าที่น่าจะเป็น และการบังคับใช้ก็ไม่เข้มข้น ประเด็นนี้มีตัวอย่างมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่อ้างถึงแล้ว เช่น เรื่องเกี่ยวกับการโยกย้ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อโจมตีค่าเงิน ซึ่งยังผลให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนจนถึงขั้นเกิดวิกฤติ เมืองไทยเคยมีประสบการณ์เมื่อปี 2540 ณ วันนี้ ยังไม่มีกฎหมายที่เข้มข้นจริงๆ ออกมาคุมพฤติกรรมจำพวกนั้น  

ความหละหลวมของการควบคุมธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2524 ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนในหลายด้าน เช่น ธนาคารและสถาบันการเงิน ทำกำไรได้สูงมากจากการใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ส่งผลให้ภาคนี้มีบทบาทสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในสหรัฐ เมื่อวัดบทบาทของภาคการเงินด้วยสัดส่วนใน “จีดีพี” หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะเห็นว่า มันเพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 4 เมื่อประธานาธิบดีเรแกนเข้ารับตำแหน่งถึงกว่าร้อยละ 8 ในปัจจุบัน แต่การสร้างจีดีพีแบบนั้น เป็นเพียงการปั่นเงินที่ปราศจากการขยายฐานอันแท้จริงของเศรษฐกิจ หรือการผลิตสิ่งที่ใช้สนองความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ เกี่ยวกับประเด็นนี้ คนไทยคงเคยได้ยินคำพูดอันแหลมคมของพระองค์เจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”    

การทำกำไรได้สูงมากเช่นนั้น ส่งผลให้ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารและสถาบันการเงิน ร่ำรวยกันอย่างรวดเร็ว ภาวะเช่นนี้มีผลทำให้คนหนุ่มคนสาวชาวอเมริกัน ที่มีความปราดเปรื่องสูง เบนความสนใจไปเรียนการเงิน และทำงานในภาคนั้นแทนการเรียนวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และแพทย์ซึ่งนิยมทำกันมาก่อน ความบิดเบือนนี้มีผลร้ายต่อสังคมอเมริกันมาก เนื่องจากมันทำให้ขาดบุคลากรในสายงานสำคัญๆ และการเปลี่ยนฐานความคิดไปเป็นการยึดเงินเหนือสิ่งอื่นใด เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ มองว่า กำลังสร้างความเสียหายถึงขนาดที่อาจนำไปสู่ความล่มสลาย เขาได้เตือนไว้ในหนังสือชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy มุมมองของสติกลิตซ์เพิ่งได้รับการตอกย้ำจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง จอห์น เคย์ ในหนังสือซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเพียงสองสัปดาห์เรื่อง Other People's Money: The Real Business of Finance 

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอาจมองได้หลายแง่มุม บางคนอาจมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ที่นำไปสู่ความเสื่อมจนถึงขั้นล่มจมเช่นเดียวสังคมในอดีต การมองแบบนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ Are We Rome?: The Fall of An Empire and the Fate of America ของ คัลเลน เมอร์ฟี่ (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) 

บางคนอาจมองว่าพฤติกรรมจำพวกน่ารังเกียจของธนาคารนั้น มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความรำคาญให้แก่ลูกค้า จากการกดดันให้พนักงานขายประกันชีวิต หรือการมองข้ามบัณฑิตราชภัฏ บางคนอาจมองว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น เพื่อแย่งชิงทรัพยากรโลกที่กำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว การแย่งชิงนั้นนำไปสู่การละเมิดจรรยาบรรณและกฎหมายอย่างแพร่หลายขึ้น จะมองอย่างไรก็ตาม หากสังคมยังต้องการใช้ระบบตลาดเสรี เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้มงวดต่อการตั้ง และบังคับใช้กฎเกณฑ์ในการทำงานของธนาคาร และสถาบันการเงินให้เป็นไปในทางที่ควรจะเป็น