อย่าหวังจะปฏิรูปสำเร็จ

อย่าหวังจะปฏิรูปสำเร็จ

ถ้าคนไทยยังนับถือ ‘ศรีธนญชัย’ มากกว่า ‘ศรีปราชญ์’

ตั้งวงคุยกันเรื่องอนาคตประเทศชาติช่วงนี้ ดูเหมือนจะเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า “แตะตรงไหนมีปัญหาตรงนั้น”

“เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเริ่มต้นมุ่งสู่การแก้ปัญหากันจริง ๆ เสียที?” ท่านผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่งานการสำคัญของบ้านเมืองท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นกลางวงสนทนา

หลายคนส่ายหัว หันมามองหน้ากันแล้วเหมือนจะไม่มีความหวังอะไรเท่าไหร่

อีกท่านหนึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ความเห็นว่าระบบราชการคืออุปสรรคสำคัญที่สุดของบ้านเมือง เพราะแม้ในสภาปฏิรูปเองก็มีข้าราชการ “อำนาจเก่า” ที่ยังพยายามจะผลักดันวาระของตัวเองทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับการสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรมได้เลย

ตราบเท่าที่ระบบอุปถัมภ์ยังเป็นมาตรฐานของสังคมไทย คอร์รัปชันก็จะไม่หายไปไหน และการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจังก็เกิดขึ้นไม่ได้ ผู้ร่วมวงสนทนาอีกคนหนึ่งยืนยัน

ท่านบอกว่า “หลักสูตร” ของวงการราชการต่าง ๆ ที่เปิดกันอย่างคึกคักมากมายกำลังสร้าง “รุ่น” ต่าง ๆ ที่ผู้วิ่งเต้นเข้ามาเพียงต้องการ “เส้นสาย” หรือ connection เท่านั้น มิได้เข้ามาเพื่อแสวงหาความรู้หรือเพื่อถกแถลงหาทางออกให้กับประเทศชาติอย่างที่วางไว้เป็นเป้าหมายแต่อย่างไร

หลักสูตรต่าง ๆ ทั้งหลายกลายเป็นที่รวมพลของนักการเมืองและนักธุรกิจ ที่ต้องการจะมาร่วมรุ่นกับคนมีตำแหน่งแห่งหน หรือสร้างเครือข่ายเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนเอง มิได้เพื่อจะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์แต่อย่างไร” อีกท่านหนึ่งสำทับ

อีกด้านหนึ่งคือการขาดวินัยและความมุ่งมั่นเพื่อจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นในเวทีสากล

ประเด็นเรื่อง “หนี้สินล้นพ้นตัว” ของครูเกือบทั้งประเทศก็เป็นตัวอย่างของการขาดวินัยหรือแนวทาง “นกน้อยสร้างรังแต่พอตัว” ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเดือนของครูทุกวันนี้ไม่ได้น้อยไปกว่าอาชีพอื่น ๆ แต่เมื่อกลไกของการบริหารครูเอื้อให้กู้ยืมเงินได้ง่าย มีวิถีชีวิตที่ต้องซื้อหาของฟุ่มเฟือยตามค่านิยมแห่งยุคสมัยโดยไม่ตระหนักถึงสถานภาพของตน

ขณะที่ควรจะดำเนินชีวิตตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับใช้จ่ายเกินตัวถึงขั้นที่ระดับ หนี้ครัวเรือน กลายเป็นปัญหาหนักระดับชาติที่ยังไม่มีลู่ทางแก้ไขได้

สังคมไทยเชื่อข่าวลือและ “ความจริงเพียงด้านเดียว” ที่ตนอยากเชื่อ

ระหว่าง “ศรีธนญชัย” กับ “ศรีปราชญ์” คนไทยจะชื่นชอบศรีธนญชัยมากกว่า เพราะมีลูกเล่นแพรวพราวและเอาตัวรอดได้ ในทุกสถานการณ์โดยไม่สนใจหลักความถูกต้องชอบธรรมหรือความจริง

ศรีปราชญ์คือผู้ใช้สติปัญญาและความฉลาดเฉลียว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่ยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่ถูกต้อง

แต่ ศรีธนญชัยไม่สนใจหลักการ ต้องการแต่เพียงจะเอาชนะด้วยวาทกรรมบ้าง ด้วยการบิดเบือนความจริงบ้าง โกหกหน้าตาเฉย และอาจสร้างสถานการณ์ให้เกิด “ดราม่า” เพื่อให้รอดพ้นจากการลงโทษทั้ง ๆ ที่ตนได้กระทำผิดอย่างจะแจ้ง

ใครมีเส้นสาย สามารถหลบเลี่ยงกฎหมายได้ ถือว่าเป็นคนเก่ง

ใครเข้าคิว ทำตามกฎหมาย เสียสละเพื่อผู้อื่น อยู่ในศีลในธรรมจะกลายเป็นคนโง่ คนไร้ปัญญา

การปฏิรูปบ้านเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนไทยเคารพนับถือ ศรีธนญชัยมากกว่า ศรีปราชญ์อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้